
โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloidiasis) หรือสาเหตุของอาการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดที่คร่าชีวิตโค้ชแต๊ก ไปจากวงการลูกหนังไทยอย่างน่าเศร้า จะบอกให้รู้ว่ากลุ่มเสี่ยงโรคนี้คือคนชอบถอดรองเท้าเดินบนพื้นดิน
โลกทุกวันนี้หมุนเร็วจนทั้งเทคโนโลยีและเชื้อโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตเกือบตามไม่ทัน ล่าสุดโค้ชแต๊ก อรรถพล ปุษปาคม โค้ชชื่อดังของวงการลูกหนังไทยก็ต้องจบชีวิตลงอย่างไม่มีใครคาดคิดด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอด อันมีสาเหตุมาจากพยาธิสตรองจิลอยด์ตัวร้าย วันนี้กระปุกดอทคอมจึงอาสาพาคุณมารู้จักโรคพยาธิสตรองจิลอยด์ให้มากขึ้นกันค่ะ รู้แล้วจะได้ป้องกันระวังภัยจากพยาธิสตรองจิลอยด์ได้ทันท่วงที


แพทย์หญิงวีรวรรณ ลุวีระ อาจารย์ประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการปรากฏการณ์ข่าวจริง สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ไว้ว่าพยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloides stercoralis) เป็นพยาธิตัวกลม โดยส่วนมากแล้วระยะติดเชื้อจะเริ่มต้นจากพยาธิตัวอ่อนที่อยู่กระจัดกระจายบนผิวดินที่มีความสกปรกและสิ่งปฏิกูลมาก เข้าสู่ร่างกายคนด้วยวิธีชอนไชเข้าทางผิวหนัง ภายใน 1 สัปดาห์จะเดินทางผ่านปอดและไปเจริญเติบโตเป็นพยาธิสตรองจิลอยด์ตัวแก่ในลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม (duodenum) และลำไส้ส่วนพรอกซิมอล จูเจนัม (proximal jejunum)
และที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือ พยาธิสตรองจิลอยด์เป็นพยาธิที่อยู่ทนอยู่นานในร่างกายเราได้เป็นสิบ ๆ ปี แถมยังแพร่พันธุ์ได้ง่ายหากเจอเข้ากับคู่พยาธิที่มีอยู่แล้วในตัวเรา และเมื่อผสมพันธุ์กันได้ จำนวนเชื้อพยาธิก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแรงลงจนไม่สามารถต้านทานการติดเชื้ออื่น ๆ ลุกลามไปติดเชื้อในกระแสเลือด และเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
โดยเฉพาะหากป่วยด้วยโรคประจำตัวอยู่แล้ว พยาธิตัวนี้จะเข้าไปซ้ำเติมให้อาการป่วยทรุดหนักกว่าเดิมได้อย่างรวดเร็ว

พยาธิสตรองจิลอยด์เจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิอบอุ่นและความชื้นที่เหมาะสม ยิ่งหากพื้นที่เหล่านั้นมีสิ่งปฏิกูลและเศษขยะโสโครกเกลื่อนกลาดยิ่งโตไวและแพร่พันธุ์ง่ายมาก ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงที่อาจโดนพยาธิตัวร้ายจู่โจมคือคนที่ชอบถอดรองเท้าเดินไปยังพื้นที่เหล่านี้ด้วยความประมาท รวมถึงหากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่สิ่งสกปรกก็อันตรายไม่ต่างกัน


เมื่อร่างกายติดเชื้อจากพยาธิสตรองจิลอยด์ ในบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาเลย หรืออาการบ่งชี้นั้นค่อนข้างไม่ชัดเจน เป็นต้นว่าอาจมีอาการท้องเดิน ปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องผูก เป็นลมพิษ ที่พบบ่อยก็มีอาการท้องเดินเป็นครั้งคราวสลับกับท้องผูก ในบางรายที่ติดเชื้อค่อนข้างรุนแรงอาการอาจลามไปถึงปอด ไอ หอบหืด และปอดอักเสบได้
ซึ่งอาการที่ว่ามานี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปัจจัยอื่น ๆ ของผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงการวินิจฉัยโรคของแพทย์ที่อาจไม่เข้าใจอาการของโรคพยาธิสตรองจิลอยด์อย่างถ่องแท้ จนอาจสรุปผลการวินิฉัยโรคบิดเบือนไปก็เป็นสาเหตุที่ทำให้พบโรคนี้เมื่อสายเกินรักษาเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคที่ค่อนข้างแน่นอนที่สุดต้องตรวจหาพยาธิสตรองจิลอยด์ในอุจจาระของผู้ป่วย ทั้งนี้ควรต้องตรวจอุจจาระหลายครั้งพอสมควร เนื่องจากโอกาสเจอพยาธิสตรองจิลอยด์ในอุจจาระมีอยู่แค่ 30% ต่อการตรวจอุจจาระ 1 ครั้งเท่านั้นเอง


การรักษาในเบื้องต้นอาจรักษาได้ด้วยตัวยาไทอะเบนดาโซล (Thiabendazole) ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคพยาธิสตรองจิลอยด์ได้ทั้งกรณีที่ติดเชื้อในลำไส้ และกรณีที่เชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ โดยมีข้อเสียอยู่ที่ผลข้างเคียงค่อนข้างมาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน รวมทั้งมีแนวโน้มเกิดความผิดปกติในระบบประสาทได้หากใช้ยาติดต่อกันนาน ๆ ดังนั้นผู้ป่วยในระยะแพร่เชื้อจึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิในลำไส้ อาจรักษาด้วยยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อรักษาอาการเบื้องต้นไว้ก่อน

อย่างที่บอกว่าพยาธิร้ายตัวนี้ชอบความสกปรกโสมม และส่วนมากจะอยู่กระจัดกระจายบนพื้นดิน ดังนั้นเบื้องต้นก็ควรต้องจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวให้สะอาดถูกหลักอนามัยเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในพื้นที่สกปรกด้วยนะคะ
เป๊ะไปตามที่เกริ่นไว้จริง ๆ ไหมล่ะว่า โรคจากพยาธิสตรองจิลอยด์อยู่ใกล้ตัวเรามากจนคาดไม่ถึง ดังนั้นเมื่อรู้ทางหนีทีไล่และวิธีป้องกันตัวเองจากโรคร้ายนี้แล้วก็ควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังให้มากขึ้นนะคะ
ภาพจาก สปริงนิวส์
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- องค์การอนามัยโลก
- Health Care Thai