ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant
รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย กินกล้วยตอนท้องว่างได้ ถ้าไม่ได้เป็นกรดไหลย้อน
เป็นประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพและอาหารการกินที่หลายคนสงสัยกันมานานว่า "กินกล้วยตอนท้องว่าง ได้หรือไม่" หลังจากมีข้อมูลถูกส่งต่อกันมากในโลกออนไลน์ เรื่อง "5 สิ่งที่ไม่ควรทานขณะท้องว่าง" ซึ่งหนึ่งในนั้นมีกล้วยรวมอยู่ด้วย โดยระบุว่า "กล้วย เมื่อทานขณะท้องว่างจะทำให้ปริมาณธาตุแมกนีเซียมในเลือดสูงขึ้น จนสูญเสียสัดส่วนของแคลเซียมและแมกนีเซียมไป เป็นการยับยั้งการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ"
อย่างไรก็ดีล่าสุด (9 ธันวาคม 2557) รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลโต้แย้งกับข้อเขียนข้างต้น ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant โดยยืนยันว่า ท้องว่างก็สามารถกินกล้วยได้ ไม่มีปัญหาอะไร หากไม่ได้เป็นกรดไหลย้อน ซึ่งมีข้อความทั้งหมด ดังนี้
"ท้องว่างก็กินกล้วยได้ (ถ้าไม่ได้เป็นกรดไหลย้อน)"
กล้วยอุดมด้วยแมกนีเซียมก็จริง แต่ถึงกินเข้าไปตอนท้องว่าง มันก็ไม่ได้จะเพิ่มระดับแมกนีเซียมในเลือดปรู้ดปร้าด อันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจอย่างที่กลัวกัน
แมกนีเซียมนั้นจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก ไม่ใช่ที่กระเพาะ กล้วย 1 ลูกหนักประมาณ 100 กรัม มีแมกนีเซียม 43 มิลลิกรัมและดูดซึมเพียง 30% หรือประมาณ 12.3 มิลลิกรัม ขณะที่ระดับแมกนีเซียมสูงสุดที่ร่างกายไม่ควรได้เกิน คือ 700 มิลลิกรัมต่อวัน ...แปลว่า ต้องกินกล้วยมากถึง 55 ลูก !! จึงจะเป็นปัญหาได้
บางคนอ้างต่อถึงโปแตสเซียมในกล้วยที่มีอยู่สูง (นักกีฬาจึงนิยมกินกล้วย เพื่อเสริมเกลือแร่ระหว่างแข่งขัน) ว่าจะเป็นปัญหาต่อหัวใจเช่นกัน ซึ่งก็ไม่ใช่อีก เพราะไตสามารถขับเกลือแร่ต่าง ๆ ส่วนเกิน อย่างเช่น โปแตสเซียม ได้มากถึง 30,000 มิลลิกรัมต่อวัน
แต่จากการที่กล้วยมีน้ำตาลสูง ทำให้เมื่อกินเข้าไปแล้ว กระเพาะจะหลั่งน้ำย่อยออกมามาก และอาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ในบางคน
สรุปว่า คนปรกติทั่วไป สามารถกินกล้วยได้เวลาท้องว่าง ไม่เป็นปัญหาอะไร ... แค่แนะนำให้ค่อย ๆ เคี้ยว อย่าอมกลืนไปทั้งลูก เดี๋ยวติดคอตาย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก