แกนสับปะรด ถ้าไม่เคยกินก็ต้องลองสักครั้ง เพราะส่วนนี้แหละมีสารอาหารสำคัญสะสมอยู่มากกว่าเนื้อหวาน ๆ ฉ่ำ ๆ ซะอีก
คนส่วนใหญ่เวลาปอกสับปะรดก็มักจะหั่นเอาแต่เนื้อแล้วโยนแกนแข็ง ๆ สีขาว ๆ ทิ้งขยะไป โดยหารู้ไม่ว่าเรากำลังทิ้งของดีไปเสียแล้ว เพราะแกนสับปะรด หรือไส้กลางแข็ง ๆ นี่แหละที่มีสารอาหารมากกว่าเนื้อเหลืองที่เราทานด้วยซ้ำ กระปุกดอทคอม เลยรีบหยิบเอาประโยชน์ของแกนสับปะรดมาบอกไว้ก่อน จะได้ทานกันเพื่อรับประโยชน์มากมายจากผลไม้ชนิดนี้
คุณค่าทางโภชนาการของสับปะรด
ก่อนจะไปรับทราบถึงประโยชน์ของแกนสับปะรด มาดูข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของสับปะรดทั้งลูกกันก่อนค่ะ โดยจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ สหรัฐฯ พบว่า ในสับปะรด 100 กรัม ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี มีคุณค่าทางสารอาหารสำคัญ ๆ ดังนี้
- น้ำ 86 กรัม
- โปรตีน 0.54 กรัม
- ไขมันรวม 0.12 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 13.12 กรัม
- ไฟเบอร์ 1.4 กรัม
- น้ำตาล 9.85 กรัม
- แคลเซียม 13 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.29 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 8 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 109 มิลลิกรัม
- โซเดียม 1 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.12 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 47.8 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.112 มิลลิกรัม
- โฟเลต 18 µg
- วิตามินเอ 58 IU
ประโยชน์จากแกนสับปะรด และเนื้อสับปะรด
แม้จะแข็งและรสฝาดไปสักหน่อย แต่จะบอกว่าแกนสับปะรด หรือไส้กลางสับปะรดนี่คือแหล่งสะสมสารอาหารของสับปะรดเลย โดยเฉพาะเอนไซม์บรอมีเลน (BROMELAIN) ที่จริง ๆ แล้วมีอยู่ในทุกส่วนของสับปะรด แต่พบในส่วนแกนมากที่สุด ซึ่งสารนี้มีประโยชน์มากมาย คือ
- มีฤทธิ์ช่วยย่อยอาหาร ถ้ามื้อไหนรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์เข้าไปมาก ๆ จนจุกเสียด แน่นท้อง ให้ทานสับปะรดเข้าไปหลังรับประทานอาหารจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
- ช่วยสมานแผลและลดการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะเอนไซม์บรอมีเลนมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้ออ่อน ๆ คอยทำลายแบคทีเรียที่ไม่มีประโยชน์
- ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ มีกากใยมาก จึงช่วยแก้ท้องผูกได้ แต่ก็ไม่ควรทานมากไป เพราะจะทำให้ท้องเสียแทน
- มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ลดสาเหตุการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จึงช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้
- อาจช่วยลดอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ หลังจากออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนัก ๆ
- มีส่วนช่วยป้องกันการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะเอนไซม์บรอมีเลนจะไปช่วยลดการเกาะกันเป็นลิ่มเลือดของเกล็ดเลือด
- เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ต่อต้านโรคมะเร็ง นั่นเพราะบรอมีเลนจะทำให้เม็ดเลือดขาวหลั่งสารไซโตไคน์ ที่ทำให้เม็ดเลือดขาวกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่
- กระตุ้นฮอร์โมนเพศชาย ช่วยเพิ่มระดับเทสโทสเตอโรน ถือเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดีให้คุณผู้ชาย
- มีส่วนช่วยบรรเทาโรคเกาต์ได้ โดยกินสับปะรด 1/4 ผล (ขนาดเล็ก) วันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อให้เอนไซม์บรอมีเลนช่วยต้านการอักเสบ ลดความเจ็บปวดจากการอักเสบ
วิธีกินสับปะรดที่ถูกต้อง
เมื่อทราบประโยชน์ของแกนสับปะรดแล้ว คราวหน้าเวลาหั่นสับปะรดก็ควรหั่นเนื้อมาพร้อมกับแกนกลางด้วยจะดีกว่าทานแต่เนื้ออย่างเดียว แต่ถึงกระนั้นหลายคนอาจจะกลัวว่าเวลาทานแล้วจะเจ็บลิ้นและปาก ซึ่งถ้าเรารู้จักการทานสับปะรดอย่างถูกวิธีก็ไม่ต้องกลัวว่าจะแสบลิ้นตามมา โดยเวลาทานสับปะรดต้องทำแบบนี้
- ใช้มีดเฉือนเปลือกออกจนหมด
- จากนั้นใช้มีดตัดส่วนตาออกเป็นร่องเฉียง
- ตัดเป็นชิ้น แล้วเอาเกลือทาให้ทั่ว หรือแช่ในน้ำเกลืออ่อน ๆ ประมาณ 2-3 นาที
โดยการทาเกลือหรือแช่ในน้ำเกลือจะช่วยทำให้เอนไซม์บรอมีเลนที่มีฤทธิ์เป็นกรด ปรับเปลี่ยนโครงสร้างไม่สามารถเกิดปฏิกิริยากับอวัยวะในปาก และยังเป็นการทำลายสารจำพวก Glycoalkaoid จึงไม่ทำให้เกิดอาการแพ้จนแสบลิ้น
คนท้องกินสับปะรดได้ไหม?
มีคนพูดกันว่า สตรีมีครรภ์ไม่ควรทานสับปะรด เพราะอาจจะทำให้มีโอกาสแท้งบุตรมากขึ้น แต่ความจริงคือ เรื่องนี้ยังไม่มีผลการศึกษายืนยันชัดเจนค่ะ แต่มีข้อมูลจาก พญ.จันทรฉวี เจริญพานิช สูตินรีแพทย์ และคุณเยาวลักษณ์ รูปปัทม์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ประจำโรงพยาบาลพญาไท 1 แนะนำไว้ในนิตยสารรักลูก ว่า คนท้องสามารถกินสับปะรดได้ เพื่อช่วยย่อยอาหาร ลดอาการแน่นท้อง การบวม อักเสบ และขับสารพิษออกจากร่างกาย
ขณะที่นักวิชาการในต่างประเทศ ผู้เขียนหนังสือ "What to Eat When You\'re Pregnant." บอกว่านี่เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะคนเข้าใจกันว่า ในเมื่อเอนไซม์บรอมีเลนมีความสามารถในการย่อยโปรตีน ก็น่าจะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ที่เป็นสิ่งที่โปรตีนสร้างขึ้นมาด้วยเหมือนกัน จึงเกรงว่าหากทานสับปะรดเข้าไปจะไปทำให้คุณแม่มีอาการตกเลือดและแท้งได้ ซึ่งไม่ใช่ความจริง
แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลจากต่างประเทศก็แนะนำให้ว่าที่คุณแม่ทานสับปะรดในปริมาณที่เหมาะสม คือสัปดาห์ละประมาณ 1-2 หน่วยบริโภค (1 หน่วยบริโภคประมาณ 1 ถ้วย) และควรทานสับปะรดสดเท่านั้น ไม่ควรทานในรูปแบบสับปะรดกระป๋อง หรือน้ำสับปะรด ซึ่งถูกสกัดสารบรอมีเลนออกไปพอสมควร
ทั้งนี้เรื่องการทานสับปะรดแล้วจะเกิดผลเสียต่อสตรีมีครรภ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ทานและร่างกายของแต่ละคนที่แตกต่างกันมากกว่าค่ะ บางคนทานแล้วอาจไม่เป็นอะไร แต่บางคนทานแล้วอาจมีอาการไม่ดีก็เป็นได้ หากไม่แน่ใจว่าตัวเองทานได้ไหม ลองปรึกษาแพทย์ดีกว่าค่ะ
ข้อควรระวังในการกินสับปะรด
- ไม่ควรกินตอนท้องว่าง เพราะเป็นผลไม้ที่มีเอนไซม์มาก มีรสเปรี้ยว กินแล้วอาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- ไม่ควรกินสับปะรดดิบ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง และก็ไม่ควรกินสับปะรดที่สุกเกินไป เพราะอาจเริ่มเน่า แล้วทำให้ท้องเสียได้
เข้าใจเรื่องสับปะรดกันแล้ว ครั้งหน้าถ้าจะซื้อผลไม้รถเข็นก็ขอแกนสับปะรดติดถุงมาด้วย ถ้าหั่นปุ๊บ ทิ้งปั๊บ แบบนี้เสียดายของดี ๆ แย่เลยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับสับปะรด
- ทำไมกินสับปะรดแล้วแสบลิ้น แล้วมีวิธีกินยังไงไม่ให้แสบ
- วิธีปอกสับปะรด ตาออกหมดเกลี้ยงไม่เละ พร้อมเคล็ดลับสับปะรดไม่กัดลิ้น
- 5 สูตรขนมจากสับปะรด รวมเมนูอร่อยเปรี้ยวอมหวานจากเนื้อผลไม้
- 5 เมนูแกงสับปะรด กับข้าวแบบไทยหวานฉ่ำหอมพริกแกง
- 20 เมนูสับปะรด จับทำอาหารเพื่อสุขภาพหน้าตาเย้ายวน
- วิธีปอกสับปะรด ตาออกหมดเกลี้ยงไม่เละ พร้อมเคล็ดลับสับปะรดไม่กัดลิ้น
- 5 สูตรขนมจากสับปะรด รวมเมนูอร่อยเปรี้ยวอมหวานจากเนื้อผลไม้
- 5 เมนูแกงสับปะรด กับข้าวแบบไทยหวานฉ่ำหอมพริกแกง
- 20 เมนูสับปะรด จับทำอาหารเพื่อสุขภาพหน้าตาเย้ายวน
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน, คมชัดลึก, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, มหาวิทยาลัยบูรพา, livestrong.com, เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก