อาการตาพร่ามัว สาเหตุเกิดจากอะไร ปัญหาสายตาที่ต้องใส่ใจและควรรู้วิธีแก้

         ตาพร่ามัว อาการที่พาให้รำคาญใจและใช้ชีวิตไม่ค่อยสะดวก ดังนั้น อย่าปล่อยให้มีปัญหาสายตาเป็นเวลานาน รีบคืนความแจ่มใสให้ดวงตาดีกว่า
ตาพร่ามัว

            สายตาพร่ามัว อาจเกิดเป็นบางช่วงเวลา หรือมีอาการตาพร่ามัวเมื่อใช้สายตาเยอะ ๆ ทว่ากับบางคนก็มีอาการตาพร่ามัวนาน และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งควรต้องมาหาสาเหตุกันด่วน ๆ ว่าอาการนี้เกิดจากอะไร และจะมีวิธีแก้ตาพร่ามัวที่เราพอทำได้ไหม

ตาพร่ามัว อาการไหน ใช่เลย

แว่นสายตา

           หากมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง อาจต้องรีบไปเช็กสุขภาพทางสายตากันหน่อยแล้ว

  • ปวดศีรษะเมื่อใช้สายตาเพ่งมองเป็นเวลานาน 

  • มองเห็นภาพไม่ชัดเจน จากที่เคยเห็นชัดก็กลายเป็นภาพเบลอ

  • มองเห็นภาพสะท้อนเวลาแสงจ้ามาก ๆ เช่น ตอนขับรถ แล้วตาพร่าจนขับต่อไปไหว หรือเริ่มมองเห็นพระจันทร์เป็นเงา ๆ ไม่ชัด เป็นต้น

  • โฟกัสภาพได้แย่ลงมาก เช่น มองเห็นหน้าคนเป็นภาพเบลอ ๆ หรือไม่เห็นสิว ฝ้า กระ บนใบหน้า แต่เห็นเป็นผิวเรียบเนียนแทน

  • ไม่สามารถอ่านหนังสือด้วยตาเปล่าได้ 

  • การเห็นสีของวัตถุต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น เห็นสีสด ๆ กลายเป็นสีที่ซีดจาง

  • มุมมองการเห็นภาพแคบลง มีอาการเดินชนสิ่งของบ่อยขึ้น หรือถอยรถแฉลบข้าง

  • เห็นจุดดำลอยรอบ ๆ บริเวณกรอบจอตาข้างใดข้างหนึ่ง จากอาการวุ้นในตาเสื่อมที่ทำให้เกิดอาการตามัวได้ด้วย

  • หากไปตรวจสายตาอาจพบว่าค่าสายตาเปลี่ยนไปมากแบบก้าวกระโดดในเวลาสั้น ๆ เช่น เคยวัดค่าสายตาสั้นได้ 200 แต่อีกไม่นานพบว่าค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเป็น 500 เป็นต้น

วิธีทดสอบอาการตาพร่ามัว

           หากไปพบจักษุแพทย์ อาจได้รับการทดสอบสายตาพร่ามัวเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ยืนห่างจากผู้ทดสอบ 3 เมตร

  • ปิดตา 1 ข้าง

  • ทายว่าผู้ทดสอบยกนิ้วขึ้นกี่นิ้ว

  • หากตอบไม่ตรงจำนวนนิ้วที่ชู แสดงว่าตาข้างนั้นมีอาการพร่ามัวค่อนข้างมาก 

  • ควรสลับทำตาอีกข้างให้ครบ

อาการตาพร่ามัว เกิดจากอะไร

อาการตาพร่ามัว

             อาการตาพร่ามัวเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยจะแบ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่โรค และสาเหตุที่เกิดจากโรคบางอย่าง ดังนี้

อาการตาพร่ามัวจากสาเหตุที่ไม่ใช่โรค

  • ตาแห้ง จากความไม่สมดุลของสารน้ำในดวงตา โดยอาจเกิดขึ้นได้เวลาใช้สายตามาก ๆ เช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ ดูซีรีส์ หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

  • ปัญหาค่าสายตาเปลี่ยนไป ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือสายตายาวตามวัย

  • ผลข้างเคียงจากการใส่คอนแทคเลนส์ ที่หากใส่นาน ๆ อาจทำให้โปรตีนในดวงตาสะสมที่ตัวคอนแทคเลนส์ ส่งผลให้การไหลเวียนของน้ำตาที่หล่อเลี้ยงกระจกตาลดน้อยลงจนเกิดอาการระคายเคืองตา ตาแห้ง ตาพร่ามัวได้

  • การตั้งครรภ์ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกายมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการตาบวม ตาพร่ามัว

  • การทำเลสิก เป็นผลข้างเคียงจากการใช้เลเซอร์ ทำให้มีอาการตาเบลอ ตาพร่ามัว หรือเจ็บรอบ ๆ แผลที่ทำเลสิกได้

  • การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาหรือบริเวณศีรษะ อาจส่งผลต่อการมองเห็น

อาการตาพร่ามัวจากโรคบางชนิด

  • โรคต้อกระจก โดยผู้ป่วยจะมองเห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว หรือเห็นภาพซ้อนเมื่อใช้สายตาเยอะ ๆ 

  • โรคต้อหิน ที่เกิดจากความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น หรือมีอาการตาอักเสบเรื้อรัง หรือปล่อยให้เป็นต้อกระจกเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้ลุกลามเป็นต้อหินและเสี่ยงตาบอดได้

  • โรคจอประสาทตาเสื่อม มักเกิดในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จากความเสื่อมของเซลล์ตามอายุ

  • โรคเยื่อบุตาอักเสบ จากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารเคมีใด ๆ หรือสารก่อภูมิแพ้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้

  • โรคเส้นประสาทตาอักเสบ จากความเสื่อมของเส้นประสาทตาที่ส่งสัญญาณไปยังส่วนประสาททางสมองทำงานลดลง ส่งผลให้เกิดอาการตามัวได้

  • ไซนัส ที่มีอาการลามไปยังเยื่อบุในดวงตา เกิดการระคายเคือง อักเสบ ปวดตา ตาแดง ตาพร่ามัว หรือหากอาการรุนแรงอาจกลอกลูกตาได้ไม่เต็มที่ และเสี่ยงสูญเสียการมองเห็นหากรักษาไม่ทันท่วงที

  • ไมเกรน นอกจากจะปวดศีรษะอย่างรุนแรงแล้ว ผู้ป่วยไมเกรนบางคนยังมีอาการตามัว มองเห็นแสงเป็นทอดและเห็นภาพมีแสงระยิบระยับ 

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยอาจมีอาการเหงื่อออกมาก ใจสั่น หิว กระสับกระส่าย ตาพร่า ไม่มีแรงได้

  • โรคเบาหวาน หากมีอาการแทรกซ้อนลามไปที่ดวงตา หรือเบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว มองไม่ชัด หรือมองไม่เห็นชั่วคราว และหากไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงตาบอด

ตาพร่ามัว วิธีแก้ทำยังไงได้บ้าง

หยอดน้ำตาเทียม

          วิธีแก้ตาพร่ามัวด้วยตัวเอง สามารถทำได้ดังนี้

  • พักสายตาทุก ๆ 30 นาที หรือเมื่อมีอาการล้าสายตา โฟกัสภาพไม่ค่อยชัด
  • หยอดน้ำตาเทียม หากรู้สึกมีอาการตาพร่ามัว แสบตา เคืองตา โดยสามารถใช้น้ำตาเทียมได้เมื่อมีอาการ
  • นวดกดจุดตามศาสตร์แพทย์แผนไทย โดยใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้างกดคลึงเบา ๆ บริเวณหัวตา หรือตรงจุดท่อน้ำตา นาน 5 วินาที เพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น หรือใช้นิ้วโป้งกดที่หัวคิ้วทั้งสองข้าง ดันคิ้วขึ้น 5 วินาที เป็นต้น
          แต่หากอาการตาพร่ามัวไม่ดีขึ้นเลย หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งลามไปมีอาการอื่น ๆ เช่น ตาขาวเริ่มเป็นสีแดงก่ำ ปวดศีรษะ เดินเซ ใบหน้าบิดเบี้ยว แขน-ขาอ่อนแรง หรือตาพร่ามัวแบบเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

วิธีรักษาอาการตาพร่ามัว

จักษุแพทย์

          วิธีรักษาอาการตาพร่ามัวตามหลักทางการแพทย์จะมีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน โดยหากพบว่าเกิดจากความผิดปกติของค่าสายตาก็อาจรักษาด้วยการใส่แว่นสายตา หรือหากพบว่าเป็นความเสื่อมของดวงตาก็รักษาด้วยยา หรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของลูทีน ซีแซนทิน และบิลเบอร์รี ที่มีส่วนช่วยบำรุงสายตา

          นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาด้วยการกายภาพบำบัด บริหารดวงตา รวมไปถึงในผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาจากโรคเรื้อรัง ควรได้รับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการตาพร่ามัว เพราะเมื่อภาวะของโรคสงบ อาการตาพร่ามัวก็จะลดน้อยลงด้วย ทว่าในกรณีที่สาเหตุของโรคเกิดจากต้อกระจกหรือต้อหิน จะต้องใช้วิธีผ่าตัดรักษาเพื่อบรรเทาอาการ

วิธีป้องกันตาพร่ามัว

          เราสามารถป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากอาการตาพร่ามัวด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหรือขยี้ตา เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตา

  • หากใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์

  • สวมใส่แว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปข้างนอก เพื่อป้องกันลม ฝุ่น และแสง UV 

  • หากต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานาน ควรสวมใส่แว่นที่สามารถกรองแสงสีฟ้าได้

  • ตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรือหากป่วยเป็นโรคเรื้อรังก็ควรปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค

         ทั้งนี้ หากยังไม่มีอาการตาพร่ามัวหรือปัญหาสายตาใด ๆ ก็ควรดูแลดวงตาของเราให้ดี และหมั่นรับประทานอาหารบำรุงสายตาเพื่อช่วยให้สุขภาพตาดีด้วยก็ได้
 

15 ผักบำรุงสายตา หาง่ายใกล้ตัว ไม่อยากสายตาพร่ามัวต้องรีบกิน !

บทความที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสายตา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการตาพร่ามัว สาเหตุเกิดจากอะไร ปัญหาสายตาที่ต้องใส่ใจและควรรู้วิธีแก้ อัปเดตล่าสุด 13 ธันวาคม 2566 เวลา 17:32:25 44,156 อ่าน
TOP
x close