People Pleaser หรือ คนชอบเอาใจ พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้อื่นแฮปปี้ แต่กลับละเลยความสุขของตัวเอง People Pleaser คืออะไร มาเช็กนิสัยของเราว่าใช่คนที่แคร์คนอื่น แต่มองข้ามความรู้สึกของตัวเองหรือไม่ แล้วเพราะอะไรคนที่เป็น People Pleaser ถึงยอมอยู่กับนิสัยแบบนี้ แม้บางทีจะรู้สึกแย่ที่ต้องคอยเอาใจคนอื่นก็ตาม หรือหากรู้ตัวอยู่แล้วว่าเรานี่แหละใช่ ก็ลองมาดูวิธีแก้ People Pleaser เพื่อพัฒนาสุขภาพจิตของตัวเองกัน People Pleaser คือ คำที่ใช้เรียกคนที่มีลักษณะนิสัยให้ความสำคัญกับความต้องการและความรู้สึกของคนอื่นมากกว่าตัวเอง โดยมักจะรับรู้ความต้องการของคนอื่นได้ไวและง่าย อีกทั้งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีนิสัยชอบช่วยเหลือ ใจดี และไม่ชอบความขัดแย้งใด ๆ จึงดูเป็นคนอะไรก็ได้ง่าย ๆ ในสายตาของผู้อื่น สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจเป็น People Pleaser ลองเช็กเลยว่าตรงกี่ข้อ พูดว่า "ได้", “ใช่”, “อะไรก็ได้” เสมอ ปฏิเสธไม่ค่อยเป็น แม้ว่าคุณจะไม่มีเวลาหรือไม่อยากทำก็ตาม คล้อยตามคนอื่นได้ง่าย เห็นด้วยกับทุกอย่าง ไม่ชอบขัด ไม่ชอบเถียง เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ถือคติจบที่เราเบาที่สุด รู้สึกผิดเมื่อปฏิเสธ มักจะรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ทำให้คนอื่นผิดหวัง ชอบคิดแทนคนอื่น กังวลแทนคนอื่นอยู่ตลอด และมักจะพาตัวเองไปอยู่ในปัญหาของคนนั้น ๆ ชอบพูดคำว่าขอโทษบ่อย ๆ แม้ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดก็ตาม ไม่ชอบความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวร้าย หรือไม่ชอบให้ใครมองว่าใจร้าย นิสัยไม่ดี รู้สึกดีเมื่อได้รับการยอมรับ หรือเมื่อคนอื่นมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่คุณได้ทำให้เขา มักจะไม่ค่อยมีเวลาให้ตัวเอง เพราะใช้เวลาไปกับธุระของคนอื่นหมด มักคิดว่าการทำให้คนอื่นรู้สึกดีเป็นหน้าที่ของตัวเอง จึงต้องทำตัวเป็นมิตร ใจดี ใจกว้างอยู่ตลอดเวลา ละเลยความต้องการของตัวเอง และมักจะละเลยความรู้สึกของตัวเอง เพราะเห็นแต่ความต้องการของผู้อื่น สาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนมีนิสัย People Pleaser เกิดจากปัจจัยเหล่านี้ Self-esteem หรือความนับถือตัวเองของคนที่มีนิสัย People Pleaser จะค่อนข้างต่ำ จึงกลัวว่าถ้าไม่ทำตามใจคนอื่นจะถูกมองว่าไม่ดีพอ ไม่เป็นที่รัก หรือถูกทอดทิ้งได้ง่าย ๆ บางครั้งอาจจะเกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยในความสัมพันธ์ กลัวถูกทอดทิ้ง จึงต้องการเอาใจอีกฝ่ายเพื่อให้เขายอมรับ พยายามทำทุกอย่างให้เขามีความสุข People Pleaser บางคนอาจจะมีนิสัยชอบความสมบูรณ์แบบ ซึ่งรวมไปถึงความสงบสุขเรียบร้อยรอบ ๆ ตัว ที่หมายถึงการจัดการความต้องการคนอื่นให้ครบจบเรียบร้อยด้วย คนที่เติบโตมาในครอบครัวที่ให้รางวัลเมื่อพวกเขาทำตามใจคนอื่น อาจพัฒนาเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวมาจนกลายเป็น People Pleaser ในที่สุด หรือเติบโตมาในสังคมที่ไม่มีความเท่าเทียม ไม่ว่าจะทางเพศ ที่ให้ผู้หญิงเป็นเพศที่โอนอ่อน เรียบร้อย หรือในสังคมที่ลูกต้องยอมพ่อแม่ พี่ต้องเสียสละให้น้อง ทำให้ติดนิสัยสละตัวเองเพื่อคนอื่นไปด้วย หลาย ๆ ครั้งที่ยอมคนอื่นจนลืมตัวเองก็อาจเป็นเพราะไม่ชอบเห็นความขัดแย้ง ไม่ชอบสถานการณ์ตึงเครียดจากความขัดแย้งใด ๆ จึงยอม ๆ ไปก่อนเพื่อให้เรื่องจบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นประสบการณ์ความเจ็บปวด ความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เกิดบาดแผลทางใจ และเหตุการณ์นั้น ๆ มักจะจบลงด้วยการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอม ต้องถอยหนึ่งก้าวเพื่อให้ความขัดแย้งนั้นจบ และกลายเป็นความสงบสุข ทำให้ฝังใจว่าหากเลือกที่จะยอมคนอื่นจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก โรคบุคลิกภาพผิดปกติบางโรคอาจนำไปสู่การเป็น People Pleaser ได้ เช่น โรคบุคลิกภาพแบบพึ่งพา (DPD) ที่มักจะรู้สึกต้องการพึ่งพาผู้อื่นอย่างมากในหลายด้านของชีวิต แม้ในเรื่องง่าย ๆ อย่างการเลือกเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ เป็นต้น แม้การเป็น People Pleaser จะไม่ใช่โรคทางจิตเวช ไม่ใช่ความผิดปกติไม่ว่าจะทางร่างกายและจิตใจ ทว่าการที่เรายังมีนิสัยแบบนี้ต่อไปอาจส่งผลกระทบบางอย่างได้เช่นกัน แม้ว่าการช่วยเหลือและทำให้ผู้อื่นมีความสุขจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามากเกินไป อารมณ์เชิงลบที่ซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มก็อาจส่งผลเสียได้ เช่น ความเครียด : การต้องคอยเอาอกเอาใจผู้อื่น และใช้เวลาไปกับการแคร์คนอื่นอยู่ตลอด อาจส่งผลกระทบให้จัดการเรื่องตัวเองไม่ทัน กระทบกับชีวิตและการทำงาน ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรังได้ เหน็ดเหนื่อย หมดพลัง : การพยายามทำให้ทุกคนพอใจอาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยและหมดพลังที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ สูญเสียความเป็นตัวเอง : การพยายามเป็นคนที่คนอื่นต้องการทำให้คุณสูญเสียความเป็นตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตนและไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เกิดความสับสนในจิตใจ ถูกเอาเปรียบ : คนบางคนอาจใช้ความใจดีของเราเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง จึงมักถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอด สะสมความโกรธไว้ในใจ : ความกดดันจากการที่ต้องคอยทำให้คนอื่นพอใจ ตลอดจนการถูกเอาเปรียบบ่อย ๆ จากการเป็นคนไนซ์ เป็นคนใจดี ทำให้บางครั้งต้องเก็บสะสมอารมณ์หงุดหงิดและโกรธเอาไว้ในใจ รอวันที่จะระเบิดออกมา สุขภาพจิตแย่ลง : เมื่อเราละเลยความต้องการของตัวเอง เราอาจรู้สึกไม่มีความสุข หรือแม้กระทั่งนำไปสู่ภาวะหมดไฟ ซึมเศร้าและวิตกกังวล สุขภาพกายมีปัญหา : นอกจากความเครียดที่สะสมเอาไว้แล้ว การทำตามใจคนอื่นมากเกินไปก็อาจละเลยการดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น มีคนฝากงานให้ช่วยทำแทนหรือขอให้รับงานพิเศษ ทำ OT เพิ่ม หากเราไม่กล้าปฏิเสธก็ต้องนั่งทำงานจนดึกดื่น ส่งผลให้มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยขึ้น มีปัญหาความสัมพันธ์ : การที่คอยเอาใจคนรอบตัวอยู่ตลอด การยอมให้เขาในทุก ๆ เรื่อง และข่มเก็บความไม่พอใจหรือเก็บความต้องการของตัวเองไว้โดยไม่ปริปากบอกอีกฝ่าย อาจเป็นชนวนให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และเป็นปมปัญหาที่สะสมจนก่อให้เกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันได้ วิธีแก้นิสัย People Pleaser สามารถทำได้ดังนี้ การพูดว่า "ไม่" ในเรื่องที่เราไม่อยากทำ ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนไม่ดี แต่หมายถึงคุณให้คุณค่ากับตัวเอง หรือถ้ายังไม่อยากตอบรับหรือปฏิเสธตอนนั้นก็ให้บอกว่า “ขอเวลาคิดดูก่อน” เพื่อจะได้มีเวลาประเมินและตัดสินใจว่าอยากทำจริงหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรับจบทุกอย่างคนเดียว เราต้องกล้าแสดงความรู้สึก แสดงความคิดเห็นที่แท้จริง หรือขอร้องให้คนอื่นช่วยได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด หากเราตัดสินใจปฏิเสธก็ให้บอกไปตรง ๆ ว่า "ไม่", "ไม่สะดวก" แต่ไม่ต้องอธิบายอะไรยืดยาว เพราะเป็นการเปิดช่องให้คนอื่นเสนอแนวทางอื่น ๆ เพื่อให้เราทำตามต้องการเขา เช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานขอติดรถกลับด้วย แต่วันนี้เราจะแวะห้างสรรพสินค้าเลยไม่สะดวก ก็ให้ตอบแค่ว่า "วันนี้ไม่สะดวก" "วันนี้ต้องไปทำธุระที่อื่น" โดยไม่ต้องอธิบายว่าคุณจะไปไหน ไม่เช่นนั้นเพื่อนร่วมงานอาจจะขอติดรถแล้วไปเดินห้างรอคุณทำธุระด้วยก็ได้ ทำให้เราต้องพะวงหลายเรื่อง เมื่อสังเกตว่ากำลังพยายามเอาใจคนอื่นมากเกินไปให้บอกตัวเองว่าพอก่อน ค่อย ๆ คิดพิจารณาว่าควรไปต่ออีกหรือไม่ ถามตัวเองว่าคุณต้องการอะไร และให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเองก่อนแคร์คนอื่น กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่าจะอุทิศตนให้คนอื่นแค่ไหนยังไง ใครบ้างที่เราควรแคร์ หรือใครที่ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญก็ได้ เช่น แคร์คนในครอบครัวมากหน่อย แคร์เพื่อนที่ทำงาน เพื่อนที่ไม่ได้สนิทมากแค่ตามมารยาท เป็นต้น People Pleaser มักชอบพูดขอโทษทั้งที่ตัวเองไม่ใช่ฝ่ายผิด จึงควรปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะเราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบในทุกเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับเราโดยตรง แต่ควรขอโทษเฉพาะกรณีที่ตัวเองเป็นฝ่ายผิดจริงเท่านั้น พยายามมองเห็นคุณค่าของตัวเอง คิดเสมอว่าตัวคุณเองก็มีดี และไม่จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากคนอื่นเพื่อที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ว่าคุณจะพยายามมากแค่ไหนก็จะต้องมีคนที่ไม่พอใจอยู่ดี และการที่ใครไม่พอใจเราก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก สุดท้ายแล้วถ้าไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ และเกิดความเครียดอย่างหนัก หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยปรับพฤติกรรมให้กลับมามีความสุขได้ดังเดิม การเป็น People Pleaser ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การละเลยความต้องการของตัวเองมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของเรา ดังนั้นจึงควรหยุดและทบทวนว่าเรากำลังใช้ชีวิตเพื่อตัวเองหรือเพื่อคนอื่นมากเกินไปหรือไม่ แล้วพยายามตั้งศูนย์ถ่วงของตัวเองอีกที เพราะเราจะสามารถให้ความรักและช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อตัวเราเองมีความสุขก่อนนะคะ 9 สัญญาณป่วยโรคคิดว่าตัวเองเก่งไม่จริง Imposter syndrome ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย เสพติดศัลยกรรมด้วย ระวังป่วยโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง ไม่ใกล้เดดไลน์ก็ไม่ลงมือทำอะไร เข้าข่าย Student syndrome ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) เฉยเมยต่อสิ่งใด ๆ ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เราป่วยหรือยัง 13 วิธีเอาชนะอารมณ์ซึมเศร้า ทำได้ง่ายจนคุณคาดไม่ถึง ขอบคุณข้อมูลจาก : medicalnewstoday.com, verywellmind.com
แสดงความคิดเห็น