ลองก้มดูมือทั้ง 2 ข้างดูซิว่ามีความผิดแปลกไปจากปกติหรือเปล่า ความผิดปกติบนมือเพียงนิดเดียวอาจเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่คุณคาดไม่ถึง
ร่างกายของคนเราเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยก็มักจะแสดงออกให้เราเห็นได้ทั้งอาการจากภายในร่างกาย
หรือความเปลี่ยนแปลงภายนอกร่างกาย
ซึ่งอวัยวะหนึ่งที่ส่งสัญญาณของอาการเจ็บป่วยให้เราทราบได้ ก็คือมือทั้ง 2
ข้างของเรานั่นเอง การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยบนมือของเราที่เรามองข้ามไป
อย่างเช่น โคนเล็บซีด หรือผิวหนังแห้งแตกนั้น
ก็อาจจะเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงจนเราคาดไม่ถึงก็ได้
วันนี้กระปุกดอทคอม ก็เลยหยิบยกเอาเรื่องมือบอกโรค จากเว็บไซต์ Prevention มาบอกเล่าให้ฟังกัน รู้ไว้ก่อน จะได้หมั่นสังเกต หากพบความผิดปกติจะได้รีบรักษาก่อนที่จะปัญหาสุขภาพจะคุกคามชีวิตเราค่ะ
หากมือของคุณเกิดอาการสั่นจนควบคุมไม่ได้ อันดับแรกเลยคืออย่าเพิ่งตื่นตกใจค่ะ เพราะอาการมือสั่นนั้นอาจจะไม่ได้มาจากปัญหาสุขภาพแต่เป็นเพราะว่าคุณดื่มคาเฟอีนมากเกินไป หรืออาจจะเป็นเพราะผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น การใช้ยารักษาโรคหอบหืด หรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น แต่ถ้าหากอยู่ดี ๆ คุณก็เกิดอาการมือสั่นโดยไม่ได้มาจากสาเหตุเหล่านี้ละก็ นั่นอาจจะเป็นอาการเริ่มแรกของโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวของกับระบบประสาทที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นเพื่อความแน่ใจควรจะไปพบแพทย์เพื่อความชัวร์ดีกว่าค่ะ
2. เล็บเปราะหรือหักง่าย
การที่เล็บอ่อนแอและเปราะบางลง สาเหตุสำคัญนั้นมากจากการขาดธาตุสังกะสีในร่างกาย ซึ่งสังกะสีนั้นมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและการผลัดของเซลล์ผิว ดังนั้นหากคุณเล็บเปราะและหักได้ง่าย ควรจะรับประทานอาหารที่มีสังกะสีให้มากขึ้น ซึ่งก็ได้แก่ จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ถั่ว และเนื้อสัตว์ค่ะ
3. ผิวลอกและเป็นขุย
หากอยู่ดี ๆ ปลายนิ้วของคุณก็เกิดลอกและเป็นขุย นั่นแปลว่าร่างกายของคุณกำลังขาดวิตามินบี อาทิเช่นวิตามินบี 3 (ไนอาซิน) และ ไบโอติน (วิตามินบี 7) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อสุขภาพผิวเป็นอย่างยิ่ง เพราะแร่ธาตุอย่างไบโอตินนั้นมีความสำคัญในการสร้างเสริมให้ผิวหนังและเล็บมีสุขภาพที่แข็งแรง และไนอาซินก็ทำหน้าที่ในการปกป้องและช่วยซ่อมแซมผิวหนังด้วยการป้องกันกันก่อตัวของเมลานิน นอกจากนี้ยังช่วยสร้างเสริมคอลลาเจน และช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นอยู่เสมออีกด้วย ถ้าไม่อยากให้ผิวหนังลอกหรือเป็นขุยก็ควรจะรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไนอาซิน อย่างเช่นปลา, ถั่วลิสง และเห็ด ส่วนอาหารที่มีไบโอตินสูงนั้นก็ได้แก่ อะโวคาโด หรือปลาทูน่าค่ะ
4. ผิวแห้ง เป็นผื่นหรือมีอาการคัน
อาการเหล่านี้เป็นอาการของผิวแห้ง ซึ่งถ้าหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแม้ว่าคุณจะใช้โลชันบำรุงมือแล้วก็ตาม ควรจะไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษา โดยแพทย์ผิวหนังอาจจะให้ใช้ครีมบางชนิดเพื่อฟื้นฟูผิวที่หยาบกร้านของคุณ ทั้งนี้สาเหตุของผิวแห้งบริเวณมือก็มาจากการที่คุณล้างมือบ่อย หรือสัมผัสกับกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ ตลอดทั้งวัน ทำให้ผิวหนังบริเวณมือแห้งจนหยาบกร้านและอาจทำให้เกิดผิวแตกและผดผื่นได้ ดังนั้นหากคุณต้องล้างมือหรือสัมผัสกับสิ่งของนาน ๆ ทั้งวัน ควรจะทาโลชันที่อุดมด้วยวิตามินอี ก็สามารถช่วยได้ค่ะ
5. เล็บซีด
โคนเล็บที่ซีดขาวอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคโลหิตจางได้ ซึ่งหมายความว่าในเลือดของคุณมีระดับเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยเกินไปจนไม่สามารถจะนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้ ดังนั้นหากมีอาการโคนเล็บซีดขาวควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเลือดให้แน่ใจ แพทย์จะได้ทำการวางแผนในการรักษาโรคโลหิตจางได้อย่างถูกต้องค่ะ
6. นิ้วเขียวคล้ำ
ปลายนิ้วเขียวคล้ำโดยไม่มีสาเหตุเป็นสัญญาณของโรคเรย์นาร์ด (Raynaud\'s syndrome) ซึ่งอาการนี้จะส่งผลให้ปลายนิ้วมือและเท้าเย็น นอกจากนี้มีอาการเหน็บชาและเสียวแปลบบริเวณปลายนิ้วร่วมด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรคเรย์นาร์ดเกิดจากการที่หลอดเลือดหดเกร็ง และระบบไหลเวียนเลือดลดลง ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของอาการเหล่านี้ที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ การสวมถุงมือ หลีกเลี่ยงความเครียด งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงอากาศเย็น
7. เล็บนิ่ม
เล็บที่มีลักษณะปกตินั้นจะมีความแข็งและไม่เปราะหักง่าย แต่ถ้าหากเล็บของคุณนิ่มละก็แปลว่าร่างกายของคุณกำลังขาดแคลเซียมหรือโปรตีน ซึ่งแคลเซียมที่ต่ำจะทำให้เล็บเปราะบางรวมทั้งผิวแห้งกร้านได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เกิดอาการเหล่านี้ ควรจะรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง เช่น ปลาซาร์ดีนและผักขม แต่ถ้าหากคุณรับประทานอาหารเหล่านั้นเป็นประจำอยู่แล้วแต่ยังมีอาการเล็บนิ่มอยู่ ควรไปพบแพทย์ค่ะ
8. เล็บมีริ้วสีเข้ม
ริ้วสีเข้มที่ปรากฎบนเล็บนั้นเป็นอาการที่ควรจะได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาการนี้เป็นสัญญาณของเนื้องอกที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังใต้เล็บ ซึ่งเป็นโรคที่พบไม่ค่อยบ่อยนัก ฉะนั้นเพื่อความมั่นใจ หากเล็บเกิดริ้วสีเข้มขึ้นควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยจะดีกว่าค่ะ
9. จุดสีน้ำตาลขึ้นตามมือ
จุดสีน้ำตาลที่ขึ้นตามผิวหนังนั้นไม่ใช่สัญญาณของโรคร้ายแต่เกิดจากการที่ผิวหนังโดนแสงแดดโดยตรงและดูดซับเอารังสียูวีเข้าไปในปริมาณที่มากจนทำให้บริเวณที่โดนแดดกลายเป็นจุดสีน้ำตาล ซึ่งการรักษาก็คือการบำรุงด้วยโลชันและป้องกันไม่ให้ผิวหนังโดนแสงแดดมากเกินไป ส่วนวิธีป้องกันก็คือการสวมถุงมือหรือทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ๆ ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงอาการนี้ได้
มือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญกับร่างกายที่ไม่เพียงช่วยหยิบจับสิ่งของแต่ก็ยังบอกถึงอาการต่าง ๆ ภายในร่างกายอย่างที่บอกเล่ากันมาในข้างต้นได้อีกด้วย ฉะนั้นอย่าละเลยความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะหากนั่นคือสัญญาณที่ร่างกายส่งมาเตือนเรา การละเลยอาจทำให้เราต้องมาเสียใจภายหลังได้นะคะ