ผลเสียของการนอนดึก นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ กระทบกับเราอยู่หลายประการเลยทีเดียว และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราอายุสั้นลงด้วยนะ ดังนั้น ใครที่ชอบอดหลับอดนอนควรตั้งใจอ่านให้ดีเชียว
คำพูดยอดฮิตของคุณหมอที่มักจะย้ำเราเสมอว่า "ควรนอนพักผ่อนเพียงพอ" นั้นอาจไม่ใช่แค่ประโยคบอกเล่าธรรมดา ๆ ซะแล้ว เพราะเท่าที่ดูจากผลงานวิจัยหลายชิ้นที่รวบรวมอยู่ในเว็บไซต์ Bussinessinsider.com แล้วพบว่า แค่การนอนหลับไม่เพียงพอในแต่ละคืนก็สามารถเกิดผลกระทบต่อสุขภาพเราได้อย่างมหาศาลเลย มาดูกันดีกว่าว่าจะเกิดผลเสียของการนอนดึกอะไรขึ้นบ้าง ถ้าเรานอนหลับไม่เพียงพอบ่อย ๆ
อารมณ์แปรปรวน
จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในสหรัฐฯ เผยว่า ผู้ที่มีค่าเฉลี่ยชั่วโมงการนอนเพียง 4.5 ชั่วโมงในแต่ละคืน เป็นเวลา 1 สัปดาห์นั้น มีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวนกว่าคนที่นอนประมาณ 7 ชั่วโมงต่อคืน โดยที่อารมณ์แปรปรวนเหล่านั้นจะผสมปนเปกันไประหว่างความรู้สึกเครียด เศร้า ท้อแท้ โมโห หงุดหงิด ซึ่งปกติแล้วธรรมชาติของเราสามารถควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ได้ แต่เมื่อไรที่เรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองลดต่ำลง
ปวดหัว
แม้ว่าจะยังไม่มีนักวิจัยคนไหนกล้าฟันธงว่าการนอนไม่พอเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปวดหัว แต่ก็ยังมีปัจจัยบางอย่างที่สามารถอธิบายได้นั่นคือ การนอนน้อยทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาการปวดหัวจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวปวดไมเกรนนั้น มีโอกาสสูงที่อาการจะกำเริบมากกว่าคนที่ไม่เป็นไมเกรน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนส่วนใหญ่ที่นอนน้อยแต่ไม่มีอาการปวดหัวในตอนเช้า ในขณะที่มีคนอีกร้อยละ 36-58 นอนไม่หลับในตอนกลางคืน แล้วตื่นเช้ามามีอาการปวดหัวเล็กน้อย
เรียนรู้ช้าลง
การนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลให้สมองเรียนรู้ช้าลงได้จริง จากผลการสำรวจในโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ที่มีการเลื่อนเวลาเข้าเรียนจาก 7 โมงครึ่งเป็น 8 โมงครึ่ง พบว่า ผลคะแนนการสอบในวิชาเลขและการอ่านของนักเรียนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถอธิบายได้ว่าการเพิ่มเวลาการนอนหลับสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และจดจำให้สมองได้มากขึ้น
อ้วนขึ้น
คนที่นอนไม่พอในตอนกลางคืนมีแนวโน้มน้ำหนักเพิ่มขึ้นง่ายกว่าคนที่นอนหลับเต็มอิ่ม เพราะการที่ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอนั้น จะทำให้เรามีความอยากอาหารมากขึ้น โดยที่สมองจะสั่งให้เราอยากกินแต่อาหารที่มีแคลอรีสูงเพื่อนำมาใช้เผาผลาญเป็นพลังงานแก่ร่างกาย เราจึงมีแนวโน้มน้ำหนักตัวขึ้นง่ายจากอาหารที่มีแคลอรีสูงเหล่านี้นั่นเอง
สายตาพร่ามัว
การนอนไม่พอมีผลทำให้สายตาของเราพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด และหากนอนไม่พอติดต่อกันเป็นเวลาหลายคืนอาจมีอาการเห็นภาพหลอนด้วย มีงานวิจัยหนึ่งเผยว่า ตาของเราควรได้รับการพักผ่อนในตอนกลางคืนอย่างน้อย 5 ชั่วโมง เพื่อการฟื้นฟูเซลล์ที่สึกหรอไปในระหว่างการใช้งานในแต่ละวัน และถ้าหากนอนน้อยกว่านั้นก็จะเกิดอาการกล้ามเนื้อตากระตุก หรือตาเขม่นดังเช่นที่ใครหลายคนเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับโชคลาง ซึ่งความจริงแล้ว อาการกล้ามเนื้อตากระตุก หนังตาเขม่น มองเห็นเป็นภาพซ้อน เบลอ หรือพร่ามัว ก็มาจากที่เซลล์กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาไม่ได้รับการซ่อมแซมตัวเองอย่างสมบูรณ์
โรคหัวใจ
นักวิจัยเคยได้ทำการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่นอนเลยเป็นเวลา 88 ชั่วโมง ผลคือ พวกเขามีระดับความดันเลือดสูงมาก และเมื่อเปลี่ยนมาให้กลุ่มอาสาสมัครนอนนาน 4 ชั่วโมงใน 1 คืน ผลคือ อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับปกติ ค่าเฉลี่ยการเต้นของหัวใจใกล้เคียงกับคนที่ได้นอนปกติ และสิ่งที่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจก็คือ สารโปรตีนที่มีสะสมตัวมากขึ้นในขณะที่เราตื่น และจะถูกขับออกจากร่างกายโดยธรรมชาติเมื่อเราหลับ ดังนั้นหากใครที่อดนอน หรือนอนน้อยเป็นเวลานานจึงเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้
เฉื่อยชา
ทีมนักวิจัยเคยได้ทำการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นนักเรียนนายร้อย เพื่อหาคำตอบว่าการนอนไม่พอนั้นมีผลทำให้มีอาการเฉื่อยชาจริงหรือไม่ จึงได้ทำการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม โดยจัดให้กลุ่มหนึ่งห้ามนอน อีกกลุ่มหนึ่งนอนตามปกติ จากนั้นให้อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มทำแบบทดสอบทั้งหมด 2 ครั้ง ผลปรากฏว่า กลุ่มอาสาสมัครที่ได้นอนอย่างเพียงพอนั้นมีการตอบโต้ และมีการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้นอน ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่า การนอนไม่พอทำให้ร่างกายของเราเฉื่อยชา มีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างช้าลง
ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง
การนอนไม่พอมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคทำงานแย่ลง เพราะกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายจะขัดขวางการทำงานของจุลินทรีย์ ส่งผลให้การฟื้นฟูซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ผิดปกติไปจากเดิม ผลคือ หากเป็นแผลจะหายช้า หรือถ้าเป็นโรคเสื่อม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ร่างกายก็จะติดเชื้อง่ายขึ้น
การตัดสินใจผิดพลาด
คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า คืนก่อนวันสำคัญจะมาถึง ควรเข้านอนแต่หัวค่ำ และการนอนเต็มอิ่มก็จะทำให้ร่างกายเราสดใส กระปรี้กระเปร่าในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ความจริงแล้วมีเหตุผลมากกว่านั้นซ่อนอยู่ คือ การนอนไม่พอจะทำให้สมองประมวลความคิดช้าที่อาจส่งผลให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้
ปัสสาวะบ่อย
อาการฉี่รดที่นอน และการตื่นมาเข้าห้องน้ำในตอนกลางคืนก็เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เพราะตามธรรมชาติแล้วระบบขับปัสสาวะในร่างกายจะทำงานตามนาฬิกาชีวิตของเรา โดยกล้ามเนื้อหูรูดในท่อปัสสาวะจะไม่ทำงานในตอนกลางคืน และยังมีความแข็งแรงมากที่จะกลั้นปัสสาวะของเราเอาไว้ตลอดเวลาที่เราหลับ ดังนั้นคนที่นอนไม่พอเป็นประจำนั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในท่อปัสสาวะอ่อนแอลงได้
ไม่มีสมาธิ
การนอนไม่พอส่งผลให้กิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิทำได้แย่ลง เช่น ขับรถ ยิงปืน ล่องเรือใบ และขี่จักรยาน เพราะสมองไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ส่งผลให้ร่างกายเราอยู่ในสภาวะมึนงงตลอดทั้งวัน ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
ลดประสิทธิภาพของวัคซีน
การนอนหลับไม่เพียงพอก็มีผลทำให้การฉีดวัคซีนไม่ได้ผล ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาได้ ดังนั้นวัคซีนที่ฉีดเข้าไปจึงไม่มีผลใด ๆ ต่อการรักษาหรือป้องกันโรคเลย เคยมีผลการทดลองในหัวข้อนี้ด้วย คือ ให้อาสาสมัครทั้งหมด 19 คน ฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ โดยที่มีอาสาสมัคร 10 คนนอนหลับในแต่ละคืนนาน 8 ชั่วโมง ในขณะที่ 9 คนที่เหลือนั้นนอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมง จากนั้น 4 สัปดาห์ต่อมามีการตรวจร่างกายวัดผลประสิทธิภาพของวัคซีน พบว่า ระดับสารแอนติบอดี้ในร่างกายของอาสาสมัครที่นอนหลับเพียงพอนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่นอนไม่พอเป็นสองเท่า
พูดจาไม่รู้เรื่อง
การนอนให้ได้คืนละ 7 ชั่วโมงนั้นฟังดูเหมือนเป็นกิจวัตรของเด็กอนามัย แต่ความจริงแล้ว เป็นหลักสากลที่เราควรทำ จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่นอนเลยเป็นเวลา 36 ชั่วโมงนั้นมีแนวโน้มเป็นคนพูดจาไม่รู้เรื่อง พูดติดขัด และพูดช้าลง ที่สำคัญคือ พวกเขาไม่สามารถพูดในสิ่งที่คิดออกมาได้ ทั้งนี้เป็นผลจากการที่สมองประมวลความคิดความอ่านช้า
เป็นหวัด
การนอนไม่พอมีผลทำให้ร่างกายเป็นหวัดบ่อยกว่าปกติ เพราะร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง จากผลการวิจัยส่วนใหญ่ เผยว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อคืน มีโอกาสป่วยมากกว่าคนที่นอนเกิน 8 ชั่วโมงต่อคืนเป็นสามเท่า และคนที่ใช้เวลานานกว่าจะหลับนั้นก็มีโอกาสป่วยง่ายกว่าคนที่หัวถึงหมอนแล้วหลับเลยถึง 5.5 เท่า
ระบบย่อยอาหารมีปัญหา
เคยมีรายงานระบุเอาไว้ว่า ชาวอเมริกันราว 250 คนที่มีพฤติกรรมนอนหลับไม่เพียงพอนั้น กลายเป็นผู้ป่วยโรค IBD หรือ โรคกลุ่มอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีผู้ป่วยร้อยละ 10-15 เป็นโรคโครห์น (Crohn\'s disease) โดยมีอาการท้องเสียปนเลือดเป็นครั้งคราว ปวดท้องจากการอักเสบหรือการบีบตัวของลำไส้ น้ำหนักลด ท้องอืด อาเจียน ซึ่งถึงแม้ว่าจะรักษาให้หายได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้งหากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ
เสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุ
อาชีพที่ต้องใช้สมาธิในการขับยวดยานพาหนะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการนอนมาก เช่น นักบิน คนขับรถสาธารณะ คนขับรถบรรทุกส่งของ เป็นต้น สาเหตุเป็นเพราะการนอนไม่พอสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่า ส่วนหนึ่งมาจากความเหนื่อยล้าของร่างกาย ที่ทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับเส้นทางข้างหน้า การวูบหลับไปเพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถเกิดเหตุอันน่าสลดได้แล้ว
สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง
การนอนหลับไม่พอมีผลต่อกระบวนการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนให้ต่ำลงได้ ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดต่ำลง ซึ่งภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นพบได้มากในผู้ป่วยที่เป็นโรคนอนไม่หลับ
มีอาการปวดเรื้อรัง
จากผลการวิจัยในปี 2006 ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เผยว่า คนที่เข้านอนในช่วงเวลาระหว่าง 5 ทุ่มถึงตี 3 สารเคมีในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องไปจากเดิม ทำให้ร่างกายของคนที่นอนไม่พอ หรือนอนน้อยไวต่อการปวดต่าง ๆ มากกว่าคนที่นอนในช่วงเวลาตั้งแต่หัวค่ำ
โรคเบาหวาน
มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า การนอนไม่พอทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ แต่อย่างไรก็ตามกลับมีผลการวิจัย 4 ชิ้น ออกมาแย้งว่า สาเหตุการเป็นโรคเบาหวานนั้นไม่ได้มาจากการนอนไม่พอ แต่มาจากพฤติกรรมการกินเป็นส่วนใหญ่
ทำอะไรได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
คนง่วง ๆ จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดต่ำลงมากกว่าปกติ เห็นได้จากผลวิจัยหนึ่งที่เผยว่า กลุ่มคนที่มีอาชีพต้องใช้สมาธิในการทำงานมาก ๆ เช่น ศัลยแพทย์ รวมทั้งนักกีฬาที่ต้องใช้สมาธิ เช่น นักกีฬายิงปืน นักกีฬาเรือใบ นักปั่นจักรยาน หากนอนไม่เพียงพอ จะมีโอกาสถึงร้อยละ 20-32 ที่จะทำงานออกมาผิดพลาด แสดงว่าการนอนไม่พอส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานจริง ๆ
โรคมะเร็ง
นักวิจัยส่วนใหญ่ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่า โรคมะเร็งบางชนิดก็สามารถกำเริบได้ หากมีพฤติกรรมนอนน้อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ แต่สำหรับโรคมะเร็งชนิดอื่นนั้น ขึ้นอยู่กับการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกาย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากกว่า
ขี้ลืม
จากผลการวิจัยในปี 1924 เผยว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมนอนน้อย เป็นผลให้เกิดการสะสมตัวของโปรตีนแอมีลอยด์ บีตา (Amyloid beta) ในเซลล์ประสาทหนาตัวขึ้นเป็นชั้น สมองจึงเสื่อม ในขณะเดียวกัน ยังส่งผลต่อโครงสร้างของรูปสมองให้เปลี่ยนไปอีกด้วย จึงเป็นผลที่ทำให้จดจำอะไรไม่ได้นาน
ระบบการทำงานของเซลล์ในร่างกายผิดปกติ
ผลการวิจัยในปี 2013 เผยว่า การนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืนส่งผลให้กระบวนการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายผิดปกติ เป็นผลให้ระบบภูมิคุ้มกันพร่องลง และยังทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเครียดเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งยีนบางชนิดที่ต้องทำงานตามนาฬิกาชีวิตนั้นจะค่อย ๆ ทำงานผิดปกติไปทีละนิด นั่นหมายความว่า หากเรานอนน้อยเป็นประจำ การทำงานของเซลล์ในร่างกายก็จะผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นนั่นเอง
ไม่มีความสุข
ผลการวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบล ในสาขาจิตวิทยา เคยมีการทดลองเรื่องการนอนไม่หลับกับความสุขในชีวิตด้วย โดยให้กลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้หญิงวัยทำงานจำนวน 909 คน เก็บรายละเอียดอารมณ์ และกิจกรรมในแต่ละวันของตัวเองเอาไว้ พบว่าพวกเธอมีความสุขในแต่ละวันน้อยมาก ทั้งที่แต่ละคนมีรายได้สูงกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักมาจากปัญหาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน ที่ส่งผลให้พวกเธอมีอารมณ์แปรปรวน เพราะปัญหาเรื่องงาน ในขณะที่อีกผลการวิจัยหนึ่งทำการทดลองวัดระดับความสุขในกลุ่มอาสาสมัครผู้หญิงที่นอนหลับเต็มอิ่มทุกคืน พบว่า พวกเธอมีความสุขกับชีวิตมากกว่าอาสาสมัครในกลุ่มแรก ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีความกังวลใด ๆ ในจิตใจที่ทำให้นอนไม่หลับ
อายุสั้นลง
ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการนอนตอนกลางคืน และเมื่อผลกระทบเหล่านั้นถูกสะสมเป็นระยะเวลานานก็สามารถบั่นทอนอายุขัยของเราให้สั้นลงได้ จากผลการวิจัยเผยว่า การนอนในตอนกลางคืนโดยเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมงนั้นเป็นช่วงเวลาที่กำลังดี สามารถยืดอายุขัยของเราได้ด้วย
เห็นไหมคะว่าแค่การนอนไม่พอก็สามารถทำให้เราป่วยได้แล้ว ดังนั้น หากวันไหนรู้สึกว่าหาวบ่อยครั้งมากกว่าปกติ ก็อย่าลืมรีบเข้านอนแต่หัวค่ำนะค