สรรพคุณว่านหอม พืชสมุนไพรที่ไม่ใช่แค่ใช้ในการขจัดปัดเป่าเคราะห์กรรมตามชื่อ แต่ยังช่วยดูแลสุขภาพในอีกหลาย ๆ ด้าน
ว่านหอม ฟังชื่ออาจไม่คุ้นหูนัก แต่เราอยากให้รู้จักกันไว้ค่ะ เพราะว่านหอมเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ไม่น้อย และสรรพคุณเด็ดของพืชชนิดนี้ก็คือ ช่วยให้หลับสบายและผ่อนคลาย ลองมารู้จักประโยชน์ของว่านหอม จาก ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ให้ข้อมูลไว้ในนิตยสาร Happy+ กันค่ะ
ในบรรดาพืชที่มีกลิ่นหอมทั้งหมด ดูเหมือนว่านหอมจะเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณครอบคุลมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปราบมาร ขจัดปัดเป่าเคราะห์กรรมและสิ่งที่ไม่เป็นมงคล รวมถึงคุณทางเมตตามหานิยม และยังมีสรรพคุณทางสารพัด ทั้งแก้สิวฝ้า ยากันแดด แก้ปวด แก้อักเสบ แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเชื้อโรค และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย
"ว่านหอม" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia Gaianga Linn. อยู่ในวงศ์ ZINGBERACEAE มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่าง ๆ ว่า ว่านตีนดิน, ว่านแผ่นดินเย็น, หอมเปราะ, ชู, เปราะป่า เป็นต้น ว่านหอมเป็นพรรณไม้ลงหัว หัวมีลักษณะกลมเล็ก ใบมีลักษณะเป็นม้วนแทงขึ้นมาจากดิน ถ้าใบแก่จะคลี่ใบออก ใบกลมแผ่อยู่ติดดิน หน้าใบมีสีเขียว ส่วนท้องใบเป็นสีนวล ดอกแตกขึ้นมาตรงกลาง ยอดเป็นดอกสีขาวเล็ก ๆ สวยงาม ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ
ว่านหอม เป็นว่านที่คนอีสานกับคนไทยใหญ่เรียกชื่อเหมือน ๆ กันมีความเชื่อและการใช้ประโยชน์แบบเดียวกัน ในวันสงกรานต์นิยมใส่ว่านหอมพร้อมกับผักส้มป่อยในขันใส่น้ำพระและรดพรจากผู้ใหญ่ เพราะเชื่อว่าความหอมจะเชิญทวยเทพเทวดาทุกชั้นฟ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลโลกมาประทานพรให้
นอกจากนี้ว่านหอมยังใช้เป็นยาบดเป็นผงใส่ในข้าว "ซอมตอ" ที่คนไทยใหญ่ใช้บูชาพระพุทธ หรือทุบหัวใส่ในน้ำที่ใช้นึ่งข้าว ข้าวจะหอม ใช้บูชาพระพุทธหรือใช้รับประทาน
ว่านหอมเป็นยาสำคัญของหมอยาไทยใหญ่ แทบจะกล่าวได้ว่ายาหอมทุกตัวของหมอยาไทใหญ่จะใส่ว่านหอมลงไปเสมอ ซึ่งเชื่อว่าสรรพคุณที่สำคัญของว่านหอมคือ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ยาจุดเอาไอรมของไทยใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่ามีสรรพคุณในการช่วยให้นอนหลับและคลายเครียดคือ ยาที่มีส่วนผสมของว่านหอม แหน่งหอม อุปากะสะ (รากดำยาน) และดอกไม้ไหวโดยจะบดส่วนผสมนี้ให้เป็นผงแล้วโรยเข้าไปในไฟ เมื่อได้กลิ่นอายของควันจะช่วยทำให้นอนหลับ
ว่านหอมมีสรรพคุณที่เหมาะในการทำธูปหลับ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้การดูแลสุขภาพภาคประชาชนด้านการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรมีการสาธิตและสอนฟรีให้แก่ประชาชนที่สนใจ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ณ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
การทำธูปหลับนั้น เป็นกิจกรรมในการทำธูปเพื่อผ่อนคลาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องการนอนไม่หลับ โดยสมุนไพรหลักที่ใช้ คือยางบง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้ง่าย แตกหน่อได้ดี เนื้อไม้เหมาะสำหรับใช้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้และใช้ทำเชื้อเพลิง รวมทั้งว่านหอม พืชคลุมดินที่ชอบความชุ่มชื้น พบทั่วไปในป่า
นอกจากนี้ยังมีการนำมาปลูกเป็นสมุนไพรและอาหารตามบ้านเรือนทั่วไป สำหรับการใช้ประโยชน์นั้น นิยมนำส่วนหัวโดยโขลกทั้งหัว และใบใส่น้ำลงไปพอชุ่ม เอาผ้าไปชุบ แล้วนำผ้าไปคลุมหัวไว้ เป็นยาแก้ปวดหัวคลายเครียด นอกจากนี้มีการผสมใส่ลงในยาหอมเพื่อบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท และยังมีการแนะนำให้ใช้ว่านหอมต้มหรือชงกินเพื่อช่วยให้นอนหลับคลายเครียด เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง สำหรับการนำมาผสมกับธูปนั้น จะใช้หัวของว่านหอมเป็นส่วนผสม
การทำธูปหลับ ผ่อนคลายความเครียด
ส่วนผสม
1. เปลือกต้นบง สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากให้แห้ง 2 ส่วน
2. หัวว่านหอม 1 ส่วน
3. ก้านธูปทำจากไม้ไผ่ตากให้แห้ง
4. น้ำสะอาดหรือน้ำที่มีกลิ่นหอมตามต้องการ
วิธีทำ
1. นำสมุนไพรที่เตรียมไว้ทั้งหมดมาสับให้ละเอียด และผึ่งแดดให้แห้งสนิท
2. นำสมุนไพรผึ่งแห้งแล้วแต่ละชนิดเข้าเครื่องบด เพื่อให้สมุนไพรมีความละเอียด
3. ร่อนด้วยตะแกรงหรือใช้ผ้าขาวบางกรองอีกครั้งหนึ่ง เอาเฉพาะส่วนที่เป็นผง เพื่อเวลาปั้นจะได้ง่าย หากสมุนไพรหยาบเกินไปจะทำให้ปั้นไม่ได้
4. นำผงว่านหอมมาคุกกับเปลือกต้นบง
5. ใช้มือคลึงให้สมุนไพรเสมอกัน
6. นำธูปที่ได้จุ่มกับน้ำสะอาดหรือน้ำที่มีกลิ่นหอมตามต้องการแล้วนำขึ้นมาคลึงกับผงธูปอีกครั้ง โดยทำในลักษณะเช่นนี้ 3-5 ครั้ง
7. จากนั้นนำธูปใบตากแดดให้แห้งสนิท แล้วบรรจุลงห่อ
เคล็ดลับการทำ
ในการคลึง ผู้ทำควรใช้มือคลึงให้เสมอกัน เพราะถ้าคลึงสมุนไพรไม่แน่นจะทำให้แตกง่าย และห้ามนำธูปไปตากแดดจัด ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร