ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาการเป็นยังไง หายเองได้ไหม ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนรุนแรง รวบรวมข้อมูลมาบอกแล้ว หลายคนมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดหัว ปวดตัว แถมยังมีอาการไอ จาม ร่วมด้วย แบบนี้ต้องสงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ไข้หวัดใหญ่มักจะแพร่ระบาดได้ง่าย และสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดก็คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ใครที่ยังไม่รู้ว่าโรคนี้มีอาการอย่างไร เกิดจากอะไร และป้องกันได้อย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ มาฝาก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A : เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุด ระบาดได้ทั่วโลก และทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แถมยังสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่าย ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B : พบได้รองลงมา ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A และมักไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C : พบได้น้อยมาก มักพบในเด็กเล็ก และไม่ทำให้เกิดการระบาด ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เชื้อไวรัสชนิด A แบ่งเป็นชนิดย่อยตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า Hemagglutinin (H) และ Neuraminidase (N) ได้อีกหลายชนิด โดยที่พบได้บ่อย เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1) : ที่ผ่านมามีการระบาดครั้งใหญ่ในสเปน จึงเรียกว่า ไข้หวัดสเปน และกลับมาระบาดหนักอีกครั้งในช่วงปี 2009 ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแล้ว ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N2) : เป็นสายพันธุ์ย่อยในโรคไข้หวัดหมูสายพันธุ์ A ที่สามารถติดต่อจากหมูสู่คนได้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2) : เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อจากหมูสู่คนได้ จึงเรียกว่า ไข้หวัดหมู หรือ ไข้หวัดฮ่องกง เพราะเคยระบาดหนักในฮ่องกง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H5N1) : คือไข้หวัดนกที่เคยระบาดไปทั่วเอเชีย สามารถติดต่อจากคนสู่คน หรือติดต่อจากสัตว์ปีกได้โดยตรง ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น ๆ จะไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านทางสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยที่ออกมาตอนไอหรือจาม โดยเชื้อไวรัสจะอยู่ในละอองฝอยเล็ก ๆ ล่องลอยอยู่ในอากาศ หากเราหายใจเอาละอองเหล่านี้เข้าไปก็จะทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วมาสัมผัสจมูกหรือปากของตัวเอง ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 1-3 วัน และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วัน ก่อนมีอาการ ไปจนถึง 3-5 วัน หลังมีอาการ หากผู้ป่วยเป็นเด็กจะสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-3 วัน โดยจะมีอาการเหล่านี้ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างหนัก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา อ่อนเพลีย ไอแห้ง เจ็บคอ มีน้ำมูกใส คัดจมูก หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วย ในเด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน และชักจากไข้สูง อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงว่าจะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ได้แก่ เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคไตวาย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยโรคหลอดสมอง หรือลมชัก ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิหรือสเตียรอยด์จากโรคภูมิคุ้มกันตัวเอง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีภาวะอ้วน โดยมีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร การรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ทำได้โดยการรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากมีน้ำมูก คัดจมูก ให้รับประทานยาลดน้ำมูก หากไอ มีเสมหะ ให้รับประทานยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อน ๆ งดไปโรงเรียนหรือที่ทำงานจนกว่าจะหายดี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ในบางรายที่อาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ เช่น โอเซลทามิเวียร์ หรือหากผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย แพทย์อาจให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นโรคที่สามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ รวมทั้งภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเองด้วย หากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย อาจต้องใช้เวลารักษานานกว่า 7 วัน ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ โทรศัพท์ ปุ่มลิฟต์ บันไดเลื่อน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในที่ชุมชน หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นโรคที่สามารถหายได้เอง แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในบางคน ดังนั้น การดูแลตัวเอง ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำปีละ 1 ครั้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ราคาเท่าไหร่ อัปเดต ปี 2568 ชนิด 4 สายพันธุ์ เข็มละกี่บาท ไข้หวัดใหญ่ H1N1 รู้ให้ครบทั้งอาการ และวิธีป้องกันก่อนจะป่วย ! ไข้หวัดใหญ่ อาการใกล้ตัวที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ย้ำให้ชัดว่าต้องระวัง เช็กอาการไข้หวัดใหญ่ ต่างจาก ไข้หวัดทั่วไป ตรงไหน ? ไข้หวัดใหญ่ H3N2 รู้ให้ทัน ก่อนตื่นตระหนก ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, สมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต, โรงพยาบาลเปาโล
แสดงความคิดเห็น