Spotlight Effect คิดว่าคนอื่นจับตามองหรือให้ความสนใจตัวเรามากกว่าความเป็นจริง เหมือนกับว่าเราอยู่ใต้สปอตไลต์กลางเวที คล้ายกับคนหิวแสง ทั้งที่ความจริงแล้วคนรอบข้างมักสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าเราเสียอีก สำคัญตัวเองผิดไป… บางครั้งเราอาจไม่เคยคิดถึงมุมนี้ แต่เคยรู้สึกไหมว่าเมื่อเราทำอะไรผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น สะดุดล้ม ทำน้ำหกใส่ตัวเอง หรือพูดผิดในที่ประชุม แล้วสมองก็พลันคิดไปว่าทุกคนต้องเห็นแน่ ๆ หรือเขาต้องหัวเราะเยาะเราแน่เลย ซึ่งหากใช่ คุณอาจกำลังตกอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Spotlight Effect โดยไม่รู้ตัว Spotlight Effect คือ อคติทางความคิด (Cognitive Bias) ชนิดหนึ่งตามหลักจิตวิทยา ที่ทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าตัวเองกำลังถูกจับตามองหรือเป็นจุดสนใจของผู้คนรอบข้างมากกว่าความเป็นจริง ราวกับว่ามีสปอตไลต์ส่องแสงมาที่เราอยู่ตลอดเวลา หรืออธิบายง่าย ๆ ได้ว่า เรามักจะคิดว่าคนอื่นสังเกตเห็นการกระทำ รูปลักษณ์ หรือแม้แต่ความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรา แล้วนำมาจับผิดหรือตัดสินอยู่เสมอ ทั้งนี้ Spotlight Effect จะเด่นชัดมากขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่ากำลังถูกประเมิน หรือเมื่อรู้สึกอยากให้คนอื่น ๆ ชื่นชอบเรา ผู้ที่มีภาวะ Spotlight Effect อาจแสดงอาการและความรู้สึกต่าง ๆ เช่น กลัวจะดูไม่ดีในสายตาคนอื่น : โดยมักจะหมกมุ่นกับการแต่งกาย ทรงผม หรือรายละเอียดเล็กน้อยบนร่างกาย เพราะเชื่อว่าคนอื่นสังเกตเห็นและอาจประเมินการแต่งกายของเรา ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีใครใส่ใจขนาดนั้น กลัวจะดีไม่พอ : กังวลว่านิสัยและความเป็นตัวเองจะไม่ดี และมักจะรู้สึกว่าทุกสายตาจ้องจะมองหาความบกพร่องของตัวเอง ทำให้เกิดความตึงเครียดและความกังวลอยู่เสมอเมื่ออยู่ในสังคม มองความผิดพลาดของตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ : แม้จะเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็กังวลเกินเหตุ เพราะรู้สึกว่าคนอื่นจ้องจะจับผิดเราอยู่ก่อนแล้ว สาเหตุของการเกิด Spotlight Effect เชื่อว่าเป็นกลไกทางจิตวิทยาหลายประการ ได้แก่ การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric Bias) : เรามักจะให้ความสำคัญกับความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ของตัวเองมากที่สุด และมักจะคิดว่าคนอื่นต้องคิดเหมือนกับเราแน่ ๆ ความคุ้นชิน : เราคุ้นเคยกับความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเองมากที่สุด ดังนั้น เมื่อมีบางสิ่งแตกต่างไปจากปกติของเรา เช่น วันที่สิวขึ้น วันที่ผมไม่เป็นทรง เราจึงมีแนวโน้มที่จะสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น และคิดว่าความผิดปกตินี้จะไปเตะตาคนอื่นได้เช่นกัน การยึดติดกับความคิดของตัวเอง (Anchoring Bias) : การมองแต่มุมของตัวเองโดยไม่ได้ใส่ใจกับความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น และมักจะยึดติดกับความคิดนั้นและประเมินว่าคนอื่นก็คิดเช่นเดียวกับเรา นักวิจัยพบว่า ผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) มีแนวโน้มจะเจอกับอาการ Spotlight Effect ได้ง่าย โดยภาวะ Spotlight Effect มักจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงาน หรือเกิดความรู้สึกไม่สบายใจเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากตัวโรคเป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม และจะมีความไวต่อพฤติกรรมของตัวเอง กังวลอย่างมากว่าคนอื่นกำลังตัดสินตัวเองอยู่แล้วนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การที่ตกอยู่ในภาวะ Spotlight Effect เป็นเวลานาน ๆ และสะสมความเครียดความกังวลเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ อาจทำให้กลายเป็นคนหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมไปเลยก็ได้ อีกทั้งยังอาจบั่นทอนสุขภาพใจและกายไปเรื่อย ๆ ด้วย Spotlight Effect ส่งผลกระทบต่อหลายด้านของชีวิต เช่น กลัวการเข้าสังคมรุนแรงขึ้น ขาดความมั่นใจในการเป็นตัวของตัวเอง เพราะพยายามทำตัวให้เป็นไปตามความคาดหวังหรือความพอใจของผู้อื่น จนเกิดความเก็บกด อัดอั้น ที่ไม่สามารถแสดงออกอย่างที่คิดและเป็นได้ การให้น้ำหนักกับความรู้สึกว่าถูกจับจ้องมากเกินไปอาจทำให้หลุดโฟกัสในตัวเอง อาจพบปัญหาด้านความสัมพันธ์ เพราะมัวแต่แคร์สายตาคนอื่นจนเกินไป การจดจ่ออยู่กับความคิดและความรู้สึกของตัวเองมากเกินไปอาจทำให้มองข้ามความรู้สึกของผู้อื่นได้ จนถูกมองเป็นคนขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ถ้าไม่อยากจมอยู่กับข้อเสียจากการเป็น Spotlight Effect ข้างต้น งั้นมาดูกันว่าจะรักษาอาการนี้ยังไงได้บ้าง ตามหลักการทางจิตวิทยาแล้ว แนวทางในการรักษาภาวะ Spotlight Effect จะมีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับความกังวลเมื่อต้องอยู่ในสังคมที่มีสายตาหลาย ๆ คู่จ้องมองอยู่ รวมทั้งช่วยปรับจูนความคิดว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้มีใครสนใจเรามากขนาดนั้น เพราะทุกคนก็มัวแต่ยุ่งเรื่องของตัวเองกันทั้งนั้น โดยจะเป็นกลุ่มยาคลายเครียด คลายกังวล ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรควิตกกังวลและโรคกลัวการเข้าสังคมด้วย นอกจากการรักษาตามกระบวนการทางการแพทย์แล้ว เราก็สามารถหาวิธีรับมือความคิดในแง่ลบกับตัวเองได้ด้วยวิธีที่ไม่ยากจนเกินไปด้วย แม้ว่า Spotlight Effect จะเป็นอคติทางความคิดที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะจัดการและลดผลกระทบของมันได้ ดังนี้ ตระหนักรู้ในตัวเอง : ทำความเข้าใจว่าเรากำลังประสบกับ Spotlight Effect หรือไม่ โดยลองสังเกตความคิดและความรู้สึกของตัวเองในสถานการณ์ที่ต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ปรับความคิด : พยายามมองสถานการณ์จากมุมมองของผู้อื่น ลองคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็มัวแต่ยุ่งเรื่องของตัวเอง และอาจไม่ได้มีเวลามาใส่ใจหรือสังเกตเรามากเท่าที่เราคิดก็ได้ ตั้งสติ : เมื่อรู้สึกกังวลว่าคนอื่นกำลังจับจ้องหรือตัดสินเรา ให้ลองตั้งสติและถามตัวเองว่ามีหลักฐานอะไรมายืนยันความคิดนั้นได้บ้าง เพ่งความสนใจไปที่คนอื่น : ลองเปลี่ยนความสนใจไปที่คนอื่นดูบ้าง โดยสังเกตว่าคนอื่นทำอะไร คอยฟังในสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างตั้งใจ จะช่วยให้เราละสายตาและความคิดจากตัวเองได้ ฝึกการเผชิญหน้า : ค่อย ๆ เผชิญหน้ากับสถานการณ์ทางสังคมที่เรากังวล เริ่มจากสถานการณ์ที่ไม่กดดันมากนัก และค่อย ๆ เพิ่มระดับความท้าทายไปเรื่อย ๆ เท่าที่ไหว ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควบคุมได้ : แทนที่จะกังวลเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้อื่น ให้โฟกัสไปที่การกระทำและทัศนคติของตัวเองซึ่งสำคัญกว่า ฝึกการให้อภัยตัวเอง : หากทำผิดพลาดให้ตระหนักว่าเป็นเรื่องปกติ และคนส่วนใหญ่มักจะให้อภัยและลืมเรื่องราวเหล่านี้ไปอย่างรวดเร็ว พูดคุยกับผู้อื่น : การแบ่งปันความรู้สึกกับเพื่อนสนิท คนในครอบครัว อาจช่วยให้เราได้รับมุมมองที่แตกต่างและรู้สึกสบายใจมากขึ้น จิตแพทย์คือคำตอบ : หากความรู้สึกประหม่าและอับอายเป็นปัญหาเรื้อรัง การปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะช่วยคุณได้ Spotlight Effect ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใด ๆ แต่เป็นเพียงภาพลวงตาทางความคิดของตัวเราเองที่ทำให้เราใส่ใจตัวเองมากเกินไป ดังนั้น ลองเริ่มลดไฟสปอตไลต์ลง แล้วมองโลกจากมุมที่กว้างขึ้น ซึ่งก็จะค้นพบได้ว่าไม่มีใครสนใจเรามากเท่าที่เราคิดหรอกนะคะ รู้จักบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม โรคจิตเวชที่ทำให้คนชอบแหกกฎ นึกถึงแต่ตัวเอง โรคหลงตัวเอง (Narcisisitic) เช็กสิคุณแค่มั่นหน้า หรือมีอาการป่วย ? รู้จักโรคไซโคพาธ ของคนชอบต่อต้านสังคม สำนึกผิดไม่เป็น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง People Pleaser คืออะไร ทำไมเราแคร์ทุกคนได้ ยกเว้นตัวเอง ?! คลั่งรัก อาการบ้ารักที่มีอยู่จริง และเป็นความผิดปกติทางจิตที่อาจต้องบำบัด ขอบคุณข้อมูลจาก : verywellmind.com, betterup.com
แสดงความคิดเห็น