โรคหัดในผู้ใหญ่ก็เป็นได้ ไม่ใช่แค่เด็ก ลองมาสังเกตอาการผื่นที่เกิดขึ้น พร้อมศึกษาวิธีรักษาและป้องกัน โรคหัด หรือไข้ออกผื่น เป็นหนึ่งในโรคติดต่อ ที่เราได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ จนฟังดูแล้วเหมือนไม่น่ากลัว แต่ทราบไหมว่า โรคนี้ติดต่อกันง่ายมาก และปัจจุบันยังพบผู้ป่วยโรคหัดทั่วโลกเสียชีวิตถึงปีละนับแสนรายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้น หากได้ยินข่าวโรคหัดระบาดที่ใด แล้วเรากำลังจะเดินทางไปบริเวณนั้นหรือประเทศนั้นพอดี ก็ควรศึกษาถึงอาการและวิธีป้องกันไว้เซฟตัวเอง โรคหัด ภาษาอังกฤษคือ Measles เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็ก ถือเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน แม้จะระบาดมากในหน้าหนาว แต่จริง ๆ แล้วพบผู้ป่วยโรคหัดได้ทุกฤดูกาล โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Measles Virus ในตระกูลพารามิกโซไวรัส (Paramyxovirus) ซึ่งเป็น RNA ไวรัส โดยเชื้อตัวนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย โรคหัด ติดต่อกันผ่านทางอากาศ เช่น การไอ จาม หรือแม้แต่การพูดคุยในระยะใกล้ชิด รวมทั้งการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำมูก เสมหะของผู้ป่วยโรคหัดโดยตรง เนื่องจากไวรัสที่อาศัยอยู่ในลำคอของผู้ป่วยยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้นานถึง 4 วัน หลังมีอาการผื่นขึ้น ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีเชื้อโรคหัดอยู่ในตัว เลยไม่ได้ระวังในการพูดคุย ไอ จาม ที่สำคัญก็คือ ไวรัสที่ลอยออกมาสามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 2 ชั่วโมง ทำให้ติดต่อกันง่ายมาก หากอยู่ในพื้นที่ปิดหรืออยู่ในบ้านเดียวกัน มีโอกาสติดเชื้อได้มากถึง 90% สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ที่มีอัตราการติดต่ออยู่ที่ 15-30% หากเรารับเชื้อโรคหัดมาจากผู้ป่วยแล้ว เชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน ก่อนมีผื่นขึ้น โรคหัดในผู้ใหญ่และเด็ก จะมีอาการเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากได้รับเชื้อไวรัส แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ มีอาการคล้ายไข้หวัด คือ ตัวร้อน มีไข้สูงอาจถึง 40 องศาเซลเซียส ไอแห้ง ไอบ่อย เจ็บคอ มีอาการตาแดง ตาแฉะ แสบตาเวลาโดนแสง พบจุดขาว ๆ บนพื้นแดงบริเวณกลางกระพุ้งแก้ม เรียกว่า ตุ่มคอพลิค (Koplik Spots) โดยอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 วัน หลังจากมีอาการไข้ 2-4 วัน จะเกิดผื่นขึ้นบริเวณศีรษะ หน้าผาก ไรผม ตีนผม จากนั้นจะลามไปตามใบหน้า ลำคอ แขน ขา มือ เท้า ภายใน 72 ชั่วโมง ลักษณะเป็นจุดแดง ๆ ที่มารวมตัวกัน บางคนมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย เมื่อผื่นใกล้หายจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ๆ ออกน้ำตาลแดง โดยอาการผื่นคันจะปรากฏอยู่ประมาณ 3-5 วัน แล้วจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 7-10 วัน แต่อาการไออาจอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์ เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคหัดโดยตรง จึงใช้วิธีรักษาตามอาการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอขับเสมหะ ดื่มน้ำมาก ๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้แพทย์อาจให้วิตามินเอเสริมกับผู้ป่วยด้วย โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ในกรณีที่มีอาการท้องเสียเป็นภาวะแทรกซ้อน สามารถรับประทานน้ำเกลือแร่โออาร์เอส เพื่อบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคนี้โดยปกติไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด เพราะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ยกเว้นว่ามีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่แพทย์อาจต้องสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ หากไม่มีโรคแทรกซ้อนใด ๆ โรคจะหายได้ภายใน 10-14 วัน นับจากวันแรกที่มีอาการ แต่สำหรับคนที่มีโรคแทรกซ้อนต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวนานกว่านั้น โรคหัด ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก อายุ 0-3 ขวบ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค และเด็กที่ขาดสารอาหาร เพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ส่งผลให้เสียชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ สำหรับโรคหัดในผู้ใหญ่ หากเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง มักหายจากโรคได้เอง แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ขาดสารอาหาร คนที่ป่วยด้วยโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้สูงกว่าคนทั่วไป ส่วนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หากไม่เคยฉีดวัคซีนโรคหัดมาก่อน จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนด คือก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของอายุครรภ์ ซึ่งทารกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักตัวน้อย ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัดพบได้ประมาณ 30% โดยอาการที่มักพบได้ก็อย่างเช่น ท้องเสีย อาเจียน ทำให้ขาดน้ำ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุด ตาแดง ตาแฉะ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบติดเชื้อ หูชั้นกลางอักเสบ ทำให้ปวดหู กล่องเสียงอักเสบ สมองอักเสบ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน นอกจากนี้ยังมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก เช่น สมองอักเสบ ไวรัสตับอักเสบ ตาเหล่ เป็นต้น พักผ่อนอยู่ในบ้าน ไม่ควรออกไปที่สาธารณะ หยุดเรียน หยุดงาน เป็นเวลาอย่างน้อย 4 วัน หลังจากผื่นเริ่มปรากฏ แยกตัวเองออกจากคนในบ้าน หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือไม่เคยได้รับวัคซีนโรคหัด รับประทานยารักษาตามที่แพทย์สั่ง รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย หากมีอาการหนักขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เสมหะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเขียว หรือหายใจเหนื่อยหอบ ซึม ชัก ควรรีบมาพบแพทย์ โรคหัดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) ซึ่งรวมมากับวัคซีนโรคคางทูมและหัดเยอรมันในเข็มเดียว ป้องกันได้ 3 โรค โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ฉีดวัคซีน 2 เข็มกับเด็ก ดังนี้ เข็มที่ 1 ฉีดตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มที่ 2 ฉีดตอนอายุ 2 ขวบครึ่ง สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนชนิดนี้สามารถฉีดได้ 2 เข็ม โดยแต่ละเข็มต้องห่างกันอย่างน้อย 28 วัน หญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น หากผู้หญิงฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วควรต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 28 วัน หลังได้รับวัคซีน ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค ลูคีเมีย และมะเร็งชนิดอื่น ๆ แล้วยังไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีประวัติแพ้เจลาตินหรือกลุ่มยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin) อย่างรุนแรง ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอหรือบกพร่อง เช่น ผู้ที่รับยาต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว และผู้ที่รับยาสเตียรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน ผู้ที่เคยแพ้วัคซีนรุนแรง (Anaphylaxis) แม้ว่าอาการป่วยโรคหัดจะหายไปได้เอง สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรง ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี แต่ถึงกระนั้นก็คงไม่มีใครอยากป่วย เพราะเมื่อป่วยแล้วต้องพักอยู่บ้านหลายวันเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่สู่คนอื่น ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือการป้องกันตัวเองด้วยสุขอนามัยที่ดี เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ ฉีดวัคซีนป้องกัน ไม่พาเด็กเล็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไปยังที่พลุกพล่าน ก็จะช่วยเป็นเกราะกำบังโรคติดต่อได้ในระดับหนึ่ง โรคหัด และหัดเยอรมัน ภัยสุขภาพที่ต้องระวัง ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 12 คำถามวัคซีนหัดเยอรมัน ฉีดกี่ครั้ง ป้องกันได้กี่ปี โรคคอตีบ โรคติดต่อตัวร้าย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 6 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ รู้จักไว้ปลอดภัยกว่า โรคติดต่อ มีอะไรบ้าง รู้จักอาการโรคติดต่อสำคัญ ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (1), (2), สมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
แสดงความคิดเห็น