x close

หลากคำถามกับ 30 บาท (ที่ไม่ต้องจ่ายแล้ว)

โรงพยาบาล



22 คำถามกับ 30 บาท (ที่ไม่ต้องจ่ายแล้ว) (ชีวจิต)

         แม้ว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะพัฒนาการให้บริการที่ดีขึ้น แต่ผู้ใช้บริการก็ยังคงสับสนและประสบปัญหาอีกกระบุงโกย เอาเป็นว่า เรามาหาคำตอบเพื่อการเข้าถึงบริการบัตรทองได้ดีกว่าค่ะ

1.ใครกันนะมีสิทธิได้บัตรทอง 

         ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ บุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ ตัวอย่างบุคคลที่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจากรัฐ เช่น

         หนึ่ง ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป ยกเว้น ลูกจ้างทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย หรือลูกจ้างของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

         สอง ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ และครอบครัว

         สาม ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ ครูโรงเรียนเอกชนในระบบ

 2.เจ้าตัวเล็กแรกคลอดก็มีบัตรทอง 

         กรณีเด็กแรกเกิดที่เกิดมามีสัญชาติไทย ถ้าไม่มีสิทธิอื่นใดที่รัฐจัดให้ เช่น สิทธิข้าราชการที่เบิกจากบิดาหรือมารดา ก็ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ หากจะให้ได้รับสิทธิบัตรทอง โดยสมบูรณ์ ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้าน และสูติบัตร ติดต่อขอลงทะเบียนทำบัตรทองได้ที่ ต่างจังหวัด ติดต่อ สถานีอนามัย หรือ โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ในวันเวลาราชการ กรุงเทพฯ ติดต่อ สำนักงานเขตทุกเขต ในวันเวลาราชการ

 3.ถ้าเจ็บป่วยจะไปหาหมออย่างไร 

         ผู้ป่วยจะต้องไปใช้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ระบุไว้ในบัตรก่อน หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย ศูนย์การแพทย์ชุมชน หรือคลินิกที่เข้าร่วมกับบัตรทอง และเมื่อหน่วยงานปฐมภูมิเหล่านี้รักษาไม่ได้ ก็จะออกใบส่งตัวให้คนไข้ไปรักษายังหน่วยบริการขั้นสูง ที่ระบุในบัตร เช่น โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ แต่หากคนไข้เดินทางไปยังโรงพยาบาลเลย โดยไม่ผ่านการตรวจจากหน่วยบริการปฐมภูมิคนไข้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่สามารถตรงไปยังโรงพยาบาลใหญ่ได้เลย

 4.ตกงานอย่าตกใจ 

         ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างงานสามารถส่งเงินสมทบต่อ เพื่อรักษาสิทธิจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลและสิทธิอื่นๆ ตามมาตรา 39 

         สำหรับผู้ประกันตนที่ไม่ประสงค์จะส่งเงินสมทบต่อหลังจากถูกเลิกจ้างงาน 6 เดือน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเจ็บป่วย สามารถขอลงทะเบียนมีสิทธิบัตรทอง โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆได้ที่ ต่างจังหวัด ติดต่อ สถานีอนามัย หรือ โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ในวันเวลาราชการ กรุงเทพฯ ติดต่อ สำนักงานเขตทุกเขต ในวันเวลาราชการ

 5.ย้ายบ้านย้ายโรงพยาบาล 

         การย้ายที่อยู่อาศัย หรือย้ายที่ทำงาน ควรจะย้ายหน่วยบริการตามที่พักอาศัยจริง ในกรุงเทพฯ สามารถติดต่อขอย้ายหน่วยบริการได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต ตามวันเวลาราชการ กรณีมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องใช้หลักฐาน 

         1.สำเนาทะเบียนบ้าน 
         2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สูติบัตร (ใบเกิด)

         กรณีไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่พักอาศัยอยู่ ต้องใช้หลักฐาน อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

         1.สำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลที่ตนไปพักอาศัย พร้อมหนังสือรับรองของเจ้าของบ้าน
         2.หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน ซึ่งรับรองว่าผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ
         3.หนังสือรับรองของผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง
         4.เอกสารหรือหลักฐานอื่นๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าสาธารณูปโภค ใบเสร็จรับเงินค่าเช่า ที่พัก สัญญาเช่าที่พัก ฯลฯ ที่แสดงว่าบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่หรือที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ (หากมีการลงทะเบียนแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจด้วย

 6.เหตุผลที่ต้องจ่ายเอง 

         บุคคลที่ลงทะเบียนแล้ว ให้ใช้สิทธิบริการสาธารณสุขได้จากหน่วยบริการประจำของตน หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยบริการประจำส่งต่อไปรักษายังหน่วยบริการอื่น เว้นแต่กรณี อุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้บุคคลนั้นมีสิทธิเข้ารับบริการยังหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยใช้สิทธิบัตรทองได้ (หากเป็นกรณีรักษาโรคทั่วไป และไปใช้สิทธิข้ามเขต ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด) หรือกรณีมีการร้องขอของคนไข้ที่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องการห้องนอนห้องพิเศษ เป็นต้น

 7.เปลี่ยนสถานพยาบาลได้ถ้าไม่พอใจ 

         หากคลินิกหรือสถานบริการที่ให้การรักษาไม่เป็นที่พอใจ ผู้ป่วยมีสิทธิของย้ายสถานพยาบาลได้ โดยจะอนุญาตให้ย้ายปีละ 2 ครั้งเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาคลินิกที่อยู่ใกล้บ้าน และสะดวกต่อการไปใช้บริการของคนไข้ด้วย

 8.ยาดีมีคุณภาพจริงไหม 

         ยาที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติพิจารณายาให้เป็นปัจจุบัน สามารถครอบคลุมการรักษาทุกโรคและเป็นยาที่มีคุณภาพดี

 9.ขอตรวจสุขภาพได้ไหม 

         การตรวจสุขภาพประจำปี สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ แต่การตรวจสุขภาพในที่นี้ หมายถึง การตรวจคัดกรองความเสี่ยง เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไปตามความจำเป็น และค้นหาประวัติและพฤติกรรมสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ตามดุลยพินิจและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งได้แก่ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจความดัน ตรวจหามะเร็งปากมดลูก

 10.วางแผนครอบครัวฟรี 

         การคุมกำเนิดโดยการฉีดยาคุม หรือฝังยาคุม ถือเป็นการวางแผนครอบครัว สามารถใช้สิทธิบัตรทอง โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริการ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลากคำถามกับ 30 บาท (ที่ไม่ต้องจ่ายแล้ว) อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 08:21:58 55,346 อ่าน
TOP