กินติดหวานเป็นประจำ เสี่ยงเป็นคนความจำสั้นโดยไม่รู้ตัว

กินติดหวานเป็นประจำ เสี่ยงเป็นคนความจำสั้นโดยไม่รู้ตัว  
  
 
          ระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่ได้เป็นตัวการทำให้เราป่วยแค่โรคเบาหวานเพียงโรคเดียวซะแล้ว แต่ยังทำให้เรากลายเป็นคนป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย

          ใครที่เริ่มมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ จดจำอะไรในเวลาอันสั้นไม่ได้ ขอบอกไว้เลยว่ากระบวนการเรียนรู้และจดจำของระบบประสาทและสมองกำลังมีปัญหา และควรหันมาสำรวจพฤติกรรมการกินของตัวเองอย่างด่วนเลยว่าเป็นคนกินติดหวานหรือเปล่า เพราะจากข้อมูลในเว็บไซต์  articles.mercola.com  บอกเอาไว้ว่า ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมีผลทำให้เรากลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ซึ่งหากเป็นแบบนี้บ่อย ๆ อาการอาจลุกลามไปถึงขั้นความจำเสื่อมได้ แต่สาเหตุที่แท้จริงจะเป็นเพราะอะไร ก็ต้องอ่านดูกันจ้า
 
ระดับน้ำตาลในเลือดนั้นสำคัญไฉน

กินติดหวานเป็นประจำ เสี่ยงเป็นคนความจำสั้นโดยไม่รู้ตัว

          ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าร่างกายมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับที่เป็นปกติหรือไม่ โดยปกติแล้วค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 80-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่านี้ คืออยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หรือถ้ามีน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 180 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แสดงว่ากำลังเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้แล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดยังมีผลต่ออาการของภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย และช่วงวัยที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 63 ปีขึ้นไปที่อาจจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 หรืออยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยงเป็นเบาหวาน (Prediabetes) ก็สามารถมีอาการของภาวะสมองเสื่อมได้จากผลของการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
 
อาการขี้ลืมเกิดจากการที่สมองไม่ตื่นตัว

          โดยธรรมชาติของสมองฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) หรือสมองในส่วนการเรียนรู้และจดจำในร่างกายเราจะทำงานได้ดีในสภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ โดยทำงานสัมพันธ์กับตับอ่อนที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ แต่ถ้าเมื่อไรที่มีระดับน้ำตาลสูงมากเกินไปจนร่างกายปรับสมดุลไม่ทัน น้ำตาลจะไปยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเลปติน หรือฮอร์โมนอิ่ม ส่งผลต่อการเรียนรู้และจดจำของสมองในส่วนฮิปโปแคมปัสให้มีการตอบสนองได้ช้ากว่าปกติ ผลคือ สมองจดจำอะไรได้ไม่ดี ร่างกายเฉื่อยชาและอ่อนเพลีย
 
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำ ระวังโรคอัลไซเมอร์ถามหา

กินติดหวานเป็นประจำ เสี่ยงเป็นคนความจำสั้นโดยไม่รู้ตัว

          ระดับน้ำตาลในเลือดสูงก็มีผลทำให้สมองของเราประมวลผลช้าลงกว่าปกติ เช่น  ความจำสั้น  พูดจาไม่รู้เรื่อง ความคิดความอ่านไม่ลื่นไหล ซึ่งอาการเหล่านี้แม้ดูเผิน ๆ จะเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสมองเสื่อมที่มีโอกาสพัฒนาไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ระดับน้ำตาลในร่างกายสูงเป็นสิ่งที่อันตรายต่อเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายที่สุด โดยเฉพาะเซลล์เนื้อเยื่อในระบบประสาทและสมองจะทำงานช้าลงกว่าปกติ ส่งผลให้การเคลื่อนตัวของเซลล์สื่อประสาทในระบบสมองบางส่วนหดตัวลง จากการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ หากเกิดกระบวนการนี้ซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานก็มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ในที่สุด

 กินหวานอย่างไรให้ความจำดี

         แม้ว่าธรรมชาติของร่างกายเราจะมีน้ำตาลกลูโคสไหลเวียนในกระแสเลือดอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าเราจะกินน้ำตาลเพิ่มเข้าไปอีกไม่ได้ เพียงแต่ต้องควบคุมปริมาณการกินที่พอเหมาะนั่นคือ ไม่เกิน 24 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 6 ช้อนชา และควรลดปริมาณการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลต่าง ๆ ด้วย เช่น แอสปาแตม น้ำตาลฟรุคโตสสังเคราะห์ สเตวิออลไกลโคไซด์ ซูคราโลส น้ำตาลทราย (ซูโครส) และ เด็กซ์โตรส (กลูโคส) เพราะสารสังเคราะห์เหล่านี้ส่งผลต่อสมองให้กระตุ้นสารโดพามีนออกมามากขึ้น ทำให้เรารู้สึกเสพติดรสหวาน สามารถกินรสหวานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อไรที่ร่างกายอยากกินอะไรหวาน ๆ ให้ชดเชยด้วยความหวานธรรมชาติจากผลไม้ หรือใช้วิธีจิบน้ำเปล่าแทน   
 
สุขภาพดี

5  วิธีเสริมสร้างสุขภาพสมองให้แข็งแรงในทุกวัน    

         สมองเป็นอวัยวะที่สามารถแก่แซงหน้าร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน หากเราใช้งานหนักแต่ไม่เคยดูแลเลย ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ภาวะสมองเสื่อมมาเยือน หรือมีอาการขี้หลงขี้ลืมถามหาก่อนวัยอันควร ลองทำตาม 5 วิธีบำรุงสมองต่อไปนี้ที่จะทำให้สุขภาพสมองยังดี แข็งแรงแม้ว่าเราจะมีอายุมากขึ้นแล้วก็ตาม


1.  ออกกำลังกาย

          ไม่ว่าจะออกกำลังด้วยวิธีใดก็ตาม ถือเป็นการเสริมสร้างสุขภาพสมองให้แข็งแรงได้ทั้งนั้น เพราะทุกครั้งที่เราขยับร่างกายทำกิจกรรมต่าง ๆ  เซลล์ประสาทจะเกิดการเคลื่อนที่พร้อมกับปล่อยโปรตีนที่เรียกว่า เซลล์ประสาทช่วยขับเคลื่อน (BDNF) ออกมากระตุ้นให้ต่อมหมวกไตของเราผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ออกมาอย่างเป็นปกติ ที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งใหม่ ๆ ในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นควรหาเวลาออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีทุกวันนะคะ 



2. นอนหลับให้เต็มอิ่ม

           การนอนหลับที่ได้คุณภาพนั้น จะทำให้เราตื่นมาด้วยความรู้สึกสดชื่นในทุกเช้า ถือเป็นการเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ โดยที่เมื่อเราเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่เพิ่มขึ้นมา เซลล์สมองจะมีการสปาร์คกันในลักษณะของการเชื่อมต่อเส้นใยเส้นประสาทที่เรียกว่า (Synaptic Plasticity) ที่จะเคลื่อนตัวจากตำแหน่งหนึ่งไปจับตัวกับเซลล์ประสาทอีกตำแหน่งหนึ่งอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากกระบวนการเคลื่อนที่ดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เราสามารถเข้าใจในสิ่งแปลกใหม่ได้โดยอัตโนมัติ และชั่วโมงการนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพสมองก็คือ การนอนให้ได้คืนละ 7 ชั่วโมง 



3. บำรุงร่างกายด้วยวิตามินดี

           วิตามินดีเป็นวิตามินที่ร่างกายนำไปหล่อเลี้ยงสมองเพื่อใช้ในกระบวนการวางแผน จดจำข้อมูล จากผลการวิจัยส่วนใหญ่ เผยว่า วิตามินดีเป็นวิตามินสำคัญกับคนทุกวัย เพราะเป็นวิตามินที่เซลล์สมองในส่วนฮิปโปแคมปัสจะดูดซึมไปใช้ในกระบวนการเรียนรู้และจดจำ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอายุเพิ่มมากขึ้นร่างกายจะดูดซึมวิตามินดีได้น้อยลง เห็นได้จากร่างกายของผู้สูงอายุบางรายมีอาการหลงลืม  หรือมีอาการของภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นง่ายกว่าวัยอื่น  แหล่งวิตามินดีสำคัญคือ แสงแดดในยามเช้าประมาณ 7-9 โมง น้ำมันตับปลา ปลาทูน่า ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งตัว นมและผลิตภัณฑ์นม  เป็นต้น



4. บำรุงร่างกายด้วยวิตามินบี 12

           วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่ช่วยบำรุงเซลล์ประสาทและสมองให้ทำงานเป็นปกติ จากผลการวิจัยเผยว่า วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่ร่างกายดูดซึมไปเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตทำงานเป็นปกติขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้วิตามินบี 12 สามารถเพิ่มความเฉียบคมให้สมองได้ แหล่งวิตามินบี 12 ที่แนะนำคือ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ชีส อะโวคาโด แครอท และบรอกโคลี เป็นต้น



5.  บำรุงร่างกายด้วยกรดไขมันโอเมก้าทรี ดีเอชเอ

           กรดไขมันโอเมก้าทรี ดีเอชเอ ช่วยบำรุงเซลล์ระบบประสาทสมอง และเซลล์เนื้อเยื่อดวงตาในส่วนเรตินา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ร่างกายของเรามีกระบวนการเรียนรู้และจดจำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  แต่กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดนี้ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ เราต้องหาบำรุงเพิ่มเติมจากอาหารแหล่งต่าง ๆ  เช่น น้ำมันปลา (Fish oil) และปลาทะเลน้ำลึก น้ำมันจากเมล็ดธัญพืช (Flaxseed oil) เป็นต้น นอกจากนี้กรดไขมันชนิดนี้ยังดีต่อการเสริมสร้างพัฒนาการระบบประสาท สมอง และการมองเห็นของทารกน้อยในครรภ์อีกด้วย

 

           เห็นไหมล่ะคะว่า ความหวานนั้นซ่อนโรคร้ายเอาไว้มากมายทีเดียว ที่ร้ายกาจที่สุดก็คือ สามารถชักนำให้โรคอัลไซเมอร์มาเยือนเราได้โดยไวโดยที่เรายังไม่ทันแก่เลย เราก็กลายเป็นคนหลงลืมอะไรง่าย ๆ ซะแล้ว ดังนั้นใครที่อยากมีความจำดีขึ้นก็กินอาหารหวาน ๆ ให้น้อยลงหน่อยเถอะนะคะ เพื่อสุขภาพสมองที่แข็งแรง  









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กินติดหวานเป็นประจำ เสี่ยงเป็นคนความจำสั้นโดยไม่รู้ตัว อัปเดตล่าสุด 11 มิถุนายน 2558 เวลา 12:17:13 7,249 อ่าน
TOP
x close