นิ่วทอนซิล ก้อนเหม็นในลำคอที่ใคร ๆ ก็ไม่พึงปรารถนา ต้องทำยังไงถึงเอาออกไปได้ ไม่ให้ก่อปัญหากลิ่นปาก จนหมดความมั่นใจ เคยเป็นไหม ? รู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรติดคออยู่ตลอดเวลา พอคายออกมาก็มีกลิ่นเหม็น สิ่งนั้นคือ "นิ่วทอนซิล" ที่สร้างความรำคาญใจให้กับหลายคน แม้ว่าจะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ ที่ร้ายแรง แต่ก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้เหมือนกัน แล้วเราจะมีวิธีกำจัดก้อนเหม็นในลำคอแบบนี้อย่างไรได้บ้างนะ หรือนิ่วทอนซิลจะหายได้เองไหม ชวนมาหาคำตอบกัน นิ่วทอนซิล ภาษาอังกฤษ คือ Tonsil Stones เป็นก้อนเล็ก ๆ สีขาวหรือสีเหลืองเท่าเมล็ดถั่วที่สะสมอยู่บริเวณซอกหรือร่องของต่อมทอนซิลซึ่งอยู่หลังคอของเรา โดยก้อนเล็ก ๆ นี้เกิดจากการรวมตัวของเศษอาหาร แบคทีเรีย เชื้อรา หรือเซลล์ที่ตายแล้ว หากมีแคลเซียมจากน้ำลายมาเกาะจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง จึงเรียกกันว่า "นิ่ว" ไม่ใช่ทุกคนจะมีนิ่วทอนซิล เพราะการเกิดนิ่วทอนซิลขึ้นอยู่กับกรณีดังนี้ การดูแลสุขอนามัยช่องปาก ในคนที่แปรงฟันไม่สะอาดมักมีเศษอาหารตกค้างในช่องปาก ส่งผลให้มีโอกาสเกิดนิ่วทอนซิลได้มากกว่าคนที่ดูแลสุขภาพช่องปากได้ดี โครงสร้างต่อมทอนซิลของแต่ละคน คนที่มีร่องของต่อมทอนซิลลึกและซับซ้อนจะมีโอกาสที่เศษอาหารและแบคทีเรียไปติดค้างได้ง่ายกว่า คนที่เคยมีประวัติทอนซิลอักเสบบ่อยย่อมเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วทอนซิลได้มากขึ้น เพราะการอักเสบทำให้เกิดเนื้อเยื่อส่วนเกินในต่อมทอนซิล ซึ่งเป็นที่สะสมของแบคทีเรียได้ โดยปกตินิ่วทอนซิลไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่หากปล่อยไว้หรือเป็นบ่อย ๆ จะทำให้เกิดกลิ่นปากที่ส่งผลต่อความมั่นใจในการเข้าสังคม รวมทั้งอาจเกิดการระคายเคือง เจ็บคอ ไอเรื้อรัง หรือทำให้ต่อมทอนซิลบวม ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ปวดบริเวณหู ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของทางเดินประสาทร่วมระหว่างหูและต่อมทอนซิลได้ นิ่วทอนซิลสามารถหายได้เองในบางกรณี เช่น หากนิ่วมีขนาดเล็ก อาจหลุดออกมาเองได้ในขณะที่เราไอ ขากเสมหะ ขณะกลืนอาหาร หรือขณะแปรงฟัน ทำให้นิ่วทอนซิลหายไปได้โดยไม่ต้องพยายามกำจัด หากต้องการกำจัดนิ่วทอนซิลในลำคอจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ลองมาดูกัน การกลั้วคอแรง ๆ ด้วยน้ำเปล่า น้ำเกลือ หรือน้ำยากลั้วคอ อาจช่วยให้นิ่วทอนซิลขนาดเล็กหลุดออกมาได้บ้าง แต่หากนิ่วนั้นฝังอยู่ลึกจะไม่สามารถกำจัดออกได้ทั้งหมด การไอแรง ๆ หลาย ๆ ครั้งก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้นิ่วทอนซิลขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ผิวหลุดออกมาได้ แต่ถ้าเป็นนิ่วก้อนใหญ่หรือฝังตัวอยู่ในร่องลึกก็ไม่สามารถกำจัดได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ควรระวังว่าการไอแรง ๆ อาจทำให้เจ็บคอหรือทำให้เยื่อบุในคอระคายเคือง การใช้นิ้วนวดบริเวณใต้คางตรงมุมขากรรไกรล่างซึ่งตรงกับจุดต่อมทอนซิลพอดี จะช่วยกระตุ้นให้ก้อนนิ่วทอนซิลหลุดออกมาได้ อีกวิธีหนึ่งที่หลายคนนำมาใช้เพื่อช่วยกำจัดนิ่วทอนซิลก็คือ การใช้เครื่องพ่นน้ำทำความสะอาดช่องปาก (Water Flosser) ฉีดบริเวณต่อมทอนซิล ซึ่งแรงดันของน้ำอาจช่วยให้นิ่วทอนซิลหลุดออก หรือช่วยพัดพาเศษอาหารและแบคทีเรียที่สะสมอยู่รอบ ๆ นิ่วทอนซิลออกไปได้ อย่างไรก็ตาม 4 วิธีที่กล่าวมามักใช้ได้ผลกับนิ่วทอนซิลที่มีขนาดเล็ก ทว่าหากนิ่วทอนซิลนั้นมีขนาดใหญ่หรือฝังอยู่ในร่องลึก จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อใช้วิธีการอื่น ๆ ดังนี้ โดยแพทย์อาจใช้ไม้พันสำลีกดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อเอานิ่วทอนซิลออก หรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการคีบนิ่วทอนซิลออกมา ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้เราใช้เครื่องมือใด ๆ เขี่ยออกเอง เพราะอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือทำให้เลือดออกได้ ในกรณีเป็นนิ่วทอนซิลเรื้อรัง และไม่ต้องการผ่าตัด แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก ซึ่งเป็นสารละลายที่ใช้ทาหรือฉีดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อให้ร่องลึกในต่อมทอนซิลตื้นขึ้น เป็นการช่วยกำจัดก้อนนิ่วและลดโอกาสสะสมของแบคทีเรียและเศษอาหารที่จะทำให้เกิดนิ่วทอนซิลได้อีก ปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดที่ใช้เลเซอร์รักษาปัญหานิ่วทอนซิลโดยเฉพาะที่เรียกว่า เลเซอร์ทอนซิลโลโทมี (Laser Tonsillotomy) ซึ่งเลเซอร์จะเข้าไปเปิดขอบร่องของต่อมทอนซิลให้กว้างขึ้น ช่วยลดการสะสมของสิ่งต่าง ๆ จึงลดโอกาสการเกิดนิ่วซ้ำ ในท้ายที่สุดแล้วหากนิ่วทอนซิลมีขนาดใหญ่และอยู่ลึกไม่สามารถใช้วิธีอื่น ๆ นำออกมาได้ หรือเป็นบ่อยจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีกลิ่นปากอย่างรุนแรง ต่อมทอนซิลอักเสบมาก แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดต่อมทอนซิล เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบริเวณที่มีนิ่วออกไป ป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า นิ่วทอนซิลส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าใครมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีอาการติดเชื้อเกิดขึ้น เจ็บคอเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นพัก ๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อมทอนซิลโต มีหนอง หรือมีสารคัดหลั่งสีขาว หรือมีเลือดออกจากต่อมทอนซิล หายใจลำบากขณะหลับ กลืนลำบาก ปวดบริเวณทอนซิลอย่างรุนแรง โดยมักจะปวดข้างเดียว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ปวดร้าวไปถึงหู ในกรณีมีอาการติดเชื้อ แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาร่วมด้วย นิ่วทอนซิลสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ อย่างการแปรงฟันให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันและที่ขูดลิ้นเป็นประจำ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาบ้วนปากเพื่อลดปริมาณแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อชำระล้างช่องปากและป้องกันการติดเชื้อ ก็จะช่วยลดการก่อตัวของนิ่วและกลิ่นปากไปในตัว นิ่วทอนซิล ขี้ทอนซิล ก้อนเหลือง ๆ จาก ต่อมทอนซิล คืออะไร 8 วิธีดับกลิ่นปากแบบเร่งด่วน ขจัดปากเหม็น เน้นความมั่นใจให้เต็มสิบ ! 12 ยาสีฟันลดกลิ่นปาก เปลี่ยนลมหายใจให้หอมสดชื่นตั้งแต่ตื่นยันหลับ ! น้ำยาบ้วนปาก ยี่ห้อไหนดี ไม่แสบปาก ไร้แอลกอฮอล์ ช่วยลดกลิ่นปาก ให้ลมหายใจหอมสดชื่น 10 วิธีดับกลิ่นปากเมื่อต้องใส่หน้ากากอนามัย แก้ปัญหาใส่แมสก์แล้วปากเหม็น ! ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์, กรมอนามัย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, medicalnewstoday.com, healthdirect.gov.au
แสดงความคิดเห็น