x close

เพ้อคลั่ง อาการทางจิตอันตราย ที่คนใกล้ชิดต้องสังเกต

อาการทางจิตอันตราย

อาการเพ้อคลั่ง (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ อายุรแพทย์ สาขาประสาทวิทยา

          รู้จักอาการเพ้อคลั่ง ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้คลุ้มคลั่ง เอะอะโวยวายเหมือนชื่ออาการ ทำให้คนใกล้ชิดดูไม่ออก กว่าจะรู้ตัวก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตไปแล้ว


          อาการเพ้อคลั่ง ภาษาอังกฤษเรียก delirium เป็นกลุ่มอาการที่มีลักษณะจิตสับสน พักไม่ได้ กระวนกระวาย ขาดสมาธิวอกแวกง่าย ความจำเสื่อม ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการประสาทหลอน หลงผิด ความจำระยะสั้น มักคิดว่ามีคนจะมาทำร้ายจึงมีท่าทางก้าวร้าว ม่านตาขยาย หัวใจเต้นแรงและเร็ว เหงื่อออกมาก พักแทบไม่ได้ เป็นอันตรายแก่ชีวิต

          อาการเพ้อคลั่ง อาจเป็นเรื่องของวิกลจริตเฉียบพลัน หรือเป็นอาการผิดปกติของสมองที่มีสาเหตุทางกาย ทั้งประเภทที่มีความผิดปกติของสมองโดยตรง และประเภทที่สมองทำงานผิดปกติอันเนื่องมาจากอวัยวะอื่นของร่างกายทำงานไม่ปกติ


          ภาวะนี้เป็นการเกิดแบบเฉียบพลัน มักจะเกิดขึ้นภายในเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน มักเป็นอยู่ชั่วคราว ซึ่งหมายถึงว่า ไม่หายเร็วก็เสียชีวิตเร็ว เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยหนักแต่มักถูกมองข้าม เพราะส่วนใหญ่จะมีอาการของโรคอื่นบดบังอยู่ และแพทย์มักมุ่งความสนใจเฉพาะโรคหลักที่จำเป็นต้องให้การรักษา

อาการทางจิตอันตราย

          นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการสับสนทางจิตเข้าข่ายกลุ่มอาการเพ้อคลั่ง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเอะอะโวยวาย ตรงกันข้ามอาจดูเซื่องซึมผิดปกติ เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่ลอยน้ำ ส่วนที่เห็นคือยอดภูเขาที่โผล่พ้นน้ำเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จมน้ำจึงมองไม่เห็น พวกเซื่องซึมจะมีอันตรายมากกว่าพวกเอะอะ โวยวาย แต่กลับถูกมองข้ามได้ง่ายกว่า

          ลักษณะที่ชวนให้นึกถึงภาวะเพ้อคลั่ง คือการที่ผู้ป่วยขาดสมาธิ ไม่ค่อยสนใจในเรื่องที่สนทนากัน ต้องพูดหรือถามซ้ำ ๆ กว่าจะรู้เรื่อง ทั้งญาติและผู้ให้การรักษาพยาบาลควรตระหนักไว้ มิเช่นนั้นจะถูกมองข้ามไป ขอย้ำว่าอาการนี้ไม่จำเป็นต้องเอะอะ หรือกระวนกระวายมากจึงจะเรียกว่า เพ้อคลั่ง ตามคำจำกัดความเดิม

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ

          ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของภาวะเพ้อคลั่ง มีหลายอย่าง ดังนี้
          อายุมาก มีโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคสมองเสื่อมร่างกายทรุดโทรม เคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงเกือบตลอดเวลา หรือเป็นโรคจิต
          สมองผิดปกติจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การบาดเจ็บที่ศีรษะ และสมองอักเสบ เป็นต้น
          การติดเชื้อรุนแรง
          การทำงานไม่ปกติของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ ไต หัวใจ ปอด ทางเดินอาหาร และต่อมไร้ท่อต่าง ๆ
           ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากสาเหตุต่าง ๆ
          การเสพสารเสพติด หรืออาการเสี้ยนยาเมื่อยหยุดเสพ เช่น สุรา แอลกอฮอล์ ยาบ้า และยาระงับประสาทต่าง ๆ เป็นต้น
          การใช้ยาหลายขนานพร้อมกัน
           ความเจ็บปวดจากสาเหตุต่าง ๆ
           การอดนอน ท้องผูก ปัสสาวะคั่งค้าง แปลกสถานที่ หรือถูกรบกวนบ่อย ๆ

อาการทางจิตอันตราย

การรักษา

          ควรมุ่งแก้ไขที่ต้นเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับประสาท ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยเอะอะโวยวายมากจนพักไม่ได้ หรืออาจได้รับอันตรายจากอาการเพ้อคลั่ง ควรหลีกเลี่ยงการรบกวนผู้ป่วย จัดให้ผู้ป่วยพักอยู่ในห้องที่เงียบสงบ มีแสงไฟสลัว มีคนคุ้นเคยเฝ้าดูแล คอยปลอบเวลามีอาการไม่สงบ หลีกเลี่ยงการผูกมัด

          ในกรณีที่ญาติของท่านเจ็บป่วยจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ท่านต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวและใช้ยาอะไรเป็นประจำ รวมทั้งแจ้งด้วยว่าผู้ป่วยดื่มสุราเป็นประจำหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งที่แพทย์ละเลยข้อมูลเหล่านี้ จนผู้ป่วยเกิดอาการเพ้อคลั่ง เป็นภาวะแทรกซ้อนไปกับโรคหลักที่เป็นสาเหตุให้เข้ารับการรักษา อาการเพ้อคลั่งนั้นอาจเกิดจากการหยุดใช้ยาหรือหยุดดื่มสุรา


          ภาวะเพ้อคลั่ง ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดอันตรายและเพิ่มความยุ่งยากในการดูแลรักษา ยังทำให้ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรต่าง ๆ และยังมีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งในขณะอยู่โรงพยาบาลและเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยหนัก

          ถ้ามีอาการเพ้อคลั่งจะมีอัตราตายสูงขึ้น มีโอกาสเกิดสมองเสื่อมมากขึ้น ดังนั้นทั้งฝ่ายญาติและฝ่ายผู้ให้การรักษาพยาบาลควรให้ความสนใจและเฝ้าสังเกตผู้ป่วยทุกราย โดยเฉพาะรายที่ป่วยหนัก และมีลักษณะเซื่องซึม




เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

          ลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ            




ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพ้อคลั่ง อาการทางจิตอันตราย ที่คนใกล้ชิดต้องสังเกต อัปเดตล่าสุด 5 พฤศจิกายน 2557 เวลา 17:14:44 13,500 อ่าน
TOP