ภาวะขาดน้ำ อันตรายที่คุณกำลังเสี่ยงอยู่หรือเปล่า

          รู้แล้วระวัง ! 14 สาเหตุของภาวะขาดน้ำที่คุณอาจคาดไม่ถึง อย่าละเลยจนสายเกินแก้ เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต



          น้ำ มีความสำคัญกับร่างกายของเราเป็นอย่างมาก รู้หรือไม่ว่าร่างกายของเรานั้นมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 70% โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คืออยู่ในเซลล์ต่าง ๆ 60% นอกเซลล์ 30% และอยู่ในเนื้อเยื่ออีก 10% ทำให้ร่างกายของเราไม่สามารถขาดน้ำได้เลย แต่ถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากมาย ก็ใช่ว่าเราจะหนีพ้นจากภาวะขาดน้ำเพราะภาวะขาดน้ำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อย่างที่เว็บไซต์ health.com นำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนั้น เรามาดูสาเหตุของการขาดน้ำกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างและควรป้องกันอย่างไร

ภาวะขาดน้ำ

          ภาวะขาดน้ำ เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่บางชนิดมากเกินไปจนทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งเกลือแร่ที่สำคัญ ได้แก่ โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ ไบคาร์บอเนต และแมกนีเซียม ภาวะขาดน้ำมักจะเกิดจากการท้องเสียอย่างรุนแรง หรือท้องร่วง พบได้สูงในเด็กโดยเฉพาะเมื่ออายุต่ำกว่า 5 ปี และในผู้สูงอายุ

          อาการของภาวะขาดน้ำจะแสดงออกโดยเริ่มจากการกระหายน้ำ ผิวแห้ง ริมฝีปากและช่องปากแห้ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และค่อนข้างซึม ปัสสาวะน้อย ท้องผูก ปวดศีรษะ มึนหัว วิงเวียน ถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น อาจจะทำให้เกิดอาการสับสน กระสับกระส่าย ตาลึกโหล ไม่มีเหงื่อ ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มมาก หรือไม่มีปัสสาวะเลย ชีพจรเต้นเร็ว หายใจถี่และเร็วขึ้น มีไข้ บางรายอาจจะเป็นไข้ต่ำ ๆ หรือไข้สูงได้ ความดันโลหิตต่ำลง จนอาจทำให้เกิดอาการเพ้อ ชัก และโคมา หากไปโรงพยาบาลไม่ทันการณ์อาจทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ โดยภาวะขาดน้ำนี้ นอกจากจะเกิดจากท้องร่วงอย่างรุนแรงแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุที่คุณคาดไม่ถึงได้ ดังนี้ค่ะ

ภาวะขาดน้ำ

เบาหวาน

          เบาหวานเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ เพราะโดยปกติแล้วร่างกายจะขับน้ำตาลในเลือดออกมาทางปัสสาวะ ถ้าปริมาณน้ำตาลยิ่งสูงก็จะยิ่งทำให้ปัสสาวะบ่อยมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และถ้าหากยังมีภาวะขาดน้ำอีก หรือยังปัสสาวะบ่อยเกินไปก็ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ถ้าหากคุณเกิดกระหายน้ำบ่อยมากเกินไป และมีอาการอื่น ๆ ของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่วมด้วยแล้วละก็ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างจริงจัง

ประจำเดือน

          ในช่วงเป็นประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) นั้นจะส่งผลกระทบต่อความชุ่มชื้นภายในร่างกายของสาว ๆ ทำให้คุณสาว ๆ จะต้องดื่มน้ำมากขึ้นเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าหากคุณมีอาการปวดเกร็งอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจาก PMS หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนด้วยละก็ คุณก็ควรที่จะดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อให้ร่างกายยังชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแพทย์หญิง Marielena Guerra ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีแพทย์ในฟอริด้า เปิดเผยว่า ผู้หญิงบางคนอาจมีประจำเดือนมามาก และทำให้เลือดที่สูญเสียไปมากพอที่จะทำให้น้ำในสูญเสียน้ำในร่างกายไปได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าเราสูญเสียน้ำมากเกินไปหรือไม่จากการนับจำนวนผ้าอนามัยที่เปลี่ยนต่อวัน หากมีการเปลี่ยนผ้าอนามัย ทุก ๆ 2 ชั่วโมงแล้วละก็ควรจะไปปรึกษาสูตินรีแพทย์จะดีที่สุดค่ะ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

          ยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะยาขับปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมียารักษาความดันโลหิต ที่จะทำให้ปัสสาวะบ่อย รวมทั้งยาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างเช่นท้องเสียหรืออาเจียนก็สามารถทำให้ขาดน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าหากในใบสั่งแพทย์ของคุณมียาประเภทเหล่านี้อยู่อย่าตกใจ แค่เพียงดื่มน้ำให้มากขึ้นและให้เพียงพอต่อร่างกายก็พอแล้วค่ะ

อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตน้อย

          โดยปกติแล้วคาร์โบไฮเดรตในร่างกายจะถูกสะสมเอาไว้ในรูปแบบของน้ำ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคุณจึงน้ำหนักลดลงเมื่อลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ถึงแม้ว่ามันจะทำให้ตัวเลขบนตาชั่งลดลง แต่การไม่กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเพียงพอก็อาจจะส่งผลต่อระดับความชุ่มชื้นในร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรที่จะรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเข้าไปให้เพียงพอและเหมาะสมกับร่างกาย โดยอาหารเหล่านั้นก็ได้แก่ ข้าวโอ๊ต เส้นพาสต้าแบบโฮลวีท เป็นต้น

ภาวะขาดน้ำ

ความเครียด

          เมื่อคนเราเกิดความเครียด ต่อมหมวกไตของเราก็จะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาและถ้าหากเจอความกดดันมาก ๆ เข้า ก็จะทำให้ต่อมหมวกไตทำงานอย่างหนักจนเกิดการอ่อนล้า และไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า อัลโดสเทอโรน (Aldosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำและของเหลวต่าง ๆ ในร่างกายได้ และเมื่อระดับของฮอร์โมนอัลโดสเทอโรนลดลงก็จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย แต่เราสามารถรักษาได้ด้วยการดื่มน้ำให้มาก ๆ แต่วิธีนี้ก็รักษาได้เพียงสั้น ๆ การลดความเครียดลงต่างหากที่เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ภาวะลำไส้แปรปรวน

          อาการลำไส้แปรปรวนไม่ได้มีแค่อาการคลื่นไส้และท้องเสียเรื้อรังเท่านั้น แต่ยังมีภาวะขาดน้ำที่เกิดมาจากการท้องเสียเรื้อรังอีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้น ซึ่งอาหารบางชนิดที่เลี่ยงไปอาจมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มาก ดังนั้นเราควรเลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบสูงเพื่อช่วยลดภาวะของการขาดน้ำซึ่งเกิดจากการท้องเสียเรื้อรังได้ค่ะ

ภาวะขาดน้ำ

การออกกำลังกาย

          คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าภาวะขาดน้ำที่มาจากการออกกำลังกายนั้นเป็นอาการที่ไกลตัว และจะเกิดขึ้นกับนักกีฬาเท่านั้น แค่เพียงคุณออกกำลังกายนาน ๆ จนเหงื่อออกติดต่อกันเป็นเวลานานแค่นี้ แล้วไม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอก็จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้แล้ว ดังนั้นถ้าหากคุณออกกำลังกายเสร็จแล้วควรดื่มน้ำอย่างน้อย 480 ถึง 600 มิลลิลิตร ก็จะทำให้คุณได้รับน้ำอย่างเพียงพอแล้วละค่ะ

การตั้งครรภ์

          ว่าที่คุณแม่หลาย ๆ คนคงเคยรู้สึกว่าทำไมตั้งท้องแล้วถึงรู้สึกบวม นั่นก็เป็นเพราะว่าร่างกายพยายามรักษาปริมาณของน้ำในร่างกายให้เพียงพอ เพราะเมื่อคุณผู้หญิงตั้งครรภ์ ระดับเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น นั่นจึงทำให้ร่างกายต้องการน้ำมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่ตั้งครรภ์แรก ๆ จะมีอาการแพ้ท้องและอาเจียนร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้ระดับน้ำในร่างกายของคุณลดลง แต่ถ้าหากคุณมีอาการแพ้ท้องมากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำตามมาด้วยละก็ ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีบรรเทาอาการแพ้ท้องค่ะ

อายุมากขึ้น

          เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ความสามารถในการรักษาระดับน้ำในร่างกายเอาไว้ก็น้อยลงและการยังทำให้กระหายน้ำน้อยลงอีกด้วย จึงมีโอกาสเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย ๆ และเมื่อระดับของเหลวในร่างกายต่ำก็จะทำให้เราทำอะไรได้ช้าลง ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขภาวะขาดน้ำเมื่อสูงวัยก็ควรจะเปลี่ยนจากการดื่มน้ำทุกครั้งที่รู้สึกกระหายเป็นการวางขวดบรรจุน้ำไว้ใกล้ ๆ ตัว และตามบริเวณต่าง ๆ ภายในบ้านเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ดื่มน้ำ แล้วก็หยิบน้ำขึ้นมาจิบบ่อย ๆ ก็จะทำให้ลดภาวะขาดน้ำได้ค่ะ

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

          แม้ว่าอาหารเสริมจะมีประโยชน์กับผู้ที่ขาดแร่ธาตุและสารอาหารบางชนิดในร่างกาย แต่สารสกัดจากพืชบางชนิดอย่างเช่น ผักชีฝรั่ง เมล็ดขึ้นฉ่าย ดอกแดนดิไลออน หรือแพงพวย ก็อาจจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นได้เช่นกันและนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้ ดังนั้น ก่อนรับประทานอาหารเสริมก็ควรศึกษาส่วนประกอบให้ดี และควรปรึกษากับนักโภชนาการ หรือแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านธรรมชาติบำบัดก่อนจะดีกว่านะคะ 

การอยู่ในพื้นที่สูง

          การปีนเขา หรือเดินทางไกลบนหุบเขาสูง ๆ จะทำให้ร่างกายของคุณเกิดการปรับตัวเพื่อให้ชินกับสภาวะอากาศโดยการหายใจเร็วขึ้น และทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งทั้งสองวิธีนี้จำเป็นต่อการปรับตัวให้ชินกับที่สูงและระดับออกซิเจนที่น้อยลง นอกจากการปัสสาวะบ่อยแล้ว การหายใจบ่อย ๆ ก็จะทำให้น้ำในร่างกายระเหยออกมาเป็นไอผ่านการหายใจมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ค่ะ

ภาวะขาดน้ำ

การดื่มแอลกอฮอล์

          ภาวะขาดน้ำเป็นอาการที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง เนื่องจากแอลกฮอล์นั้นจะทำให้เรารู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นจนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ นอกจากนี้เอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (alcohol dehydrogenase) และเอนไซม์อัลดีฮายด์ดีไฮโดรจีเนส (acetaldehyde dehydrogenase) ที่ตับสร้างขึ้นเพื่อกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายนั้นก็ยังต้องใช้น้ำในการย่อยสลายแอลกอฮอล์อีกด้วย ยิ่งถ้าดื่มแอลกอฮอล์มากก็ยิ่งต้องใช้น้ำจำนวนมากในการย่อยสลายแอลกอฮอล์ จึงเป็นสาเหตุของภาวะขาดน้ำค่ะ

กินผักและผลไม้น้อย

          ถ้าหากคุณเป็นคนที่ไม่ชอบทานผักและผลไม้ แถมยังไม่ค่อยชอบดื่มน้ำด้วยละก็ เตรียมพบกับภาวะขาดน้ำได้เลยค่ะ เพราะในผักและผลไม้เพียงครึ่งจานก็มีปริมาณน้ำสูงเท่ากับปริมาณน้ำ 2 แก้ว จากทั้งหมดที่ควรดื่มต่อวันเลยล่ะ ดังนั้น ถ้าหากไม่ชอบทานผักผลไม้ ก็ควรจะดื่มน้ำบ้าง และควรดื่มให้มากกว่าปกติด้วย แต่ถ้าใครที่ชอบทานผักผลไม้อยู่แล้ว ถ้าอยากจะดื่มน้ำมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้นะคะ แถมจะดีอีกด้วย เพราะจะทำให้ห่างไกลจากภาวะขาดน้ำได้อย่างแน่นอนเลย

การให้นมบุตร

          การให้นมบุตรสามารถทำให้เกิดภาวะการขาดน้ำและแร่ธาตุบางชนิดได้ เพราะน้ำและแร่ธาตุเหล่านั้นจะไปอยู่ในน้ำนมที่จะให้แก่ทารก ดังนั้นหากคุณแม่คนไหนกำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตรก็ควรที่จะดื่มน้ำให้มากขึ้น แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในการผลิตน้ำนมด้วย ควรจะไปปรึกษาแพทย์ค่ะ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะขาดน้ำ


          ภาวะขาดน้ำ สามารถส่งผลต่อร่างกายได้อย่างคาดไม่ถึง จึงควรระมัดระวังให้มาก ๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยก็วันละ 6 - 8 แก้ว อย่ามัวแต่กลัวว่าดื่มน้ำบ่อยแล้วจะเข้าห้องน้ำบ่อยเลยค่ะ เพราะการดื่มน้ำเยอะแล้วต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ก็ดีกว่าเกิดภาวะขาดน้ำจนต้องเข้าโรงพยาบาลนะคะ

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะขาดน้ำ อันตรายที่คุณกำลังเสี่ยงอยู่หรือเปล่า อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 17:54:59 71,087 อ่าน
TOP
x close