ไม่อยากตายปริศนา อย่าสตาร์ทเครื่องเปิดแอร์นอนในรถที่จอดอยู่




เปิดแอร์นอนในรถ

 
          การจอดรถแวะพักข้างทางแล้วเปิดแอร์นอนในรถ นี่เป็นวิธีพักสายตา คลายความอ่อนล้า ที่เสี่ยงทำเราเสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร ต้องอ่าน 

          เคยสังเกตกันบ้างไหมว่า เวลาที่รถติดไฟแดงเป็นเวลาหลายชั่วโมง ร่างกายเรามักจะเริ่มมีอาการปวดหัว และรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราได้รับคาร์บอนมอนอกไซด์โดยไม่รู้ตัว นี่ขนาดนั่งในรถเป็นเวลานาน ๆ นะ ยังทำให้เรารู้สึกแย่เลย แน่นอนทีเดียวว่า ถ้าหากเราติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์นอนในรถละก็ อาจมีอันตรายถึงชีวิตโดยไม่รู้ตัว แต่เอ๊ะ ! ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องนอนในรถยนต์จริง ๆ ล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี กระปุกดอทคอมมีคำเฉลยมารออยู่ตรงนี้แล้ว 
          เปิดแอร์นอนในรถ เสี่ยงก๊าซพิษคร่าชีวิต 

          พล.ต.ต. นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เผยว่า ผลชันสูตรศพของผู้ที่เสียชีวิตจากการนอนหลับในรถยนต์ส่วนใหญ่นั้นจะมีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ในเลือดสูงมาก และเลือดเป็นสีชมพู ซึ่งเรียกว่า "เชอร์รีพิงค์" ทำให้สภาพศพของผู้ตายเป็นสีแดงชมพูทั้งตัว สาเหตุเพราะร่างกายมีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มากเกินปกติ

           ทางด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้พูดถึงอันตรายของการเปิดแอร์นอนในรถ เอาไว้เช่นเดียวกันว่า การจอดพักรถริมข้างทาง แล้วเปิดแอร์นอนเพื่อพักผ่อนนั้น เป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม เพราะในขณะที่เราสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ปิดกระจกมิดชิด และเอนเบาะนอนนั้น เท่ากับเป็นการนอนดมก๊าซพิษในรถ โดยที่ก๊าซพิษเหล่านั้นจะไหลเวียนมาจากระบบแอร์ของรถยนต์ ที่มีการดูดอากาศจากภายนอก มาหมุนเวียนภายในรถ และจะดูดเอาควันจากท่อไอเสียรถยนต์เข้ามาด้วย นั่นหมายความว่า ร่างกายจะสะสมทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

          จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์ ได้กล่าวถึงอันตรายของการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ขณะนอนเปิดแอร์ในรถเอาไว้ว่า หากมีการสะสมก๊าซชนิดนี้ในร่างกายปริมาณมาก จะส่งผลให้ระดับฮีโมโกลบินในร่างกายของเราให้ลดต่ำลงด้วย เราจะเกิดอาการระคายเคือง ปวดศีรษะ เซื่องซึม เคลิบเคลิ้ม สั่นกระตุก หายใจติดขัด หัวใจเต้นผิดปกติ และมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

          นอกจากนี้แล้วก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกด้วยเช่นกัน โดยนายจักรวาล บุญหวาน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้ว สาเหตุการเสียชีวิตในรถยนต์มี 2 สาเหตุหลัก คือ หนึ่งขาดอากาศหายใจแล้วเสียชีวิต และสองคือ ร่างกายเกิดภาวะฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด เพราะร่างกายได้รับความร้อนเกินไป 

          สาเหตุแรกนั้นเกิดจากการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งโดยปกติแล้วห้องโดยสารรถยนต์จะมียางขอบประตู 2 ชั้น ป้องกันกลิ่นและเสียงเข้ามาในรถ ส่งผลให้ห้องโดยสารภายในถูกตัดขาดจากอากาศภายนอกโดยสิ้นเชิง จึงมีออกซิเจนในปริมาณที่จำกัด หากเราติดเครื่องยนต์นอนในรถยนต์โดยที่ไม่มีอากาศหมุนเวียนภายในเลย ปริมาณออกซิเจนก็จะยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากกระบวนการสันดาปของเครื่องยนต์จะอาศัยออกซิเจนเป็นตัวเผาไหม้ เวลาดึงออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการเผาไหม้แล้ว ออกซิเจนในรถยนต์ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันกระบวนการเผาไหม้ก๊าซคาร์บอนจะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมา ทำให้คนที่นอนอยู่ในรถขาดอากาศหายใจ แล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

ไม่อยากตายปริศนา อย่าสตาร์ทเครื่องนอนในรถ

          สำหรับสาเหตุที่สองนั้นเกิดจาก โรคลมแดด เป็นผลมาจากการนอนในรถที่จอดรถกลางแดดแรงจัด ร่างกายได้รับความร้อนสูง จากรังสีคลื่นยาวที่ถูกบล็อกไม่ให้สะท้อนกลับออกไป ทำให้ภายในห้องโดยสารมีความร้อนอบอวลอยู่สูงถึงประมาณ 800 วัตต์ต่อตารางเมตร โดยที่อากาศภายในรถยนต์จะมีอุณหภูมิสูงมากกว่าภายนอกถึง 20 องศาเซลเซียส แน่นอนว่า เราไม่สามารถทนความร้อนได้สูงขนาดนั้น เพราะอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะการขาดน้ำ โดยเฉพาะร่างกายของเด็กจะรับเอาไอความร้อนมากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 3-5 เท่า และสามารถเสียชีวิตภายในเวลา 30 นาที 

          ในขณะเดียวกันนั้น หากเราติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์นอนในสถานที่ปิด เช่น ลานจอดรถบนอาคาร ก็จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมอีก เนื่องจากมีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาภายในรถ ซึ่งจะไปทำลายฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนในรถยนต์รุ่นเก่าย้อนหลังไป 10 ปี ถ้าเป็นรถเก๋งจะใช้หัวเทียนจุดระเบิด การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จึงเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดร คาร์บอนที่ไม่ถูกเผาไหม้หรือเชื้อเพลิงที่ไม่ถูกเผาไหม้ ทั้ง 2 ตัวนี้เป็นแก๊สพิษ ทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะนอนในรถรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้เท่ากัน 

          แล้วถ้ารถจอดติดนาน ๆ จะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้หรือไม่

          อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วถ้าเรานั่งอยู่ในรถที่จอดติดนาน ๆ บนถนนจะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตเหมือนกับการนอนในรถเปิดแอร์ ปิดกระจกทั้ง 4 ด้านหรือไม่ เรื่องนี้ พล.ต.ต. นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ให้ข้อมูลว่า หากรถจอดติดนาน ๆ ก็ทำให้ก๊าซไหลเข้ามาในรถได้ และทำให้เรารู้สึกง่วงซึมได้เหมือนกับเวลาที่เรานั่งอยู่บนรถเมล์ที่จอดติดนาน ๆ แต่ก็ไม่เป็นอันตรายเหมือนกับการนอนหลับอยู่ในรถนาน ๆ เป็นชั่วโมง เพราะรถไม่ได้จอดนิ่ง ยังมีการเคลื่อนที่ตลอด 

          ทั้งนี้หากใครนั่งอยู่ในรถที่จอดติดนาน ๆ แล้วมีอาการง่วงซึม ควรเปิดกระจกระบายอากาศบ้าง 


          เปิดแอร์นอนในรถอย่างไรให้ปลอดภัย 

          หากใครที่มีความจำเป็นต้องนอนในรถจริง ๆ ก็ควรคำนึงถึงหลักความปลอดภัย ดังนี้ 

           1. เปิดกระจกรถยนต์ หรือปรับโหมดเครื่องปรับอากาศรับอากาศภายนอกเข้ามา เพราะปกติแล้­วก๊าซจากท่อไอเสียมีอุณหภูมิสูงจึงทำให้ลอยตัวได้สูง ถ้าจอดรถในที่โล่ง ๆ โอกาสที่จะลอยย้อนกลับเข้ามาในรถน้อยมาก แต่ถ้าจอดอยู่ในพื้นที่ปิด เช่น ลานจอดรถ ก๊าซลอยออกไปไหนไม่ได้จึงอบอวลอยู่ในนั้นและวิ่งกลับเข้ามาที่ห้องโดยสาร 

           2. ควรหาที่จอดในที่โล่ง และแง้มกระจกเล็กน้อย พอให้มือลอดเข้ามาไม่ได้ เพื่อทำให้เกิดการระบายอากาศภายในรถ 

           3. ปรับโหมดเครื่องปรับอากาศบ้าง เพื่อกระตุ้นให้ไฟฟ้าทำงาน เพราะถ้าไม่เคยปรับเปลี่ยนเลยแกนจะตาย ทำให้เวลาที่จำเป็นต้องใช้ไม่สามารถทำได้ 

           4. หากร่างกายของเราเจ็บป่วย อ่อนเพลีย และเมามาก ควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับในรถจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยในชีวิต 

           5. กรณีที่รถจอดติดนาน ๆ ก๊าซก็อาจจะไหลเข้ามาในรถได้ทำให้เรารู้สึกง่วงนอน ดังนั้น หากใครที่ขับรถแล้วรถติดเป็นระยะเวลานานจนรู้สึกง่วงก็ควรเปิดกระจกระบายอากาศบ้าง 

          ทั้งนี้จึงสรุปได้ว่า การเปิดแอร์นอนในรถแล้วปิดกระจกนั้น เท่ากับว่าเรากำลังนอนให้ร่างกายสูดรับเอาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มาสะสมไว้ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ ก๊าซชนิดนี้ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และไม่มีรส เราจึงไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังสูดดมอยู่ แต่จะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อปริมาณก๊าซสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว โดยที่เราจะรู้สึกง่วงมาก เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง นอนหลับลึกมากขึ้น ไม่รู้สึกว่าอยากตื่น นี่จึงเป็นสิ่งที่อันตรายต่อชีวิตอย่างมาก เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะนอนหลับจนเสียชีวิตไปเลย

          ทางที่ดีคือ หากรู้ตัวว่าจะต้องขับรถทางไกล ก็ควรจะนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และถ้ารู้สึกอ่อนล้าหรือง่วงมาก ก็ควรปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยที่เรานำมาฝากให้ได้นะคะ เพื่อความไม่ประมาทค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่อยากตายปริศนา อย่าสตาร์ทเครื่องเปิดแอร์นอนในรถที่จอดอยู่ อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2560 เวลา 15:58:57 56,232 อ่าน
TOP
x close