อาหารหมดอายุแล้ว จะกินต่อได้ไหม เพราะจะทิ้งก็เสียดาย แต่อีกใจก็กลัวท้องเสีย เอาเป็นว่าคำตอบอยู่ข้างล่างนี่แหละ เชื่อว่าเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดมาตลอดเลยเหมือนกัน
แล้วสรุปว่าจริง ๆ แล้วการกินอาหารหมดอายุเป็นอันตรายหรือเปล่าเนี่ย ขอไขข้อข้องใจนี้ด้วยความรู้ดี ๆ จากรายการ Did You Know...? คุณรู้หรือไม่ ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ทายซิว่าคำตอบคืออะไร?
...มีคนจำนวนมากที่ตัดสินใจทิ้งอาหารทันทีที่ป้ายบอกว่าหมดอายุแล้ว เพราะไม่อยากจะเสี่ยงกับอาหารเป็นพิษ แต่จริง ๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องทิ้งอาหารเสมอไป แม้ป้ายจะบอกว่าหมดอายุแล้วก็ตาม นั่นก็เพราะวันที่ที่ระบุไว้บนหีบห่ออาหาร ไม่ได้บ่งบอกถึงความปลอดภัยในการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว เป็นเพียงสิ่งที่ผู้ผลิตต้องการบอกเราให้รู้ว่า อาหารนั้นมีคุณภาพ ความสดใหม่ รสชาติ หน้าตาอย่างไรเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นตัวบอกเราว่าอาหารนั้นกินไม่ได้แล้ว
แต่ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นนี้ ก็เพราะคนส่วนใหญ่สับสนกับคำว่า "ควรบริโภคก่อน" (Best Before) และคำว่า "หมดอายุ" เพราะฉะนั้นต้องมาทำความเข้าใจกับ 2 คำนี้ให้ชัด ๆ ไปเลย
- คำว่า "หมดอายุ" หมายความว่า หลังจากวันนั้นแล้ว ห้ามรับประทานหรือบริโภค
- คำว่า "ควรบริโภคก่อน" หมายความว่า อาหารจะมีลักษณะดี หรือรสชาติดี ถึงวันที่ที่ระบุไว้ แต่หลังจากวันดังกล่าวไปแล้ว รสชาติ หรือคุณค่าทางอาหารอาจลดลง เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังทานได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย
เอ...แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า หลังจากถึงวันที่ควรบริโภคก่อนไปแล้วอีกนานเท่าไรถึงจะยังปลอดภัย มาดูอายุของอาหารทีละชนิดกันเลย
- ไข่ ถ้าเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น อุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียส ไข่จะอยู่ได้นาน 3-5 สัปดาห์
- อาหารกระป๋อง สามารถเก็บได้อีก 1 ปี หรือนานกว่านั้นเมื่อหมดอายุที่กำหนดไว้ เพราะอาหารกระป๋องมักถูกปิดผนึกแบบสุญญากาศ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรีย
- ขนมปัง ถ้าเก็บไว้นอกตู้เย็น จะอยู่ได้ 3-5 วัน แต่ถ้าเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง จะอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ยังทานต่อได้
- ซีเรียล ถ้ายังไม่เปิดกล่อง แม้จะเลยวันหมดอายุไปแล้วก็ยังทานต่อไปภายใน 6 เดือน-1 ปี ถ้าเราเก็บในตู้เย็น
อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานอาหารทุกชนิด อย่าลืมสำรวจคุณภาพด้วย ว่าสีหรือกลิ่นผิดปกติไปหรือยัง เพราะบางทีแม้จะยังไม่ถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ แต่อาหารเหล่านั้นผ่านการปนเปื้อน หรือปิดผนึกมาไม่ดี ก็อาจบูดเสียได้ก่อนถึงวันหมดอายุเช่นกันนะ