x close

โรคกระดูกพรุน รู้ตัวแต่เนิ่น ๆ ป้องกันได้



          กระดูกพรุน ฟังดูเผิน ๆ ดูเป็นโรคไกลตัว และไม่น่ากลัวสักเท่าไร แต่จะรู้ไหมว่าโรคนี้ไม่ใช่เล่น ๆ เป็นขึ้นมาแล้วอาจเปลี่ยนชีวิตของคุณไปตลอดกาล


          กระดูกพรุนเป็นโรคที่มาแบบเงียบ ๆ ไม่บอกใคร ไม่มีอาการ แต่เมื่อก่อเรื่องก่อโรคนี้มาแล้ว จัดได้ว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย เพราะความที่มักจะก่อเรื่อง คือ มาทีเดียวกระดูกหักไปเลย และเมื่อหักไปแล้วก็มีการฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลแทรกซ้อนตามมามากมาย วันนี้นำข้อมูลเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนที่ นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา เขียนลงไว้ในนิตยสาร Happy+ มาบอกให้ทราบถึงความน่ากลัว และหาวิธีป้องกัน



กระดูกพรุนคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงพบบ่อยในผู้หญิง

          กระดูกพรุน คือ โรคที่มวลกระดูกมีการลดลงไม่ว่าจากสาเหตุใด ทำให้โครงสร้างของกระดูกอ่อนแอลงและแตกหักได้ง่ายขึ้น

          กระดูกของคนเราจะมีกระบวนการสร้างและทำลายตลอดเวลา ส่วนที่ทำลายก็คือ การทำลายกระดูกเก่า ส่วนที่สร้างก็คือ การสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาเปรียบเหมือนมีการซ่อมบำรุงปรับปรุงโครงสร้างตลอดเวลา

          ในวัยเด็กจนถึงช่วงหนุ่มสาว กระบวนการสร้างจะมากกว่าการทำลาย ร่างกายจะสะสมโครงสร้างกระดูก ทำให้เนื้อกระดูกมีความหนาแน่น จนกระทั่งถึงอายุ 25-30 ปี จะเป็นช่วงที่ร่างกายมีโครงสร้างมวลกระดูกหนาแน่นที่สุด โดยผู้ชายจะมีมวลกระดูกมากกว่าผู้หญิง จากนั้นก็จะปรับเข้าสู่ช่วงถดถอย กระบวนการสร้างกระดูกจะลดลง ทำให้มวลกระดูกค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่อายุเลย 30 ปี เป็นต้นไป

          ในผู้หญิง ช่วงจังหวะที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะเป็นช่วงที่เกิดการเสียมวลกระดูกมากกว่าปกติอีกประมาณ 5-10 ปี ดังนั้น เมื่อประกอบกับผู้ชายมีมวลกระดูกมากกว่าผู้หญิงตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ผู้หญิงจึงมักมีการกระดูกพรุนและกระดูกหักจากกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย




อาการเตือนของกระดูกพรุน

          ไม่มีครับ โรคกระดูกพรุนไม่มีอาการใด ๆ จนกระทั่งมันก่อเรื่องไปแล้ว โดยส่วนมากผู้ที่เป็นมักจะมาพบแพทย์ด้วยการหกล้มหรือกระแทกไม่รุนแรงแต่เกิดกระดูกหัก หรือมาพบแพทย์เพราะมีปัญหาว่าตัวเตี้ยลง หลังค่อมหรือหลังโกงว่าเดิม ซึ่งมักจะพบได้ในกรณีที่เป็นกระดูกพรุนและเกิดการหักชนิดทรุดตัวของกระดูกสันหลัง




ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดุกพรุน

  เพศ อายุ เชื้อชาติ

          พบว่าในเพศหญิงจะมีโรคกระดูกพรุนรมากกว่าเพศชายด้วยสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้น

          อายุก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยผู้สูงอายุจะมีเวลากระดูกลดลงตามธรรมชาติ ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะกระดูกพรุนมากกว่าวัยหนุ่มสาว

          เชื้อชาติเป็นส่วนสำคัญ คนเอเชียและคนเชื้อสายยุโรป จะพบโรคกระดูกพรุนได้บ่อยกว่าคนเชื้อสายแอฟริกัน

  การมีคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน

          สมัยก่อนพบว่าผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักจะมีประวัติการมีโรคกระดูกพรุนของคนในครอบครัว พบได้มากถึง 50-90% ขึ้นกับงานวิจัย และในช่วง 10 กว่าปีมานี้ มีการศึกษาพบยืนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          ทั้งสองข้อนี้ต่างเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ แต่ถ้ารู้ไว้เราก็สามารถนำมาใช้ประเมินว่าควรจะต้องระมัดระวังตัวตั้งแต่ตอนที่ยังพอมีเวลาแก้ไข

  มีดัชนีมวลการต่ำเกินไป

          ดัชนีมวลการคำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรที่ยกกำลังสอง เป็นค่าที่บ่งบอกถึงรูปร่างว่าผอม สมส่วน ท้วม หรืออ้วนเกินไปได้คร่าว ๆ โดยพบว่าคนที่มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20 จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนมากขึ้น

  แอลกอฮอล์และบุหรี่

          แอลกอฮอล์ มีผลต่อการทำงนของตับ ทำให้ตับทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น ระดับฮอร์โมนผิดไปจากปกติ แถมยังไปทำลายเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างกระดูกทำให้การสร้างกระดูกใหม่แย่ลงอีก

          ส่วนบุหรี่ มีสารเคมีหลายชนิดที่มีผลต่อระบบฮอร์โมนและตับได้เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ ทำให้การสร้างกระดูกใหม่เสียไป และนิโคตินกับสารอนุมูลอิสระในบุหรี่ยังไปทำลายเซลล์สร้างกระดูก และลดการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงส่งเสริมการเกิดกระดูกพรุน

  การใช้ยาบางชนิด

          เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะบางชนิด ยากันชัก ยาทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ โดยมักเกิดปัญหาเมื่อใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

  การขาดสารอาหาร

          การขาดแคลเซียม วิตามินดี จะทำให้การสร้างกระดูกไม่ดีเท่าที่ควร

  การออกกำลังกายน้อย

          การสร้างกระดูกใหม่จะสัมพันธ์กับแรงที่มากระทำที่กระดูก ดังนั้น หากมีการลงน้ำหนักที่กระดูกน้อย กระดูกก็จะบางลงเร็วกว่าปกติ จึงเป็นปัญหาในผู้สูงอายุที่ข้อเข่าข้อเท้าเริ่มเสื่อม ปวด ออกกำลังกายได้น้อย คนที่มีอาชีพต้องออกไปอยู่นอกโลกที่ไม่มีแรงโน้มถ่วง หรือคนที่ทำงานนั่งเป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

  โรคที่มีผลต่อฮอร์โมนและมวลกระดูก

          เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไตวายเรื้อรัง โรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ



จะตรวจอย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่

          การตรวจโรคกระดูกพรุนนั้นสามารถทำได้ด้วยการตรวจด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นของเวลากระดูกโดยการตรวจจะเป็นการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วยรังสีเอกซเรย์ขนาดต่ำ ๆ ในบริเวณที่ความเสี่ยงที่จะหักได้บ่อย ได้แก่ ข้อมือ ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง จากนั้นนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับมวลกระดูกของคนปกติในวัยเดียวกัน ซึ่งค่าที่บ่งบอกว่าเป็นกระดูกพรุน คือ ค่าที่น้อยกว่า 2.5 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

          สำหรับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เชน การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจมวลกระดูก การใช้เครื่องตรวจส้นเท้า หรือการเจาะเลือด ยังนับว่ามีปัญหาในเรื่องค่ามาตรฐานและความเที่ยงตรงของมลการตรวจ แต่หากไปตรวจแล้ว พบว่ามีค่าที่ผิดปกติมากและมีความเสี่ยงเรื่องกระดูกพรุน ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการตรวจด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกอีกครั้งหนึ่งครับ



การรักษาป้องกันภาวะกระดูกพรุน

          เมื่อพูดถึงการรักษา หลายคนอาจจะนึกถึงการกินยาบำรุงกระดูก แต่ความเป็นจริงแล้วการรักษาป้องกันภาวะกระดูกพรุนมีหลากมุมมองมากกว่านั้นการจัดการที่จำเป็นเมื่อพบภาวะกระดูกพรุน ได้แก่

การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้หกล้ม

          เป้าหมายของการรักษาโรคกระดูกพรุน ก็คือ การป้องกันการแตกหักของกระดูก ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดกระดูกหักได้บ่อยที่สุด ก็คือ การหกล้ม ดังนั้นที่อยู่อาศัยของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนควรจัดการเรื่องแสงสว่างให้เพียงพอ ติดตั้งราวจับหรือพื้นผิวที่ไม่ลื่น ป้องกันการล้ม ในผู้สูงอายุที่โรคประจำตัวอื่น ๆ ควรรักษาโรคประจำตัวที่มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหรือระบบประสาท เพื่อให้ร่างกายมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว

การออกกำลังกาย

          การออกกำลังกายให้ประโยชน์ในสองด้าน ก็คือ ด้านแรกช่วยให้มีความคล่องแคล่วและมีกำลังกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้โอกาสเสียหลักหกล้มลดลง และด้านถัดมา การออกกำลังกายจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างมวลกระดูกมากขึ้น ทั้งนี้ ชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวสภาพร่างกายเดิม และความหนาแน่นของมวลกระดูกเดิม

การรับประทานยา

          ยาที่ใช้ในการเพิ่มมวลกระดูกมีหลายชนิด เช่น แคลเซียม วิตามินดี หรือยาที่ยับยั้งการทำลายมวลกระดูก ซึ่งการจะเลือกใช้ยาชนิดใดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์ที่รักษา ไม่ควรซื้อมารับประทานเองเพราะ แต่ละชนิดต่างก็มีผลข้างเคียงของยาอยู่

การกำจัดปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้

          ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ รับประทนอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี หลีกเลี่ยงพฤตกรรมการใช้ชีวิตที่อยู่กับที่ ซึ่งข้อนี้คือข้อที่ควรทำในทุกคนไม่ว่าท่านจะเป้นกระดูกพรุนหรือไม่ก็ตาม เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าในอนาคตจะมีโรคอะไรที่ทำเกิดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนขึ้นมาหรือไม่

          การเปลี่ยนจากกระดูกที่ปกติไปเป็นโรคกระดูกพรุน เป็นกระบวนการที่กินเวลาหลายปี การรักษาเพื่อให้สมบูรณ์ปกติก็กินเวลานาน ดังนั้น หากใครรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ปรับพฤติกรรม ปรับการใช้ชีวิตเสียแต่วันนี้เพื่อชีวีที่มีความสุขนะครับ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่อง : นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกระดูกพรุน รู้ตัวแต่เนิ่น ๆ ป้องกันได้ อัปเดตล่าสุด 31 มีนาคม 2558 เวลา 16:46:47 35,919 อ่าน
TOP