เราเรียนรู้กันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่า ยา เป็นหนึ่งปัจจัย 4 ที่สำคัญในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยโรคใดก็มักจะต้องใช้ยาเพื่อช่วยให้อาการป่วยทุเลาลง แม้แต่อาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้หวัด หรือแพ้อากาศ ซึ่งอาการป่วยเหล่านี้เราสามารถรักษาตัวเองได้ด้วยการรับประทานยา
แต่ทว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังรับประทานยาไม่ถูกวิธี ทำให้อาการป่วยที่ควรจะหายได้ในเวลาไม่กี่วันหลังจากการรับประทานยาก็กลับไม่หายสักที นั่นก็เป็นเพราะยาที่เรารับประทานเข้าไปทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพจากการใช้ยาที่ผิดวิธีนั้นเอง วันนี้เราก็เลยนำข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการรับประทานยาที่ถูกต้องมาฝากกันค่ะ ป่วยคราวหน้าจะได้รับประทานกันได้ถูกวิธี
วิธีการใช้ยาตามฉลากให้ถูกวิธี
* ยาก่อนอาหาร - ให้กินยาก่อนรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที และควรรับประทานขณะที่ท้องว่าง
* ยาพร้อมอาหาร - ควรรับประทานยาดังกล่าวพร้อมอาหารคำแรก หรือหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง
* ยาหลังอาหาร - ควรกินยาดังกล่าวหลังจากรับประทานอาหารเสร็จประมาณ 15 - 30 นาที
* ยาหลังอาหารทันที - ควรรับประทานยาทันทีหลังจากทานอาหารเสร็จ
* รับประทานยาชนิดนี้แล้วควรดื่มน้ำตามมาก ๆ - ควรดื่มน้ำตามหลังจากกินยาให้มาก ๆ เพราะยาดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียงให้คลื่นไส้อาเจียน หรืออาจตกตะกอนในไตได้ง่าย การดื่มน้ำตามมาก ๆ จะช่วยลดผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้
* รับประทานยานี้แล้วอาจมีอาการง่วงนอน - หลังจากรับประทานยาชนิดนี้แล้วควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการใช้เครื่องจัก เพราะยาประเภทนี้จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางและควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิด เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
* รับประทานยาติดต่อกันจนกว่าจะหมด - ยาบางชนิดเป็นยาที่จะต้องได้รับอย่างต่อเนื่องถึงจะหายขาด หากรับประทานไม่ครบอาจทำให้อาการป่วยกลับมาหรือเกิดการดื้อยา ยกตัวอย่างเช่นยาในกลุ่มรักษาโรคติดเชื้อเป็นต้น
* เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน - ยาบางกลุ่ม เช่นยาลดกรด ก่อนกลืนควรเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อที่ตัวยาจะได้กระจายตัวทั่วส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหารได้ทั่วถึง และทำให้ยาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
ใช้ยาอย่างไรให้ได้ผลดี ?
ยา ถึงแม้ว่าจะช่วยรักษาโรคแต่ก็ยังมีความอันตรายและมีโทษอยู่ดี ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ดีทุกครั้งก่อนที่จะใช้ยา และควรปฏิบัติตามหลักดังต่อไปนี้เพื่อให้ยาที่ใช้มีประโยชน์ต่อการรักษาสูงสุดค่ะ
- อ่านฉลากและคำแนะนำ และข้อบ่งใช้ให้ละเอียด ศึกษาวิธีการใช้ยา ปริมาณที่ใช้ และระยะในการใช้ยา รวมทั้งตรวจดูวันผลิตและหมดอายุให้ดี เพื่อป้องการใช้ยาหมดอายุค่ะ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยา หรือคำสั่งจากแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรเพิ่มและลดยาเองโดยไม่จำเป็น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่มีฉลากหรือเอกสารประกอบยา เพราะอาจทำให้รับประทานยาผิดได้
- หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบหยุดใช้ยาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น
- หากยาหรือบรรจุภัณฑ์มีลักษณะที่ผิดปกติเช่นเกิดการเสื่อมสภาพ ไม่ควรนำมาใช้ และควรทิ้งทันทีเพื่อป้องกันการหยิบนำมาใช้ผิด
- เก็บยาให้เป็นที่ ไม่วางปนกับอาหารหรือของใช้อื่น ๆ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร และผู้ที่มีอาการของโรคร้ายแรง ไม่ควรใช้ยารักษาด้วยตนเอง จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้นจึงจะใช้ยาได้ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน
- การใช้ยารักษาอาการบวมเขียวหรือช้ำ อย่างเช่นยาหม่อง หรือยาทาบางชนิด ไม่ควรใช้ทันทีหลังจากบาดเจ็บเพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น ก่อนใช้ยาควรประคบด้วยความเย็นเพื่อให้เส้นเลือดที่บวมจากการบาดเจ็บหดตัวลงก่อนแล้วจึงจะใช้ยาทาบรรเทาอาการเจ็บปวด
- ไม่ควรรับประทานยาโดยตรงจากขวด เพราะเชื้อโรคที่อยู่ในปากและคอจะลงไปเจือปนในขวดยา และยังส่งผลให้ปริมาณในการรับประทานยาแต่ละครั้งไม่เท่ากันอีกด้วย
- หากลืมรับประทานยา ไม่ควรเพิ่มยาเป็น 2 เท่าในครั้งต่อไปเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้ได้รับยาเกินขนาดจนเป็นอันตรายได้ หากลืมทานยาควรรับประทานทันทีที่นึกได้จะดีกว่า
ข้อควรทราบเกี่ยวกับการใช้ยา
ยาฉีดไม่ได้ดีกว่ายารับประทานเสมอไป
ยาฉีดเป็นยาที่ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยารับประทานได้ หรือจะต้องได้รับยาในระดับสูงทันทีเท่านั้น เนื่องจากตัวยาจะมีความรุนแรงในการรักษามากกว่าและแก้ไขได้ยากหากเกิดการผิดพลาดในการใช้
ยาแพงไม่ได้ดีกว่าเสมอไป
ราคาของยาไม่ได้บ่งชี้ถึงคุณภาพของยา เพราะบางครั้งยาตัวเดียวกันอาจจะมีราคาแตกต่างกันเพราะค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ ยาบางชนิดอาจจะมีราคาที่ถูกกว่าแต่ให้ผลการรักษาที่ดีกว่าก็เป็นได้
ยาตัวใหม่อาจส่งผลข้างเคียงได้มากกว่า
หลายคนอาจจะคิดว่ายาตัวใหม่จะสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ดีกว่า แต่จริง ๆ แล้วยาตัวใหม่อาจส่งผลข้างเคียงได้มากกว่า หรือรักษาอาการป่วยได้ช้ากว่า เนื่องจากยาตัวใหม่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ออกฤทธิ์ดีเท่ายาตัวเก่าที่มีการพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว
ยาขนานแรงไม่เหมาะกับทุกคน
ยาขนานแรงไม่ใช่ยาที่ดีที่สุดค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะขนานแรง แต่ถ้าไม่ใช่ยาที่รักษาได้ตรงอาการก็ไม่สามารถหายป่วยได้เช่นกัน แถมยังอาจจะส่งผลเสียทำให้ยาเกิดการตกค้างในร่างกายได้อีกด้วย
ยาชุดอาจจะเป็นอันตรายกว่ายาทั่วไป
ยาชุดบางชนิดมีการเพิ่มตัวอย่างบางอย่างเข้าไปจนกลายเป็นอันตราย อย่างเช่นสารสเตียรอยด์ เพื่อให้ยาเหล่านั้นแรงขึ้นและทำให้หายป่วยไว แต่ถ้าหากรับประทานบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ การรับประทานเพียงชนิดเดียวสามารถรักษาให้หายป่วยได้เช่นกันและปลอดภัยกว่ามาก
รับประทานยาไม่ตรงเวลา ยาที่ใช้ก็ไร้ประโยชน์
ยาหลายชนิดมีการระบุเวลาการใช้ยาเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งควรทำตาม เพราะหากรับประทานยาไม่ตรงเวลา ยาเหล่านั้นก็อาจจะออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่หรือไม่มีผลต่อการรักษาเลยก็ได้ หรือยาบางชนิดอาจจะมีผลข้างเคียงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้หากรับประทานยาผิดเวลา
การรับประทานยาที่ถูกวิธี ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเลยใช่ไหมล่ะคะ แค่เพียงเราต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีการใช้ให้ชัดเจนก่อนจะใช้ยาเท่านั้น ฉะนั้นทุกครั้งก่อนรับประทานยาอย่าลืมอ่านฉลากให้แน่ใจก่อนด้วยนะ เพื่อที่ยาเหล่านั้นจะได้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่และปลอดภัยต่อสุขภาพ
สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
เฟซบุ๊ก FDA Thai