x close

เตือนภัยช่วงปิดเทอม... โรคไข้สมองอักเสบ



 

          โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคที่เกิดจากยุง เด็ก ๆ ควรระวังให้มากในช่วงปิดเทอมนี้ โดยฉีดวัคซีนป้องกัน

          โรคไข้สมองอักเสบเจอี เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Japanese encephalitis  (JE) เรียกว่า Japanese เนื่องจากพบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันพบโรคนี้ในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนบนของทวีปออสเตรเลีย

          ส่วนประเทศไทยพบได้ทุกภาค และพบมากที่สุดในภาคเหนือและภาคตะวันออกฉียงเหนือ ส่วนมากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชานเมืองในบริเวณที่มีการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ตามท้องไร่ ท้องนา ตามแหล่งชนบทเป็นพื้นที่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 

          โรคไข้สมองอักเสบเจอีนี้ เป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากที่สุดในเด็กอายุ 5-9 ปี โดยมียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค และสุกรเป็นรังของโรคที่สำคัญ เมื่อยุงไปกัดสุกรที่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ไวรัสจะเพิ่มจำนวนขยายตัวในต่อมน้ำลายยุง และถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดขณะยุงกัดคน เมื่อยุงไปกัดคนที่ไม่มีภูมิต้านทานโรค คนก็จะได้รับเชื้อไวรัสและเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว

          การระบาดของโรคมักเกิดกับสุกรก่อนที่จะมาสู่คน เชื้อเจอียังอาศัยอยู่ในสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ป่า สัตว์เลี้ยงอื่นได้ เช่น แพะ แกะ ลา หนู นก ค้างคาว ไก่ เป็ด โดยไม่ทำให้สัตว์มีอาการผิดปกติ จึงเป็นแหล่งกระจายเชื้อซึ่งระบาดในท้องถิ่น

          โรคนี้มีระยะฟักตัว 1-2 สัปดาห์หลังถูกยุงกัด ผู้ติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ จะมีเพียง 1 ใน 300 คนเท่านั้นที่จะแสดงอาการออกมา และหากมีอาการทางสมองแล้วมีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 10 -20% หรือถ้าหากไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่หลังหายจากโรคแล้ว 60% จะมีอาการทางสมองและระบบประสาทเหลืออยู่ เช่น อัมพาต ความจำเสื่อม โรคลมชัก

          นับว่าโรคนี้มีความสำคัญและรุนแรงที่สุดในบรรดาโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ แต่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

ไข้สมองอักเสบ


          อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและคอแข็ง ต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะมากขึ้น มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก เบื่ออาหาร พูดลำบาก ตาพร่า กลัวแสง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง กระวนกระวาย อาจมีกล้ามเนื้อกระตุกเป็นบางส่วน มือเท้าเกร็งหรือชัก 

          บางรายอาจเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อลูกตาหรือกล้ามเนื้อแขนขา ผู้ป่วยมักมีอาการซึมมากในระยะ 24–48 ชั่วโมง ในรายที่มีอาการรุนแรงจะไม่รู้สึกตัวและทำให้เสียชีวิตได้ ระยะของโรคประมาณ 4-7 สัปดาห์ วินิจฉัยจากอาการทางคลินิคร่วมกับการเจาะน้ำไขสันหลังตรวจหาเชื้อ

          พญ.กรุณา อธิกิจ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดายเพราะ การรักษาไม่มียารักษาโดยตรง แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือ เจาะคอในรายที่หมดสติหรือมีเสมหะมาก ให้อาหารทางสายยาง ให้ยากันชักหรือยาสเตียรอยด์ ทั้งนี้ผลของการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วย

          การป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโรค โดยควรกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธ์ยุง ระวังอย่าให้โดนยุงกัด ซึ่งจะออกกหากินในเวลาพลบค่ำถึงกลางคืน โดยทายากันยุง นอนกางมุ้ง หรือติดมุ้งลวดในบ้าน ไม่ควรเลี้ยงสุกรในบริเวณใกล้บ้านที่อยู่อาศัย และที่สำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีน

          อย่างไรก็ดีการป้องกันไว้ก่อนเป็นสิ่งที่ดี เพราะโรคนี้รักษายาก การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แนะนำให้เด็กไทยทุกคนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ระบาดของไข้สมองเจอี โดยฉีดใต้ผิวหนังในเด็กอายุมากกว่า 1 ปี รวมทั้งแนะนำให้ฉีดวัคซีนสำหรับผู้ต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดของโรคตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป โดยเป็นผู้ที่ไม่น่าจะมีภูมิต้านทาน เช่น ผู้ที่อยู่แต่ในเมือง ไม่เคยอาศัยอยู่ในชนบท ชาวต่างประเทศที่เดินทางมาไทย พื้นที่ระบาดได้แก่ ชนบทที่มีทุ่งนาทุกแห่ง โดยเฉพาะหน้าฝน โดยแพทย์จะฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีให้ 1-2 เข็ม ก่อนเดินทางหนึ่งเดือน
 

 เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย พญ.กรุณา อธิกิจ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท


       



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนภัยช่วงปิดเทอม... โรคไข้สมองอักเสบ อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2558 เวลา 17:23:08 2,174 อ่าน
TOP