เมล็ดเจีย (เมล็ดเชีย) ธัญพืชมากประโยชน์ ขุมทรัพย์แห่งสุขภาพ


          เมล็ดเจีย หรือ เมล็ดเชีย ธัญพืชตัวจิ๋วแต่มากด้วยประโยชน์ ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวช่วยลดน้ำหนัก แต่รู้ไหมว่า เมล็ดเจียไม่ได้มีดีแค่ช่วยลดน้ำหนักนะ ยังป้องกันโรคและบำรุงสุขภาพของเราได้อีกด้วย

          เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักเมล็ดเจีย (Chia Seed) กันมาบ้างแล้ว จากสรรพคุณหลายข้อของเมล็ดเจียที่ดีต่อสุขภาพทั้งช่วยป้องกันโรคและดูแลสุขภาพของเราให้แข็งแรง โดยเฉพาะเรื่องการลดน้ำหนัก แต่อาจยังไม่รู้กันว่าเมล็ดเจียตัวจิ๋วที่เราชอบทานนั้นมีประโยชน์แอบซ่อนอยู่อีกมาก เรียกว่าประโยชน์คับเมล็ดเลยก็ว่าได้ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขออาสาพาทุกคนมาทำความรู้จักเจ้าเมล็ดเจียตัวจิ๋วนี้กันให้มากขึ้นว่าทำไมเมล็ดเจียจึงเป็นธัญพืชมากประโยชน์ที่เรากินได้ทุกวัน
เมล็ดเจีย คืออะไร มาจากไหนกันนะ
               
          จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า เมล็ดเจียเป็นพืชที่มีอายุมานานกว่า 3,500 ปีก่อนคริสตกาลตั้งแต่สมัยอาณาจักรแอซแท็ก และอาณาจักรมายันในทวีปอเมริกา  มีความหมายว่า ความแข็งแรง เพราะชาวแอซเท็กและชาวมายันนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหารหลักเหมือนกับธัญพืชทั่วไป เช่น ข้าวโพด และถั่ว โดยพวกเขาจะนำเอาเมล็ดเจียมาบดรวมกับแป้ง คั้นเป็นน้ำมันออกมาเพื่อใช้ดื่ม หรือไว้ปรุงอาหาร ด้วยความเชื่อที่ว่า เมล็ดเจียมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงนั่นเอง 
               
          ต่อมาในยุคล่าอาณานิคมของสเปน ฝั่งอเมริกาใต้ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน ทำให้เมล็ดเจียกลายเป็นอาหารต้องห้าม โดยผู้นำสเปนในยุคนั้นประกาศว่า ห้ามเพาะพันธุ์เมล็ดเจียอีกต่อไปทำให้เมล็ดเจียค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ กระทั่งเข้าสู่ยุคของอเมริกาสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบพันธุ์พืชเมล็ดเจียอีกครั้ง จึงเกิดการค้นคว้าวิจัยถึงประโยชน์ของพืชพันธุ์ชนิดนี้ และเริ่มมีการขยายสายพันธุ์กระทั่งกลายมาเป็นสายพันธุ์เมล็ดเจียที่เราใช้บริโภคกันจนทุกวันนี้
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเมล็ดเจีย


          เมล็ดเจียเป็นพืชในกลุ่มเครื่องเทศตระกูลเดียวกับกะเพรา หรือ มินต์ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ชื่อว่า Salvia Hispanica L.ลักษณะลำต้นสูงประมาณ 4-6 ฟุต เป็นพืชให้เมล็ดเล็ก ๆ มีสองสีคือดำและขาว เปลือกนอกเมล็ดพองตัวได้เหมือนเม็ดแมงลัก พืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น และเป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันมากในทวีปอเมริกา ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา โบลิเวีย เอกวาดอร์ และกัวเตมาลา นอกจากนี้ก็ยังปลูกได้ในประเทศออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยมีการเพาะพันธุ์เมล็ดเจียในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่คือ ลำปาง กาญจนบุรี ฯลฯ

เมล็ดเจีย
 

เมล็ดเจีย เม็ดแมงลัก ต่างกันอย่างไร

          หลายคนเข้าใจคิดว่าเมล็ดเจียคือเม็ดแมงลัก ความจริงแล้วเป็นธัญพืชคนละชนิดกันเลยค่ะ แม้ว่าทั้งเมล็ดเจียและเม็ดแมงลักจะนำไปแช่น้ำแล้วจะมีลักษณะคล้ายกันก็ตาม แต่ก็มีความต่างที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ค่ะ นั่นคือ ก่อนนำไปแช่น้ำ เมล็ดเจียจะมีลักษณะรี มีสีน้ำตาลเทา มีลวดลายเล็กน้อย ส่วนแมงลักจะมีลักษณะรี มีสีดำเข้ม แต่ถ้าหากนำไปแช่น้ำแล้วจะพบว่าเมล็ดเจียจะเกิดการพองตัวลักษณะเม็ดใส แต่เม็ดแมงลักจะพองตัวลักษณะเม็ดมีเมือกสีขาวขุ่น
 

เมล็ดเจียกับคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่ธรรมดา


          จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture) เผยว่า เมล็ดเจียเป็นธัญพืชที่มีคุณสมบัติเป็นทั้ง Super Fruit และ Super Seed อัดแน่นไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ ไฟเบอร์ กรดไขมันดีชนิดโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 แคลเซียม สารต้านอนุมูลอิสระ และโปรตีน ซึ่งเมื่อนำเมล็ดเจียเต็มเมล็ด หรือนำไปบด แล้วนำไปแช่กับของเหลว เช่น น้ำ น้ำผลไม้ หรือ นม เมล็ดเจียจะสามารถพองตัวขึ้นมาได้อีก 12 เท่า ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับอาหารได้ เช่น การเพิ่มเมล็ดเจียในน้ำผลไม้ที่มีสารเรสเวอราทรอล เช่น น้ำทับทิม หรือ น้ำผลไม้ตระกูลเบอร์รี จะช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในเครื่องดื่มนั้น ๆ ได้
 

เมล็ดเจียเพียง  1 ออนซ์ (28 กรัม) ให้พลังงานเพียง 137 แคลอรี อุดมด้วยสารอาหารเน้น ๆ ดังต่อไปนี้

 
          - น้ำ 6.61 กรัม
          - โปรตีน 40.32 กรัม
          - ไขมัน 11.89 กรัม
          - คาร์โบไฮเดรต 35.14 กรัม 
          - ไฟเบอร์ 34.4 กรัม
          - แคลเซียม 150 กรัม
          - ธาตุเหล็ก 14.30 กรัม
          - แมกนีเซียม 362 กรัม
          - ฟอสฟอรัส 810 กรัม
          - โพแทสเซียม 425 กรัม
          - โซเดียม 41 กรัม
          - ซิงก์ 10.70 กรัม
          - วิตามินเอ 3  ไมโครกรัม
          - วิตามินบี 1 2.5  มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 2 0.270  มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 3 12.6  มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 6 0.152  มิลลิกรัม
          - โฟเลต 29  ไมโครกรัม
          - กรดไขมันอิ่มตัว 1.634 กรัม
          - กรดไขมันไม่อิ่มตัว 4.405 กรัม
          - กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 5.113 กรัม    
        
เมล็ดเจีย

เมล็ดเจีย สรรพคุณทางยาสุดเวิร์กที่ต้องบอกต่อ

          เมล็ดเจียเม็ดเล็ก ๆ มีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิดไว้ซะอีกค่ะ เรามาดูกันว่าถ้าเรากินเมล็ดเจียเป็นประจำทุกวันแล้ว สุขภาพของเราจะดีขึ้นในด้านไหนบ้างนะ


* หัวใจแข็งแรง

          เมล็ดเจียอุดมด้วยกรดไขมันดีโอเมก้า-3 และ โอเมก้า-6 ช่วยปรับสมดุลระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด เกิดการไหลเวียนเลือดดีเข้าสู่หัวใจ จึงเป็นผลให้หัวใจของเราแข็งแรงขึ้น


* ห่างไกลโรคเบาหวานประเภท 2

          เมล็ดเจียเป็นธัญพืชที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ แต่อุดมด้วยไฟเบอร์สูงที่ช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด จึงมีคุณสมบัติช่วยต้านโรคเบาหวานประเภท 2 ได้


* บาดแผลหายเร็ว ไม่ติดเชื้อง่าย

          เมล็ดเจียมีกรดไขมันโอเมก้าทรีที่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) มีฤทธิ์แก้อักเสบ จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ป้องกันการติดเชื้อของบาดแผล ช่วยให้บาดแผลหายเร็ว ไม่เรื้อรัง


* ร่างกายมีระบบเผาผลาญพลังงานดีขึ้น


          เมล็ดเจียมีไฟเบอร์ โปรตีน และกรดไขมันโอเมก้าทรีสูง จึงช่วยปรับสมดุลระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้


* บำรุงความจำ


          เมล็ดเจียมีกรดไขมันโอเมก้าทรีสูงกว่าปลาแซลมอนถึง 9 เท่า ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมองให้ทำงานเป็นปกติ เราจึงมีกระบวนการเรียนรู้และจดจำดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อมากขึ้น


* ห่างไกลโรคกระดูกพรุน

           
          เมล็ดเจียอุดมด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อกระบวนการเสริมสร้างกระดูกและฟันที่ แข็งแรง เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโปรตีน จึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และภาวะกระดูกบางได้


* ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ
           
          เมล็ดเจียอุดมด้วยไฟเบอร์อยู่ประมาณ 34.4 กรัม ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณไฟเบอร์ที่เพียงพอสำหรับร่างกายในแต่ละวัน ที่จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ
 

* ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

          เมล็ดเจียอุดมด้วยโปรตีน และแร่ธาตุฟอสฟอรัสที่ช่วยบำรุงเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายเรา เพื่อดูดซึมไปใช้กระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

เมล็ดเจีย
 

เมล็ดเจีย กับประโยชน์สุขภาพเน้น ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม


          นอกจากเมล็ดเจียจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ยังมีข้อดีที่เราคาดไม่ถึงอีกด้วย มาดูกันว่าถ้าเราบริโภคเมล็ดเจียเป็นประจำทุกวัน เราจะได้ประโยชน์อะไรจากเมล็ดเจียบ้าง

* อารมณ์ดี
           
          กรดอะมิโนทริปโตเฟนในเมล็ดเจียเป็นกรดอะมิโนชนิดเดียวกับที่พบในนม ช่วยคุมความอยากอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ และช่วยปรับปรุงอารมณ์ให้เป็นปกติ 

* อิ่มแบบพุงไม่ป่อง

          เมล็ดเจียมีไฟเบอร์สูง อุดมด้วยไขมันดี อีกทั้งยังกินแล้วย่อยง่ายด้วย ดังนั้น เราจึงหายห่วงเรื่องกินอิ่มแล้วมีพุงป่องยื่นออกมา

* ท้องไม่ผูก

          เมล็ดเจียอุดมด้วยไฟเบอร์ชนิดไซเลียม หรือเส้นใยกลุ่มล้างสารพิษ ช่วยดูดซึมสารพิษตกค้างในลำไส้ ให้ระบายออกมาในรูปของเสีย และยังช่วยให้เราท้องไม่ผูกอีกด้วย

* เป็นแหล่งพลังงานในยามเร่งด่วน

          เมล็ดเจียมีสารอาหารประเภทโปรตีนอยู่ร้อยละ 20 ซึ่งมากกว่าโปรตีนที่พบในธัญพืช หรือเมล็ดข้าวชนิดต่าง ๆ ซะอีก จึงช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายได้ดีในยามที่เราต้องเคลื่อนไหวทำกิจกรรม ต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา ที่ต้องการอาหารบำรุงร่างกายให้สามารถมีแรง เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องตัว

* ไม่อ้วน


          เมล็ดเจียกินแล้วอิ่มสบายท้อง อีกทั้งยังมีแคลอรีต่ำ ย่อยง่าย ร่างกายไม่สะสมเป็นไขมัน เราจึงไม่มีไขมันส่วนเกินสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย

* ดูอ่อนวัยลง

          เมล็ดเจียมีสารต้านอนุมูลอิสระ แร่ธาตุและวิตามินมากกว่าในผลไม้ตระกูลเบอร์รีซะอีก ช่วยบำรุงความงามให้ดูอ่อนวัยลงในด้านต่าง ๆ เช่น เส้นผมนุ่มสลวย ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เล็บแข็งแรง ไม่เปราะหักง่าย และยังช่วยลดปัญหาสิวอีกด้วย

* ไม่ขาดสารอาหาร

          ใครที่อยากลดน้ำหนักแต่ไม่อยากขาดสารอาหาร เมล็ดเจียน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะอุดมด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในแต่ละวันอย่างครบถ้วน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไฟเบอร์ วิตามินเอ วิตามินบีรวม แคลเซียม ธาตุเหล็ก ซิงก์ ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แมงกานีส และกรดไขมันโอเมก้าทรี
 

เมล็ดเจีย กับเมนูสุขภาพที่หลากหลาย


          เมล็ดเจียสามารถนำไปทำเป็นเมนูสุขภาพได้อย่างหลากหลายเชียวค่ะ รับรองว่าคนชอบกินต้องถูกใจแน่นอน มาดูกันดีกว่าเมล็ดเจียเม็ดจิ๋วนี้นำไปเมนูได้หลากหลายแค่ไหนกันนะ

          - อาหารคาว ได้แก่ สลัดผัก พาสต้า สปาเกตตี้ พิซซ่า และก๋วยเตี๋ยว หรือแม้แต่เป็นผักเครื่องเคียงในเมนูทุกชนิด

          - อาหารหวาน ได้แก่  ผสมเป็นสเปรด (Spread) กับเนยเอาไว้ทาขนมปัง นำไปโรยใส่ไอศกรีม กินกับโยเกิร์ต เพิ่มในซีเรียล ทำเมนูสมูธตี้และมิลค์เชค

          - เครื่องดื่ม ได้แก่ ใส่ในน้ำผลไม้คั้นสด หรือทำเบเกอรีชนิดต่าง ๆ พุดดิ้ง เมนูชา กาแฟ
 

เมล็ดเจีย ปริมาณการกินที่ต่อสุขภาพ


          เมล็ดเจียเป็นอาหารที่เราสามารถกินได้ทุกวัยเลยนะคะ ลองมาดูกันว่า ปริมาณการบริโภคเมล็ดเจียที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพนั้นควรเป็นอย่างไร

          - เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรบริโภคประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน

          - เด็กที่อายุตั้งแต่ 5-18 ปี ควรบริโภคประมาณ 1.4-4.3 กรัมต่อวัน

          - วัยผู้ใหญ่ ควรบริโภคประมาณ 15 กรัม หรือประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน 

          - ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรบริโภคแบบป่นประมาณ 33-41 กรัมทุก ๆ 3 เดือน

เมล็ดเจีย


เมล็ดเจีย ลดความอ้วนได้อย่างไร


          เมล็ดเจียเหมาะที่จะเป็นอาหารลดน้ำหนักอย่างดี เพราะนอกจากจะช่วยคุมความอยากอาหารได้แล้ว ยังทำให้เราอิ่มท้องนานแบบมีแคลอรีต่ำ ไม่สะสมเป็นไขมันในร่างกายได้ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังนั้น เมล็ดเจียมีกลไก 3 อย่างเท่านั้นที่ทำให้เราลดความอ้วนได้สำเร็จ นั่นคือ

          * ดูดซึมของเหลว เมล็ดเจียอุดมด้วยไฟเบอร์ที่ละลายในน้ำได้ ดังนั้นเมื่อเรานำเมล็ดเจียไปแช่ในของเหลวประเภทต่าง ๆ เช่น นม น้ำเปล่า หรือ น้ำผลไม้ เมล็ดก็จะทำการอุ้มน้ำเอาไว้ และเมื่อเราทานเข้าไป ไฟเบอร์ก็จะทำการขยายตัวในกระเพาะของเรา เราจึงรู้สึกอิ่ม

          * ค่อย ๆ ถูกย่อย อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ไฟเบอร์นั้นย่อยง่าย แต่แทนที่จะถูกระบบย่อยอาหารของเราย่อยสลายหมดไปภายในพริบตาเดียว กลับกลายเป็นว่าระบบย่อยอาหารค่อย ๆ ย่อยไปทีละน้อย เราจึงรู้สึกอิ่มนาน ไม่นึกอยากกินอะไร

          * คงคุณค่าสารอาหาร เมล็ดเจียถือเป็นตัวช่วยลดน้ำหนักที่ดีสำหรับคนชอบกินนะคะ เพราะการที่เราอยากกินจุบจิบก็มาจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็น ต่อร่างกายไม่เพียงพอนั่นเอง
 

เมล็ดเจีย ซื้อที่ไหน ราคาแพงไหม


          เมล็ดเจียเป็นหนึ่งในธัญพืช จัดอยู่ในหมวดอาหารออร์แกนิค เราสามารถหาซื้อเมล็ดเจียได้ตามร้านขายอาหารชีวจิต ร้านขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ร้านขายสินค้าโอทอป หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำทั่วไปในแผนธัญพืช ส่วนใหญ่วางขายในรูปของบรรจุหีบห่อ ทั้งแบบชนิดสด และสำเร็จรูป
 
          สำหรับราคาของเมล็ดเจียแบบบรรจุห่อนั้นมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันค่ะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกรดของเมล็ดพันธุ์ที่อาจมาจากแหล่งผลิตในประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ และถ้าใครสนใจอยากซื้อเป็นเมล็ดพันธุ์มาเพาะพันธุ์เอง ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเมล็ดพันธุ์พืชทั่วไป ชมรมเกษตรประจำจังหวัด หรือมูลนิธิโครงการหลวงค่ะ โดยราคาของเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ประมาณหลักสิบขึ้นไป หรืออาจไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะมีแจกฟรี
 
เมล็ดเจีย


ข้อยกเว้นน่ารู้ของเมล็ดเจีย


          แม้ว่าเมล็ดเจียจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม ซึ่งก็มีข้อมูลที่เป็นคำเตือนจากหลายองค์กรสำคัญ ได้แก่ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA)  หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) สมาคมโรคหัวใจอเมริกัน (AHA) ผลการวิจัยทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยโตรอนโต และบริษัทผู้ผลิตอาหารสุขภาพในสหรัฐฯ เผยตรงกันว่า เมล็ดเจียอาจไม่ได้กินแล้วดีต่อสุขภาพสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ปัญหาเรื่องสุขภาพดังต่อไปนี้

          * คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น มีแก๊สในกระเพาะอาหาร แสบร้อนกลางอก รวมถึงกรดไหลย้อนนั้นหากกินเมล็ดเจียเข้าไปแล้ว จะทำให้อาการหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะเส้นใยไฟเบอร์ที่ขยายตัวในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ที่จะยิ่งกระตุ้นให้ตับอ่อนเร่งสร้างน้ำย่อยออกมานั่นเอง 

          * ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนที่ต้องเข้ารับการศัลยกรรม ผ่าตัด หรือ มีประวัติการใช้ยาแอสไพริน ไม่ควรกินเมล็ดเจีย เพราะจะยิ่งทำให้หลอดเลือดบางลง ซึ่งอาจมีผลต่อการเกิดภาวะฮีโมฟิเลีย (Haemophiliacs) หรือภาวะที่เลือดแข็งตัวช้า เลือดไหลไม่หยุด

          * มีงานวิจัยเผยว่าผู้ชายไม่ควรบริโภคเมล็ดเจียมากเกินไป เพราะในเมล็ดเจียมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวแอลฟา ลิโนเลอิก (alpha-linoleic acid) ที่จะไปกระตุ้นให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางบทความระบุว่าไม่เป็นความจริง เรื่องนี้ยังคงต้องศึกษาต่อไป แต่เพื่อความปลอดภัย ผู้ชายที่มีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมากควรงดการบริโภค

          * ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ไม่ควรบริโภคเมล็ดเจีย เพราะมีผลต่อแรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัวให้ต่ำลง (Diastolic blood pressure) อาจก่อให้เกิดอาการช็อก หรือหมดสติได้

          * ไม่ควรบริโภคเมล็ดเจียติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี เพราะร่างกายจะเกิดการเสพติด และเลิกยาก ทางที่ดีควรเว้นช่วงไปบ้าง

          * ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรบริโภคเมล็ดเจีย เพราะมีผลต่อสารอาหารในน้ำนมให้เปลี่ยนไปจากเดิม

          * การกินเมล็ดเจียร่วมกับอาหารเสริมวิตามินบี 17 ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกายสะสมสารไฟโตนิวเทรียนท์ในปริมาณมาก กลายเป็นสารพิษที่นำมาซึ่งโรคมะเร็งในที่สุด
              
          เห็นไหมคะว่า เมล็ดเจียเม็ดจิ๋วนี้มีประโยชน์แอบซ่อนอยู่ไว้เพียบเลย ดังนั้นใครที่กินเมล็ดเจียเป็นประจำอยู่แล้ว เราเชื่อว่าน่าจะรู้หลักในการบริโภคกันมากขึ้น หรือถ้าใครยังไม่เคยลองกินเลย ก็ขอให้รีบไปหาซื้อมาติดครัวเอาไว้นะคะ รับรองว่ากินแล้วสุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลโรคภัยแน่นอนค่ะ



* หมายเหตุ อัพเดทข้อมูลล่าสุดวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 เวลา 21.12 น.


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมล็ดเจีย (เมล็ดเชีย) ธัญพืชมากประโยชน์ ขุมทรัพย์แห่งสุขภาพ อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2563 เวลา 07:06:25 1,053,716 อ่าน
TOP
x close