6 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ รู้จักไว้ปลอดภัยกว่า

6 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ รู้จักไว้ปลอดภัยกว่า



           โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่ควรรู้จัก แม้บางโรคมักจะพบในต่างประเทศ ดูเหมือนไกลตัวเรา แต่ถ้ารู้ข้อมูลเอาไว้บ้างก็ไม่เสียหาย 

          อากาศหนาว ๆ อาจนำพาโรคระบบทางเดินหายใจแวะเวียนมาหาได้ ถ้าเราไม่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่โรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้นที่คนจะป่วยกัน เพราะยังมีอีกหลายโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือหากเดินทางไปต่างประเทศ ก็เสี่ยงต่อการพบเจอไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น ๆ รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่ติดต่อกันได้ ลองมาทำความรู้จักโรคเหล่านี้ที่เว็บไซต์ health.com  ให้ข้อมูลไว้ จะได้ระมัดระวังตัว

1. โรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดู

          โรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดู เป็นโรคไข้หวัดที่สามารถเกิดได้ทั่วไป มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส และสามารถแพร่กระจายได้ในอากาศผ่านระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถหายได้ภายในเวลา 1 สัปดาห์ อาการที่เห็นได้ชัดส่วนใหญ่ได้แก่ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูกและน้ำมูกไหล หากเป็นเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุจะมีภาวะเสี่ยงต่อการแทรกซ้อนสูง คนกลุ่มนี้จึงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนค่ะ วิธีการป้องกันก็คือ ไม่ควรอยู่ใกล้คนที่มีอาการป่วย และหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

2. ไข้หวัดใหญ่ H1N1 (ไข้หวัดใหญ่ 2009)

          ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เป็นอีก 1 สายพันธุ์ของโรคไข้หวัดหมู และเคยระบาดอย่างหนักในช่วงปี 2009 จึงทำให้ไข้หวัดชนิดนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 อาการโดยรวมนั้นเหมือนจะไม่แตกต่างจากโรคไข้หวัดหมูสักเท่าไร แต่หากผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป อาการจะรุนแรงกว่าผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้เร็วเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดู อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโรคไข้หวัด H1N1 ลดระดับลงเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ประจำฤดู และมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะค่ะ

3. ไข้หวัดนก (Avian flu)

6 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ รู้จักไว้ปลอดภัยกว่า

          หลาย ๆ คนคงจะพอจำได้ว่าเจ้าโรคไข้หวัดนกก็เคยเข้ามาระบาดในประเทศไทยอยู่พักหนึ่ง และสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับคนไทยไม่น้อย ซึ่งจริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากนกเท่านั้น แต่เป็นสัตว์ปีกทุกชนิด โดยสายพันธุ์ที่เคยระบาดในไทย ได้แก่ H5N1 มีความอันตรายสูง
 
          อาการของโรคนี้เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการไข้และไอ รวมทั้งหายใจได้ลำบาก มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60% และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ได้รับรายงานการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกแล้ว แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออก รวมทั้งประเทศไทย วิธีการป้องกันไข้หวัดที่ง่ายที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกทุกชนิด ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ปีกที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก รวมทั้งไข่ดิบก็ควรหลีกเลี่ยงค่ะ

4. ไข้หวัดหมู (Variant Flu)

          นอกจากโรคไข้หวัดนกแล้ว ก็ยังมีไข้หวัดอีกชนิดหนึ่งที่อันตรายและมาจากสัตว์เหมือนกันนั่นก็คือไข้หวัดหมู มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า H3N2V ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในหมู โดยคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ประจำฤดู เนื่องจากอาการใกล้เคียงกัน แต่ความรุนแรงของเจ้าโรคนี้มีมากกว่า
 
          อย่างเช่นในปี 2012 มีหญิงสูงอายุคนหนึ่งที่มีปัญหาสุขภาพป่วยด้วยโรคนี้และเสียชีวิต แต่ถึงอย่างไรก็ตามโรคไข้หวัดหมูนี้ก็ยังมีความอันตรายน้อยกว่าไข้หวัดนกอยู่มาก เพราะไม่สามารถติดต่อกันได้ง่ายเหมือนกับไข้หวัดนกที่มาจากสัตว์ปีก แต่จะติดก็ต่อเมื่อเรารับประทานเนื้อหมูที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปโดยไม่ได้ทำให้สุกเสียก่อนเท่านั้น ซึ่งวิธีการป้องกันก็คือการปรุงเนื้อหมูให้สุก และเลือกซื้อเนื้อหมูที่ถูกสุขอนามัยมารับประทานค่ะ

5. โรคอีโบลา (Ebola)

อีโบลายังวิกฤต แพทย์อิตาลีติดเชื้อเป็นรายแรก
ภาพประกอบจาก MARCO BERTORELLO / AFP

          ในเวลานี้คงไม่มีโรคได้ที่สร้างความหวาดวิตกให้กับคนทั่วโลกไปได้มากกว่าโรคอีโบลาอีกแล้ว เพราะปัจจุบันนี้โรคนี้ก็ยังไม่สามารถหาทางรักษาและป้องกัน หรือยับยั้งการแพร่ระบาดได้ 100% โดยการระบาดครั้งล่าสุด ถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก และแพร่ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2014 เนื่องมาจากการส่งตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้ออีโบลากลับมารักษาที่สหรัฐฯ ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้ในสหรัฐฯ จะสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว แต่ในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกก็ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 5,000 คน 

          สาเหตุของโรคอีโบลาเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และการสัมผัสกับสัตว์หรือมูลของสัตว์ โดยเฉพาะค้างคาวในถ้ำ ทั้งนี้มีงานวิจัยของอินเดียพบว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีโครงสร้างเป็นไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) เหมือนกัน

          อาการของโรคอีโบลานั้นจะเริ่มแสดงให้เห็นหลังจากรับเชื้อเข้าไปแล้ว 2 - 21 วัน ในระยะแรกจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ท้องร่วง หลังจากนั้นอาการจะเริ่มหนักขึ้น ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้ถ่ายเป็นเลือด ตาแดง มีผื่นนูน ไอ เจ็บหน้าอก จุกแน่นบริเวณกระเพาะอาหาร น้ำหนักลด มีเลือดออกทางจมูก ปาก หู ตา และทวาร และอวัยวะเพศบวม นอกจากนี้ยังมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อันตราย ได้แก่ ระบบอวัยวะล้มเหลว เลือดออกรุนแรง ดีซ่าน สับสน ชัก และหมดสติเข้าสู่ภาวะโคม่า แม้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็ต้องใช้เวลานับเดือนกว่าร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติ


ุ6. โรคไข้ไวรัสโคโรน่า (MERS)

6 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ รู้จักไว้ปลอดภัยกว่า

          โรคชนิดนี้เป็นโรคที่มีต้นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง โดยล่าสุดในปี 2012 มีการรายงานข่าวจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ว่า เกิดการระบาดอย่างหนัก เป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย โดยพบว่ามีสาเหตุมาจากอูฐและค้างคาว เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีอาการได้แก่ ไอ มีไข้ หายใจลำบาก ในคนที่เป็นโรคไข้หวัดก็มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ โดยประมาณร้อยละ 15 การติดเชื้อไวรัสทั้งหมด 
 
          บางรายที่มีการติดเชื้ออาจจะไม่มีการแสดงอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไปและหายได้ปกติ แต่ในบางรายจะมีอาการทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย มวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน หากมีอาการรุนแรงก็จะทำให้เกิดภาวะปอดบวม และอาจเสียชีวิตได้ และเนื่องจากยังเป็นโรคที่เพิ่งอุบัติขึ้นจึงทำให้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำได้เพียงแค่รักษาตามอาการค่ะ

ไข้หวัด 


ไข้หวัดใหญ่ ป้องกันอย่างไรดี

          สำหรับในประเทศไทย มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลมากที่สุด ซึ่งในแต่ละปีก็พบผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลย เราลองมาดูวิธีป้องกันตัวเองให้ห่างจากโรคไข้หวัดใหญ่กันค่ะ
 
1. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

          ในปัจจุบันนี้โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย คุณและคนในครอบครัวก็ควรจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งค่ะ

2. ล้างมือบ่อย ๆ

          การล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยทำให้คุณปลอดภัยจากเชื้อไวรัสต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจึงควรล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสกับสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร ถ้าหากไม่สะดวกจะล้างมือก็ควรพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้เพื่อทำความสะอาด นอกจากนี้ยังไม่ควรเอามือไปสัมผัสบริเวณดวงตา จมูก และปาก โดยที่ยังไม่ได้ล้างมือเพราะจะทำให้ป่วยได้ง่ายค่ะ

3. เลี่ยงการออกไปยังที่สาธารณะเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

          หากคุณเกิดเป็นไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาละก็ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังผู้อื่น ก็คือ การพักผ่อนอยู่บ้าน เลี่ยงการเดินทางไปในที่สาธารณะต่าง ๆ เพราะในช่วง 5 -7 วันแรกที่อาการของไข้หวัดใหญ่แสดงออกมานั้นเชื้อโรคจะสามารถแพร่กระจายออกไปได้โดยที่คุณไม่รู้ตัว ดังนั้นควรจะหยุดพักอยู่ที่บ้านและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งดื่มน้ำและรับประทานยาตามแพทย์สั่งค่ะ

          เชื้อโรคนั้นล่องลอยอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ถ้าเราไม่อยากให้เจ้าเชื้อโรคเหล่านี้เข้ามาทำร้ายสุขภาพของเราละก็ ทางที่ดีที่สุดก็คือต้องหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองให้มาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำได้ทั้งหมดนี้ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีเชื้อโรคใด ๆ มาทำให้เราป่วยอย่างแน่นอนค่ะ










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ รู้จักไว้ปลอดภัยกว่า อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2558 เวลา 16:15:34 34,389 อ่าน
TOP
x close