แพนิกหลังแผ่นดินไหว อาการที่ชาวคอนโดหรือชาวออฟฟิศกำลังเป็นอยู่ตอนนี้ หลังเผชิญเหตุระทึกขวัญ แล้วจะมีวิธีรับมืออย่างไรให้ใจสงบลงบ้างนะ ช่วงนี้หลายคนมีอาการขวัญอ่อน นั่งอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกเหมือนตึกสั่น ตัวเอน ๆ ได้ยินเสียงของหล่นก็ผวา พอเห็นคนกลุ่มหนึ่งวิ่งก็พากันวิ่งตาม ทั้งที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น นี่อาจเป็นอาการแพนิกหลังแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ที่เกิดขึ้นได้หลังผ่านเหตุการณ์หนีตายจากแผ่นดินไหว มาหมาด ๆ แล้วเราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี ไม่ให้จิตตก วิตกกังวลไปหมดแบบนี้ อาการแพนิก (Panic Disorder) คือ โรคตื่นตระหนก เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกกลัวหรือตื่นตระหนกอย่างรุนแรงและฉับพลัน มักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สาเหตุของแพนิกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง รวมถึงเจอประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ดังนั้น ในกรณีที่เพิ่งประสบเหตุแผ่นดินไหวมาไม่นาน และต้องวิ่งลงตึกสูง หรือวิ่งหนีตายเอาตัวรอด ก็อาจมีอาการแพนิกหลังแผ่นดินไหวได้เช่นกัน คนที่มีอาการแพนิกหลังแผ่นดินไหวมักแสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น มีความรู้สึกเหมือนพื้นดินยังคงสั่นไหว หรือโคลงเคลง บ้านหมุน คล้ายกับเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ ทั้งที่ไม่มีการสั่นสะเทือนจริง ๆ ตกใจง่าย หวาดระแวงต่อสิ่งรอบข้างมากกว่าปกติ และมีความไวต่อสิ่งเร้าภายนอกที่มากระทบมากกว่าปกติ เช่น เสียงดัง เสียงที่คล้ายกับเหตุการณ์จริง รถใหญ่วิ่งแล้วสั่นสะเทือน หรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวที่ผิดปกติ รู้สึกตื่นตระหนกและหวาดกลัว ควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ที่เคยเกิดแผ่นดินไหว เช่น ตึกสูง มีอาการทางร่างกาย เช่น ใจหวิว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม ตัวสั่น มือสั่น รู้สึกชาตามร่างกาย คลื่นไส้ ปวดท้อง มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว เช่น ไม่อยากเข้าไปอยู่ในอาคารสูง หรือสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เพราะกลัวว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นอีก คิดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวซ้ำ ๆ นอนไม่หลับ เพราะวิตกกังวลมากเกินไป หรือถึงขั้นฝันร้าย เมื่อมีอาการแพนิกเกิดขึ้น ควรทำสิ่งต่อไปนี้ รับฟังและยอมรับความรู้สึกของตนเอง ความกลัว ความวิตกกังวล เป็นความรู้สึกปกติที่เกิดขึ้นได้ภายหลังเหตุการณ์รุนแรง หายใจเข้า-ออกลึก ๆ ช้า ๆ จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจสงบลง ทำสมาธิให้จิตใจผ่อนคลาย ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชอบ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อช่วยให้ลืมภาพความทรงจำร้าย ๆ พูดคุย ระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อน จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น หลีกเลี่ยงการรับข่าวสารที่กระตุ้นความวิตกกังวลมากเกินไป เช่น ปิดทีวี ไม่เล่นโซเชียลสักพัก จะได้ไม่ต้องดูข่าวหรือภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ซึ่งจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง ไม่รับข่าวสารจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเฟกนิวส์ (Fake News) ที่สร้างความตื่นตระหนก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายและจิตใจฟื้นตัว พยายามดำเนินชีวิตตามปกติ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคง หากมีอาการเวียนหัวสามารถกินยาแก้เวียนหัวได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันอาการตื่นตระหนกจากแผ่นดินไหวหรืออาฟเตอร์ช็อกที่อาจเกิดขึ้น เราสามารถเตรียมแผนสำรองและซ้อมรับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจยิ่งขึ้นหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจริง ๆ ดังนี้ โดยในกระเป๋าควรมีเอกสารสำคัญ (สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน), ไฟฉายพร้อมถ่านสำรอง, วิทยุแบบใช้แบตเตอรี่, พาวเวอร์แบงก์, อาหารแห้งและน้ำดื่ม, ยาและอุปกรณ์ปฐมพยาบาล, เงินสด, เสื้อผ้า 1-2 ชุด, ชุดชั้นใน, รองเท้า, ของใช้จำเป็นอื่น ๆ เช่น ผ้าอนามัย ถุงพลาสติก กระดาษชำระ กรรไกร มีด เชือก นกหวีด เบอร์โทร. ฉุกเฉิน ปากกา ถุงมือ เป็นต้น ตกลงกันในครอบครัวว่าจะไปรวมตัวกันที่ไหนหากพลัดหลงหรือติดต่อกันไม่ได้ หากอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน หรืออยู่สถานที่ไหน บันไดหนีไฟอยู่จุดไหน และจากสถานที่นั้นเราควรอพยพไปยังเส้นทางไหนเพื่อให้ถึงจุดนัดพบอย่างปลอดภัย เช็กสภาพบ้านของตัวเองว่าส่วนไหนที่ยังแข็งแรงดี หรือส่วนไหนเริ่มชำรุด ให้รีบซ่อมแซมส่วนที่อาจเป็นอันตราย โดยเฉพาะข้าวของที่อาจตกหล่นได้ เช่น กรอบรูป หนังสือ ของที่วางไว้บนหลังตู้ หากมีแรงสั่นสะเทือนอาจหล่นลงมาใส่ศีรษะ เราควรฝึกซ้อมการหมอบหลบใต้โต๊ะหรือเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว หรือลองวิ่งตามเส้นทางอพยพที่กำหนดไว้ โดยควรฝึกซ้อมเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชิน จะได้ไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจริง ๆ ควรศึกษาวิธีใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หมวกนิรภัย ถังดับเพลิง และเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือผู้อื่นได้ในกรณีฉุกเฉิน ท่องจำเบอร์โทร. สายด่วนต่าง ๆ รวมถึงช่องทางโซเชียลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเกิดเหตุจะได้ขอความช่วยเหลือได้เร็ว พยายามติดตามข่าวสารและเรียนรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหวจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น หน่วยงานราชการ สถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ สำหรับใครที่ยังรู้สึกไม่โอเค มีความเครียด วิตกกังวลมาก ๆ ต้องการความช่วยเหลือ ลองปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตฟรีได้ที่นี่ สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ศูนย์เยียวยาจิตใจ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์ Here 2 Heal ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านระบบแชตออนไลน์ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเป็นเรื่องปกติ แต่ร่างกายและจิตใจของเรามีกลไกในการฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ ซึ่งระยะเวลาในการฟื้นฟูจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จนวันหนึ่งเราจะสามารถปรับตัวกลับเข้าสู่จุดสมดุลได้เอง อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วหากอาการแพนิกยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิต แนะนำให้พบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปนะคะ Earthquake Sickness แผ่นดินไหวทำเวียนหัวไม่หาย ปวดหัววิง ๆ หมอแนะต้องทำยังไง แผ่นดินไหวทำไงดี ! รวมข้อควรปฏิบัติขณะเกิดแผ่นดินไหว โรคแพนิก ตื่นตระหนกจนป่วยทางจิต เช็กอาการสักนิดเราเป็นไหม เช็กอาการโรค PTSD หวาดผวา หลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต 8 วิธีแก้จิตตก เมื่อเสพข่าวร้าย ป้องกันป่วย Headline Stress ขอบคุณข้อมูลจาก : Thaipbs, สสส., กรมสุขภาพจิต (1), (2), ucihealth.org
แสดงความคิดเห็น