วิตามิน D3 ยี่ห้อไหนดี เลือกซื้ออย่างไรให้มาช่วยเติมวิตามินดี หนึ่งในวิตามินที่คนไทยขาดมากเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อดูแลกระดูกและฟัน พร้อมเสริมการทำงานระบบต่าง ๆ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วิตามินดี เป็นวิตามินอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยได้รับไม่เพียงพอ แม้ร่างกายของเราสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เองที่ผิวหนังเมื่อได้รับรังสี UVB จากแสงแดด แต่จากการสำรวจสุขภาพ ของประชากรไทยกลับพบว่า มีคนไทยมากถึง 45.2% ที่ขาดวิตามินตัวนี้ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงแสงแดดและทาครีมกันแดดเสมอเมื่อออกแดด ซึ่งการขาดวิตามินดีเช่นนี้ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ไม่เต็มที่ นำไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกมากมาย อีกทั้งยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคมะเร็งบางชนิด รวมถึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจนเสี่ยงติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เราจึงเห็นคนหันมารับประทานอาหารเสริมวิตามิน D3 กันมากขึ้น เพื่อเติมวิตามินดีที่ขาดหายไป ว่าแต่...วิตามิน D3 คืออะไร แตกต่างกับวิตามินดีที่เรารู้จักไหม แล้วทำไมถึงต้องรับประทานเสริมตัวนี้ ตามมาศึกษาข้อมูลด้านล่างกันได้เลย ต้องอธิบายก่อนว่า วิตามินดี ที่เราเรียกกันเป็นคำเรียกรวมวิตามินดีทุกชนิด แต่หากแยกประเภทจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ วิตามิน D2 และวิตามิน D3 ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีความแตกต่างกัน คือ วิตามิน D2 (Ergocalciferol) ส่วนใหญ่ได้มาจากพืช ตระกูลเห็ด รา และยีสต์ เช่น เห็ดหอม ร่างกายสามารถดูดซึมได้น้อยกว่าวิตามิน D3 วิตามิน D3 (Cholecalciferol) ร่างกายสร้างขึ้นเองได้จากการสัมผัสแสงแดด รวมถึงการรับประทานอาหารบางชนิด ซึ่งร่างกายจะดูดซึมวิตามิน D3 ได้ดีกว่าวิตามิน D2 จึงมีประสิทธิภาพในการเพิ่มระดับวิตามินดีในเลือดได้ดีกว่า อาหารที่มีวิตามิน D3 คือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่แดง ตับ นม เนย น้ำมันตับปลา เนื้อวัว ชีส ปลาที่มีไขมันสูงอย่างปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิตามินดีในร่างกายของเรามาจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังถึง 80-90% ส่วนอีก 10-20% ได้จากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี ด้วยเหตุนี้แม้เราจะรับประทานอาหารดังที่กล่าวมา แต่ถ้าไม่ค่อยถูกแสงแดด หรือสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกาย กางร่ม ทาครีมกันแดดเมื่อออกนอกอาคาร ย่อมมีแนวโน้มขาดวิตามินดี ยังไม่รวมถึงคนที่รักษาสุขภาพ ไม่ชอบกินไข่แดง ตับ เนย เพราะกลัวคอเลสเตอรอลพุ่ง แบบนี้ก็ยิ่งขาดวิตามินดี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลาย ๆ เรื่อง ประโยชน์ของวิตามิน D3 มีหลายด้านที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญต่อกระดูกและฟัน ดังนั้น วิตามินดีจึงมีส่วนช่วยเสริมสร้างและรักษาความแข็งแรงของกระดูก ลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกอ่อน โดยมีการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารเสริมวิตามิน D3 และแคลเซียมเสริม มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักและกระดูกหักที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง (กระดูกนอกกระดูกสันหลัง) ลดลง 6% ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยทำให้เม็ดเลือดขาวตอบสนองต่อเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทั้งโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรค RSV และโควิด 19 อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Diseases) บางชนิดได้ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) เป็นต้น มีงานวิจัยพบว่า ระดับวิตามินดีที่ต่ำอาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า ดังนั้น การได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เพียงพออาจช่วยลดความเสี่ยงหรือบรรเทาอาการของภาวะซึมเศร้าได้ มีความสำคัญต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท ซึ่งส่งผลต่อความจำ การเรียนรู้ และการตัดสินใจ มีส่วนช่วยควบคุมสารสื่อประสาท รวมถึงเซโรโทนินและโดปามีน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีสูงมักมีแนวโน้มที่จะอารมณ์ดีและมีความเครียดน้อยกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำ ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย โดยวิตามินดีจะช่วยลดการอักเสบและส่งเสริมการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ รวมถึงบรรเทาอาการเมื่อยล้า ป้องกันการลื่นล้ม เพราะวิตามินดีมีส่วนช่วยเรื่องการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา จึงช่วยให้ผู้สูงอายุก้าวเดินและทรงตัวได้ดี โดยจากการศึกษาในคนไข้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มคนไข้ที่มีอัตราการลื่นล้มสูง พบว่า การรับประทานวิตามินดีปริมาณสูงสามารถลดโอกาสการลื่นล้มอันเนื่องจากกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงได้ 22% ควบคุมความดันโลหิต และรักษาสมดุลของระดับแคลเซียมในร่างกาย จึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ป้องกันโรคเบาหวานประเภทที่ 2 มีความสำคัญต่อการแบ่งตัวของเซลล์ให้เป็นไปอย่างปกติ รวมทั้งควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย คนที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดด เช่น ทำงานออฟฟิศ ใช้ชีวิตในร่มเป็นเวลานาน สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ทาครีมกันแดด คนที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะไม่ค่อยได้กินปลาที่มีไขมันสูง นม ชีส ไข่แดง อย่างคนกินเจ กินมังสวิรัติ เป็นต้น ผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี เพราะร่างกายเสื่อมลง การสร้างวิตามินดีของผิวหนังลดลง คนที่มีผิวคล้ำจะมีเม็ดสีเมลานินมากกว่าคนผิวขาว ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพในการสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดด คนที่มีโรคในระบบลำไส้ อาจมีปัญหาเรื่องการดูดซึมไขมัน คนที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินดี เช่น โรคในระบบลำไส้ โรคอ้วน โรคไต โรคตับ โรคเซลิแอค โรคโครห์น เป็นต้น คนที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาแก้ชัก หรือยาลดไขมัน อาจมีผลต่อระดับวิตามินดีในร่างกาย อาการขาดวิตามินดี หรือ D3 ส่งสัญญาณให้เห็นดังนี้ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการปวดกระดูก ปวดข้อ มวลกระดูกลดลงมาก กระดูกหักง่าย ในเด็กอาจเกิดโรคกระดูกอ่อน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยไม่ทราบสาเหตุ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก หรือเป็นตะคริวบ่อย รู้สึกเสียวเหมือนมีอะไรทิ่มแทงที่มือหรือเท้า มีงานวิจัยพบว่า คนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 30 ng/mL มีความเสี่ยงติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าคนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดปกติ อารมณ์แปรปรวน มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล เจ็บป่วยง่าย แผลหายช้า นอนหลับยาก เพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี เราควรได้รับวิตามินดังนี้ เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ควรได้รับวิตามินดีอย่างน้อย 400 IU/วัน (10 ไมโครกรัม) ผู้ที่มีอายุ 1-70 ปี ควรได้รับวิตามินดีอย่างน้อย 600 IU/วัน (15 ไมโครกรัม) ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินดีอย่างน้อย 800 IU/วัน (20 ไมโครกรัม) ผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ควรได้รับวิตามินดี 400-600 IU/วัน (10-15 ไมโครกรัม) สตรีตั้งครรภ์ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ควรได้รับวิตามินดี 2,000-4,000 IU/วัน (50-100 ไมโครกรัม) ทั้งนี้ เพื่อให้มีระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D อยู่ที่ 30-50 ng/mL ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย และไม่ควรรับประทานวิตามินดีเกินวันละ 4,000 IU หรือ 100 ไมโครกรัม ยกเว้นกรณีที่มีข้อบ่งชี้พิเศษและอยู่ในการดูแลของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ปริมาณที่เหมาะสมอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่ด้วย อย่างที่กล่าวไปว่าการได้รับวิตามินดีจากแสงแดดเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักไม่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ รวมถึงคนที่เป็นวีแกนหรือกินเจ กินมังสวิรัติ ก็ยิ่งไม่ได้รับวิตามิน D3 จากอาหาร ด้วยเหตุนี้การรับประทานอาหารเสริมวิตามิน D3 จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง อาหารเสริมวิตามิน D3 มีให้เลือกอยู่ 2 แบบ คือ มีส่วนประกอบของวิตามิน D3 แบบเพียว ๆ กับมีส่วนประกอบของวิตามินและแร่ธาตุชนิดอื่นรวมอยู่ด้วยในเม็ดเดียว ขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการสารอาหารชนิดอื่นด้วยหรือไม่ โดยวิตามินที่ผสมมาจะมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน เช่น วิตามิน D3+แคลเซียม : วิตามิน D3 ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม มีประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูก วิตามิน D3+K2 : วิตามิน D3 ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ในขณะที่วิตามิน K2 ช่วยนำแคลเซียมไปใช้ในกระดูกและฟันอย่างถูกต้อง วิตามิน D3+แมกนีเซียม : แมกนีเซียมจะช่วยในการเปลี่ยนวิตามิน D3 ให้อยู่ในรูปแบบที่ใช้งานได้ วิตามิน D3+วิตามินบี : ทั้งคู่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ วิตามิน D3+วิตามินซี+สังกะสี : เสริมการทำงานในเรื่องภูมิคุ้มกัน ลดระยะเวลาของการเป็นไข้หวัด เลือกปริมาณวิตามิน D3 ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน โดยพิจารณาจากอายุและปัญหาสุขภาพ เช่น หากเป็นผู้สูงอายุควรได้รับวิตามิน D3 อย่างน้อย 800 IU/วัน (20 ไมโครกรัม) เลือกจากรูปแบบของวิตามินที่เราสะดวกรับประทาน ซึ่งมีทั้งแบบเม็ด แคปซูล แคปซูลนิ่ม เม็ดฟู่ ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นแบบแคปซูลนิ่มจะดูดซึมได้ดีกว่า เลือกตามขนาดของผลิตภัณฑ์ เช่น หากต้องพกพาออกไปรับประทานนอกบ้านบ่อย ๆ ก็ควรเลือกกระปุกเล็ก แต่ถ้ารับประทานที่บ้านกันหลายคนก็ควรเลือกกระปุกใหญ่ที่มีจำนวนเม็ดมากกว่า และราคามักจะประหยัดกว่าเล็กน้อย เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเลข อย. ระบุชัดเจน อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบปริมาณวิตามินและคำแนะนำในการรับประทาน เลือกผลิตภัณฑ์ที่ฝาปิดสนิท มิดชิด ไม่มีรอยเปิด หรือร่องรอยการแกะ ขวดต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่แตก หรือมีรอยร้าว ฉลากต้องติดแน่น ไม่ฉีกขาด หรือเลือนราง ตรวจสอบส่วนผสมอื่น ๆ ในผลิตภัณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนประกอบที่อาจทำให้แพ้ และหลีกเลี่ยงสารปรุงแต่ง สี หรือสารกันบูด เปรียบเทียบราคาของแต่ละยี่ห้อ เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสมกับคุณภาพ หากมีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยาอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานอาหารเสริมวิตามิน D3 คราวนี้ลองมาไล่เรียงกันดูว่า วิตามิน D3 ที่วางขายในท้องตลาดอยู่ตอนนี้ มีแบรนด์ไหนน่าสนใจบ้าง วิตามิน D3 จากแบรนด์สวิสเซ ให้วิตามิน D3 ในปริมาณ 444 IU กระปุกนี้เป็นสูตรพรีเมียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน เพราะมีส่วนผสมของแคลเซียมซิเตรด 317 มิลลิกรัม ซึ่งให้การดูดซึมที่ดีกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต วิธีรับประทาน : วันละ 1 เม็ด หลังอาหาร ราคาปกติ : 90 เม็ด 550 บาท "แบลคมอร์ส ไบโอ แคลเซียม+ดี3" เป็นอีกหนึ่งยี่ห้อที่ให้วิตามิน D3 ในปริมาณ 200 IU มาพร้อมกับแคลเซียม 500 มิลลิกรัม โดยแคลเซียมมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง ส่วนวิตามินดีก็มีส่วนช่วยในการดูดซึมตามปกติของแคลเซียมและฟอสฟอรัส จึงทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น วิธีรับประทาน : วันละ 1 เม็ด พร้อมอาหาร ราคาปกติ : 60 เม็ด 400 บาท Now Foods แบรนด์อาหารเสริมนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ขวดนี้เป็นวิตามิน D3 ปริมาณ 400 IU/เม็ด บรรจุมาในรูปแบบซอฟต์เจลที่รับประทานง่าย ขนาดแคปซูลยาวไม่ถึงครึ่งนิ้ว น่าจะถูกใจคนที่มีปัญหากลืนยายาก วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล หลังมื้ออาหาร ราคาปกติ : 180 เม็ด 850 บาท ฝั่งโรงพยาบาล BNH ก็มีผลิตภัณฑ์วิตามินเสริมเช่นกัน ซึ่งคิดค้นสูตรจากทีมเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ดูแลคนไข้มาอย่างยาวนาน โดยใน 1 แคปซูลมีส่วนประกอบของวิตามิน D3 และวิตามิน K2 อยู่ที่ 13 มิลลิกรัม ทำงานร่วมกันในด้านส่งเสริมสุขภาพกระดูก หัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลแนะนำให้รับประทานต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล หลังอาหารเช้า ราคาปกติ : 30 เม็ด 520 บาท ในแคปซูลแต่ละเม็ดของดารี่ วิต ดี พลัส แมกนีเซียม มีส่วนประกอบของแมกนีเซียมอะมิโนแอซิดคีเลต และมีวิตามิน D3 แบรนด์นี้จึงเหมาะกับคนที่ต้องการเสริมทั้งวิตามินดีและแมกนีเซียมให้จบในเม็ดเดียว วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล พร้อมอาหาร ราคาปกติ : 30 เม็ด 490 บาท สำหรับคนที่อยากได้วิตามินดีอย่างเดียว ไม่มีส่วนผสมของแร่ธาตุชนิดอื่น ขวดนี้จากไบโอแคปก็น่าสนใจ โดยใน 1 แคปซูลจะให้วิตามิน D3 เพียว ๆ 200 IU หน่วยสากล ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และที่สำคัญแบรนด์นี้มักจัดโปรฯ อยู่บ่อย ๆ ด้วย วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล หลังมื้ออาหารเช้าหรือเย็น ราคาปกติ : 30 แคปซูล 360 บาท อินโนบิก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รวมวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดไว้ในเม็ดเดียว ทั้งวิตามิน D3 ในปริมาณที่เพียงพอกับปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน, วิตามิน K2, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส แถมยังมีแมงกานีส โบรอน และคอปเปอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล พร้อมมื้ออาหาร ราคาปกติ : 30 เม็ด 550 บาท เนื่องจากวิตามินดีเป็นวิตามินละลายในไขมัน การกินพร้อมอาหารหรือหลังอาหารจะถูกดูดซึมได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อบ่งใช้ของแต่ละยี่ห้ออาจไม่เหมือนกัน จึงแนะนำให้อ่านฉลากและรับประทานตามคำแนะนำ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค แจ้งประวัติทางการแพทย์และอาการแพ้ให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนรับประทานวิตามิน D3 คนที่มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง หรือระดับวิตามินดีในเลือดสูง ไม่ควรรับประทานวิตามิน D3 เสริมเข้าไปอีก ผู้ที่มีปัญหาโรคไต โรคตับ ควรระวังในการรับประทานวิตามินเสริม เด็ก สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานวิตามิน D3 วิตามิน D3 อาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด โดยเฉพาะยาต้านการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น หากรับประทานยารักษาโรคอะไรอยู่ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทานวิตามิน D3 การรับประทานวิตามิน D3 มากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจนเป็นอันตรายได้ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เบื่ออาหาร หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลียผิดปกติ หากรับประทานวิตามินตัวอื่นอยู่ด้วย ให้ตรวจดูว่าวิตามินนั้นมีส่วนประกอบของวิตามิน D3 รวมอยู่ด้วยหรือไม่ ปริมาณเท่าไร เพื่อไม่ให้กินวิตามิน D3 สะสมมากเกินไป พบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการแพ้รุนแรง เช่น มีผื่นคัน ใบหน้าบวม ลิ้นบวม เวียนหัว หายใจลำบาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิตามิน D3 ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค ควรกินอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ อย่างที่เห็นแล้วว่าวิตามินดีมีความสำคัญทั้งต่อกระดูก กล้ามเนื้อ ระบบภูมิคุ้มกัน สภาวะอารมณ์ ดังนั้น แนะนำให้หาเวลาออกไปสัมผัสแสงแดดนอกบ้านดูบ้าง รวมทั้งรับวิตามินดีจากอาหาร เช่น ปลาที่มีไขมันสูง ไข่แดง หรือหากได้รับวิตามินดีจากแสงแดดและอาหารไม่เพียงพอ อาจพิจารณารับประทานอาหารเสริมวิตามิน D3 โดยปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพื่อสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม วิตามินดี ป้องกันโควิดได้ไหม ช่วยอะไรได้บ้าง วิตามินหมดอายุกินได้ไหม ถ้าเผลอกินอาหารเสริมหมดอายุ จะเป็นอะไรหรือเปล่า ? วิตามินที่ไม่ควรกินตอนท้องว่าง มีอะไรบ้าง กินพร้อมหรือหลังอาหารดีกว่า เลี่ยงผลข้างเคียง วิตามินที่ไม่ควรกินก่อนนอนมีตัวไหนบ้าง เช็กให้ชัดแล้วกินให้ถูกเวลา วิตามินต่าง ๆ ควรกินตอนไหน กินคู่กับอะไรให้ร่างกายดูดซึมได้มากที่สุด ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : Swisse Thailand, blackmores.co.th, nowfoodsthailand.com, The M BRACE by BNH Hospital, cloverplus thailand, Biocap, Innobic Official Shop, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย, www.webmd.com, verywellhealth.com, โครงการเพิ่มศักยภาพฐานข้อมูลอุตสาหกรรมยาทางชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ, โรงพยาบาลนครธน, pubmed.ncbi.nlm.nih.gov
แสดงความคิดเห็น