ยาอมสมุนไพรแก้เจ็บคอ ยี่ห้อไหนดี อมแล้วชุ่มคอ สดชื่น เหมาะช่วยบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ คันคอ พร้อมคำแนะนำในการใช้ยาอมให้ปลอดภัย อาการเจ็บคอ หรือระคายเคืองในลำคอ สร้างความกวนใจให้กับตัวเองไม่น้อย การใช้ยาอมแก้เจ็บคอก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอได้ ซึ่งในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิดให้เลือก เช่น แบบลูกอมที่ช่วยให้ชุ่มคอ ยาอมที่หาซื้อได้ทั่วไป มีทั้งแบบใส่สมุนไพร และไม่ใส่สมุนไพร รวมถึงยาอมที่มีตัวยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะร้านขายยาหรือต้องให้แพทย์สั่งจ่ายยาเท่านั้น วันนี้เราเลยจะมาแนะนำยาอมสมุนไพรที่หาซื้อเองได้ง่าย ๆ ใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดี พร้อมคำแนะนำในการเลือกซื้อและข้อควรระวังในการรับประทาน ก่อนจะไปดูว่ายาอมสมุนไพรยี่ห้อไหนน่าสนใจ เรามาดูส่วนผสมที่นิยมใช้ในยาอมสมุนไพรกันก่อน โดยส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสมุนไพรดังต่อไปนี้ เปลือกส้ม : บรรเทาอาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ มะขามป้อม : ช่วยละลายเสมหะ ลดอาการระคายเคือง ลดความถี่และความรุนแรงของการไอ มะแว้ง หรือมะแว้งต้น : ช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ ชะเอมเทศ : บรรเทาอาการไอ คอแห้ง ช่วยให้ชุ่มคอ สมอเทศ หรือสมอพิเภก : แก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ สมอไทย : ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ เจ็บคอ ขิง : ช่วยฆ่าเชื้อ บรรเทาอาการเจ็บคอ อาการหวัด มะนาว : ลดการอักเสบ แก้ไอ เจ็บคอ ลดเสมหะ ช่วยให้เสียงใส เปราะหอม : บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ขับเสมหะ มะขาม : ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ คัดจมูก ดีปลี : แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ใบส้มป่อย : ขับเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ใบสวาด : แก้ไอ ละลายและขับเสมหะ ช่วยรักษาแผลในลำคอ รากส้มกุ้งน้อย : แก้ไอ ขับเสมหะ ละลายเสมหะ ช่วยให้ชุ่มคอยาวนาน ลดอาการระคายเคือง ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ไอ ละลายเสมหะ ช่วยให้ลมหายใจหอมสดชื่น บางยี่ห้อมีส่วนผสมของวิตามินซี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน บางยี่ห้อมีส่วนผสมของสารทำความเย็น ช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อน ยาอมแก้เจ็บคอที่เราสามารถหาซื้อเองได้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ลูกอมหรือเม็ดอมที่ช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการระคายคอ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร จะมีเครื่องหมาย อย. อยู่บนซอง ยาอมแก้เจ็บคอ จะมีระบุในฉลากว่า เป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือยาแผนโบราณ และมีเลขทะเบียนยาอยู่บนซอง เนื่องจากมีส่วนผสมของตัวยารวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยลดอาการเจ็บคอ และบางยี่ห้อก็ใส่สมุนไพรที่ช่วยทำให้ชุ่มคออีกทาง ลองมาดูกันว่า ยาอมแก้เจ็บคอทั้งแบบลูกอมสมุนไพรและยาอมสมุนไพร มียี่ห้อไหนน่าสนใจบ้าง ยาอมสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 78 ปี ตัวยาเป็นยาลูกกลอนบรรจุในหลอดพลาสติกขนาดเล็ก พกพาสะดวก รสชาติดี กลิ่นไม่ฉุน ด้วยส่วนผสมของเปลือกส้ม ผลมะแว้งเครือ ผลมะขามป้อม ชะเอมเทศ และน้ำผึ้ง ช่วยบรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ และขับเสมหะ เลขทะเบียนยา : G 433/48 วิธีใช้ : อมครั้งละ 2-3 เม็ด เมื่อมีอาการ ราคาปกติ : หลอดละ 15 บาท (บรรจุ 100 เม็ด) ยาอมสมุนไพรผสมมะขามป้อม อภัยภูเบศร มี 2 สูตร คือ สูตร 1 และ สูตร 2 ถ้าชอบรสชาติเปรี้ยวแนะนำสูตร 2 เนื่องจากใส่ฝักส้มป่อยมากกว่า นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่น ๆ เช่น มะแว้งต้น ชะเอมเทศ สมอเทศ เปราะหอม มะขาม ดีปลี ซึ่งช่วยบรรเทาอาการไอและทำให้ชุ่มคอ รวมทั้งขับเสมหะ เลขทะเบียนยา : G 62/54, G 89/54 วิธีใช้ : อมครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการ ราคาปกติ : ซองละ 24 บาท (บรรจุ 40 เม็ด) ยาอมสมุนไพรจากขาวละออ สูตรนี้มีสมุนไพรหลายชนิด เช่น ขมิ้นอ้อย ใบกะเพรา ลูกมะแว้งต้น ลูกมะแว้งเครือ และตัวยาอื่น ๆ ช่วยลดอาการไอ และลดเสมหะ เลขทะเบียนยา : G 110/44 วิธีใช้ : ผู้ใหญ่อมครั้งละ 5-7 เม็ด เด็กอมครั้งละ 1-2 เม็ด หรือสามารถชงดื่ม 1-2 เม็ด ผสมกับน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย ราคาประมาณ : ซองละ 15 บาท (บรรจุ 20 เม็ด) ลูกอมสมุนไพร กลิ่นน้ำผึ้งผสมเลมอน รสชาติหวานอมเปรี้ยว สูตรนี้ไม่มีน้ำตาล แต่ใช้ความหวานธรรมชาติจากหล่อฮั้งก้วย แต่ละเม็ดมีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด เช่น ผลมะขามป้อม มะนาว ผิวส้มจีน บ๊วย สมอพิเภก สมอไทย รากชะเอมเทศ ช่วยทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ เลขทะเบียน อย. : 10-1-16435-5-0078 วิธีใช้ : อมครั้งละ 1 เม็ด ตามต้องการ ราคาปกติ : ซองละ 35 บาท (บรรจุ 20 เม็ด) ยาอมสมุนไพรจากไอยรา มีทั้งหมด 3 รสชาติ ได้แก่ รสบ๊วย รสมะนาว และรสเปลือกส้ม สกัดเข้มข้นจากสมุนไพรไทย 100% เช่น มะขามป้อม ลูกมะแว้งต้น รากชะเอมเทศ ใบส้มป่อย ใบสวาด รากส้มกุ้งน้อย เป็นต้น กินง่าย ไม่ฝาดลิ้น อมแล้วชุ่มคอ ช่วยบรรเทาอาการไอ เลขทะเบียนยา : G 213/55, G210/55, G 230/55 วิธีใช้ : อมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อมีอาการไอ ราคาปกติ : ซองละ 30 บาท (บรรจุ 15 เม็ด) ยาอมซานจินซีกวาซวน เป็นยาแผนโบราณสูตรสมุนไพรจีนจากเวชพงศ์โอสถ มีส่วนผสมของผงแตงโม พิมเสน และตัวยาจีนอื่น ๆ ที่ช่วยทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการเจ็บคอ เลขทะเบียนยา : K6/46 วิธีใช้ : อมครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการ ราคาปกติ : ซองละ 65 บาท (บรรจุ 12 เม็ด) เม็ดอมสมุนไพร อาปาเช่ รสมะขามป้อม ยี่ห้อนี้มีรสชาติเปรี้ยว อร่อย อมแล้วให้ความรู้สึกเย็น ชุ่มคอทันที ช่วยบรรเทาอาการระคายคอ แก้ไอ และขับเสมหะ สูตรนี้ปราศจากน้ำตาลด้วย แถมยังบรรจุในซองซิปล็อกที่เก็บง่ายและพกพาสะดวก เลขทะเบียน อย. : 11-1-10249-6-0035 วิธีใช้ : อมครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการ ราคาปกติ : ซองละ 25 บาท (บรรจุ 12 เม็ด) คนชอบกินมะม่วงน่าจะถูกใจยาอมตรามิสเตอร์เฮิร์บ เม็ดสีเหลืองจากอ้วยอันโอสถ ที่แต่งกลิ่นมะม่วง เม็ดนี้มีส่วนผสมของมะขามป้อม ชะเอมเทศ มะแว้งเครือ สมอไทย และตัวยาอื่น ๆ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำคอ ลดอาการระคายเคืองลำคอ บรรเทาอาการไอ เลขทะเบียนยา : G 514/60 วิธีใช้ : อมครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อมีอาการ ราคาปกติ : ซองละ 28 บาท (บรรจุ 10 เม็ด) เลือกชนิดของยาอม ซึ่งมีทั้งแบบลูกอม (เม็ดอม) ที่เน้นสรรพคุณช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ และแบบยาอมที่มีส่วนผสมของยา ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ เลือกยาอมที่ตรงกับอาการที่เป็น เช่น หากเจ็บคอควรเลือกยาอมที่มีส่วนผสมของมะขามป้อม มะแว้ง น้ำผึ้ง ดอกคาโมมายล์ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ แต่ถ้าไอมีเสมหะด้วยควรเลือกยาอมสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยละลายเสมหะ เช่น ชะเอมเทศ มะนาว มะขามป้อม เป็นต้น เลือกซื้อยาอมสมุนไพรตามรสชาติที่ชอบ เช่น รสมะแว้ง มะขามป้อม มะนาว เป็นต้น ตรวจสอบส่วนผสมอย่างละเอียดว่าไม่มีสมุนไพรที่ทำให้ตัวเองเกิดอาการแพ้ ควรรับประทานตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนซอง เพื่อความปลอดภัย ควรเลือกยาอมสมุนไพรที่ปราศจากน้ำตาล หรืออาจมีส่วนผสมของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล บนผลิตภัณฑ์ต้องระบุวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ หากเป็นชนิดลูกอมต้องมีเลขทะเบียน อย. และถ้าเป็นชนิดยาอมต้องมีเลขทะเบียนยา วิธีใช้ยา และข้อควรระวัง ควรเลือกซื้อยาอมสมุนไพรจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ หรือซื้อที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรคอยให้คำแนะนำ ควรอมยาให้ละลายในปากอย่างช้า ๆ เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์บริเวณลำคอได้ดีขึ้น เก็บยาอมไว้ในที่แห้ง อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ส่วนผสมของสมุนไพรบางอย่างอาจส่งผลต่อร่างกาย เช่น การรับประทานมะขามป้อม มะแว้ง เป็นเวลานาน ๆ จะมีอาการท้องเสียได้ในบางราย หรือผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับและไต ไม่ควรใช้ยาอมที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศ เป็นต้น ควรรับประทานเท่าที่จำเป็นและตามอาการเท่านั้น ไม่รับประทานเกินขนาดที่ระบุไว้ตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะหากเป็นชนิดยาอมซึ่งมีตัวยาเป็นส่วนประกอบ หรือในกรณีเป็นลูกอม การรับประทานเกินปริมาณจะทำให้ร่างกายสะสมน้ำตาลไว้มากเกินความจำเป็น เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้ยาอมสมุนไพรแก้เจ็บคอ เพราะอาจสำลักเม็ดยาเข้าทางเดินหายใจ สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรไม่ควรใช้ยาอมโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา ยาอมใช้เพื่อบรรเทาอาการ ไม่ใช่การรักษา ดังนั้น หากเป็นคนที่มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ไอเรื้อรัง หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ไม่ควรใช้ยาอมเป็นเวลานาน หากอาการเจ็บคอหรือไอยังไม่หายควรปรึกษาแพทย์ หากใช้แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น บวมที่ใบหน้า มีลมพิษ หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก ผื่นขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ยาอมสมุนไพรแก้เจ็บคอเป็นอีกทางเลือกของผู้ที่มีอาการเจ็บคอ คันคอ ไอ หรือมีเสมหะ ใครชอบความเป็นสมุนไพร ลองเลือกยี่ห้อและส่วนผสมที่ชอบกันได้เลย ยาอมแก้เจ็บคอ แก้ไอ ยี่ห้อไหนดี พกติดตัวไว้บรรเทาอาการเจ็บคอ คันคอ ไอ ละลายเสมหะ สเปรย์พ่นคอ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ยี่ห้อไหนดี ไอเทมที่หลายบ้านมีติดไว้ในช่วงโควิด 15 วิธีบรรเทาอาการเจ็บคอ แก้เจ็บคออย่างไรได้ผลดี เจ็บคอจากโควิด 19 กินยาอะไร มีวิธีไหนช่วยบรรเทาอาการแสบคอได้บ้าง เจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย มีอาการกลืนลำบาก อาจไม่ใช่แค่เป็นหวัด ! ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ouayun.com, abhaithaiherbs.com, khaolaor.shop, panapat.com, เฟซบุ๊ก iyarashoppharma, vejpongosot.com, boonsongherb.com, shop.ouayun.com
แสดงความคิดเห็น