พรมมิ สมุนไพรไทยที่ขึ้นตามริมตลิ่ง มองผ่าน ๆ อาจดูเหมือนไร้ค่า แต่ใครจะรู้ว่าสรรพคุณของพรมมิช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้ไม่แพ้สมุนไพรเมืองนอกเลย
ฟังชื่ออ่านไม่ค่อยคุ้นหูว่า "พรมมิ" เป็นสมุนไพรอะไร มีรูปร่างเป็นแบบไหน เพิ่งจะมาได้รู้จักกันชัด ๆ หลังมีข่าวนักวิจัยไทยได้ทำการศึกษาจนค้นพบว่า สมุนไพร "พรมมิ" นี่ล่ะช่วยบำรุงสมอง ป้องกันความจำเสื่อมได้ไม่แพ้ใบแปะก๊วยหรือโสมชั้นดีจากเกาหลี นิตยสารหมอชาวบ้าน เลยชวนทุกคนไปเจาะลึกสมุนไพรไทยชนิดนี้ให้ละเอียดขึ้น
ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น อัตราส่วนของคนสูงอายุกับคนหนุ่มสาวก็เพิ่มขึ้น โรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและความทรงจำ เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคเรื้อรังและเป็นสาเหตุให้คุณภาพชีวิตของประชากรสูอายุน้อยลง ยาหรือสมุนไพรที่จะสามารถนำมารักษาหรือบรรเทาอาการโรคที่เกิดจากการเสื่อมนี้ จึงมีความสำคัญทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ
สมุนไพรที่มีศักยภาพในการนำมาใช้เพื่อบำรุงสมอง บำรุงความจำ ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ได้แก่ แปะก๊วย (gingko) และโสม ซึ่งเป็นพืชที่ไม่สามารถปลูกได้ในประเทศไทย แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยจากคณะมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมมือกันศึกษาพืชสมุนไพรไทยที่ขึ้นริมตลิ่ง และไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก จนสามารถพิสูจน์ได้ถึงคุณประโยชน์ในการใช้บำรุงความจำ โดยศึกษาทั้งองค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองพิษวิทยา จนมาถึงการศึกษาในมนุษย์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
"พรมมิ" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bacopa monnieri Wettst อยู่ในวงศ์ Scrophularlaceae เป็นพืชล้มลุก ลำต้นทอดนอนแผ่ไปตามพื้น มีความยาว 10-40 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมาก มีรากออกตามข้อใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ไม่มีก้านใบ ใบอวบน้ำ เป็นรูปซ้อนหรือรูปไข่กลับ ขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อยปลายใบมน กว้าง 1-5 มิลลิเมตร ยาว 6-20 มิลลิเมตร ดอกเดี่ยว ออกจากซอกใบ
ก้านดอกยาว 6-25 มิลลิเมตร เรียบ กลีบดอกติดกัน เป็นทรงระฆัง รูปปากเปิด หยักเป็น 5 กลีบ ยาว 8-10 มิลลิเมตร สีขาวหรือม่วงอ่อน กลีบเป็นรูปขอบขนานแกมไข่กลับ ปลายมนหรือเว้าตื้น เกสรตัวผู้ 4 อัน น 2 ยาว 2 อยู่บนกลีบดอก ผลแห้งแตกได้ รูปไข่ ขนาด 5 x 3 มิลลิเมตรโดยประมาณ
สรรพคุณทางอายุรเวทและการแพทย์แผนไทย
พรมมิ เป็นสมุนไพรที่เป็นทั้งอาหารและยา ในบางท้องถิ่นเรียกพรมมิว่า "ผักมิ" ใช้เป็นผัก ลวกจิ้มน้ำพริกได้
ในตำราอายุรเวทของอินเดียระบุว่า พรมมิช่วยเพิ่มความจำ บำรุงสมอง รวมทั้งมีสรรพคุณทางยาอื่น ๆ อีกมากมาย จนได้ชื่อว่า พรมมิ หรือ Brahmi ซึ่งมีความหมายถึงพระพรหม ผู้ให้กำเนิดโลก และสรรพสิ่ง
สำหรับในประเทศไทย มีหลักฐานการใช้พรมมิเป็นยาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีการกล่าวถึงพรมมิในตำราโอสถพระนารายณ์ จนมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้ปรากฏหลักฐานการใช้พรมมิในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ระบุว่า พรมมิ มีรสหวาน แก้ไขสวิงสวาย (อาการที่เป็นลม ทำให้หน้ามืด ตาลาย ใจหวิว หรือกระสับกระส่าย) แก้หืด ไอ กินแก้ริดสีดวง กินเจริญปัญญา และมีการใช้เป็นตัวยาในตำรับต่าง ๆ เช่น เข้ายาเขียวมหาพรหม สำหรับแก้โลหิตพิการ ซึ่งทำให้พิษร้อนทั่วสรรพางค์กาย เข้ายาแก้ซางแห้งในเด็ก เข้ายาแก้ลมที่ทำให้ท้องขึ้น เข้ายาเขียวประทานพิษ แก้โรคลม
องค์ประกอบทางเคมี
สารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิคือสารกลุ่ม saponinglyclosides ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ jujubogenin glycosides เช่น bacoside A3 และ becopaside X และ pseudojujubogenin glycosides เช่น bacopaside L II และ becopasaponin C ส่วนของพรมมิที่มีสารเหล่านี้สูงได้แก่ส่วนยอดใบ
นอกจากนี้ ยังพบสารฟลาโวนอยด์ ได้แก่ apigenin และ luteolin ในพรมมิด้วย เพื่อศึกษาพัฒนาพรมมิให้อยู่ในรูปแบบเป็นมาตรฐาน และสะดวกต่อการใช้ คณะผู้วิจัยได้พัฒนาวิธีการสกัด และการควบคุมคุณภาพ ของสารสกัดพรมมิ ได้สารสกัดที่มีมาตรฐานและมีความคงตัวดี และนำไปศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา รวมทั้งพัฒนาเป็นยาเม็ดเพื่อทำการวิจัยทางคลินิกต่อไป
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ผลของพรมมิต่อการเรียนรู้และความจำ
ในการศึกษาผลของสารสกัดพรมมิต่อการเรียนรู้และการป้องกันเซลล์ประสาทของหนู พบว่าเมื่อให้สารสกัดพรมมิขนาด 20, 40 และ 80 มก./ น้ำหนักหนู 1 กก. เป็นเวลา 14 วัน หนูมีการเรียนรู้ และความจำดีขึ้น
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ศึกษาผลของสารสกัดพรมมิในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดสภาวะความจำบกพร่องด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น กรณีที่สมองขาดเลือด หรือได้รับสารพิษ พบว่าหนูที่ได้รับพรมมิทุกขนาดที่กล่าวมา ก่อนที่สมองถูกทำลายเป็นเวลา 14 วัน จะมีความจำและความสามารถในการเรียนรู้ดีกว่า หนูที่ไม่ได้รับพรมมิ โดยพรมมิมีผลปกป้องเซลล์ประสาทในสมอง และทำให้สารสื่อประสาทถูกทำลายน้อยลง
ผลการทดลองในสัตว์ทดลองนี้สอดคล้องกับการศึกษาสารสกัดพรหมมิต่อการป้องกันเซลล์ประสาทจากอันตรายที่เกิดจาก beta amyfoid ในเซลล์สมองหนูเพาะเลี้ยง ซึ่งพบว่าสารสกัดพรมมิมีฤทธิ์ป้องกันเซลล์ประสาทได้กลไกของสารสกัดพรมมิต่อการเรียนรู้และความจำ คือการลดไลปิเปอร์รอกซิเดชัน และต้านการทำงานของอะเซติลโคลีนแอสเตอเรส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทอะเซติลโคลีน
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของสารสกัดพรมมิกับสารสกัดจากใบแปะก๊วย และยา donepezil ซึ่งเป็นยาต้านอัลไซเมอร์ต่อพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำของหนูที่แก่ตามธรรมชาติ ผลการทดลองหลังจาก้อนสารสกัดหรือยาติดต่อกันนาน 3 เดือน พบว่า หนูแก่ที่ได้รับสารสกัดพรมมิ (40 มก./กก.) มีการเรียนรู้และความจำเกี่ยวกับสถานที่ และความสามารถในการจดจำสิ่งของได้ดีพอ ๆ กับหนูแก่ที่ได้รับสารสกัดจากใบแปะก๊วย (60 มก./กก.) หรือที่ได้รับยา donepezil (1 มก./กก.) และดีกว่าหนูแก่กลุ่มควบคุมที่ได้รับเฉพาะน้ำกลั่นอย่างมีนัยสำคัญ
ผลของพรมมิต่อระบบหัวใจหลอดเลือด
เมื่อให้สารสกัดพรมมิ (40 มก./กก.) หรือสารสกัดแปะก๊วย (60 มก./กก.) ทางปากในหนูแรทเป็นเวลานานติดต่อกัน 2 เดือน พบว่าทั้งสารสกัดพรมมิ และสารสกัดแปะก๊วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณหลอดเลือดแดงบนเยื่อหุ้มสมอง โดยมีประสิทธิภาพเท่า ๆ กัน และสารสกัดพรมมิไม่มีผลทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นหัวใจของหนูแรทเปลี่ยนแปลงไป
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่พบความเป็นพิษของพรมมิในการศึกษาพิษวิทยา ทั้งพิษเฉียบพลัน กึ่งเรื้อรัง และเรื้อรัง ซึ่งศึกษาการให้พรมมิในขนาดสูงในหนูขาวเป็นระยะเวลา 9 เดือน
การศึกษาอันตรากิริยาต่อยาของพรมมิ
การศึกษาผลของสารสกัดพรมมิต่อการทำงานของเอนไซม์ไชโตโครม P450 (CYP) จากตับหนูและจากมนุษย์ในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดพรมมิมีผลต่ำในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP1A2, CYP2C, CYP2E1 และ CYP3A จึงประเมินได้ว่ามีโอกาสน้อยที่สารสกัดพรมมิในขนาดปกติจะก่อให้เกิดอันตรกิริยากับยาแผนปัจจุบันที่อาศัยเอนไซม์ดังกล่าวในการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขจัดออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตามยังต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวต่อไปในระดับลึก
การศึกษาทางคลินิก
กลุ่มคณะนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ศึกษาผลของพรมมิในอาสาสมัครวัยกลางคนและสูงอายุ (อายุมากกว่า 55 ปี) จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ยาหลอก และได้สารสกัดพรมมิขนาด 300 และ 600 มก.ต่อวัน พบว่า...
เมื่ออาสาสมัครได้รับสารสกัดพรมมิเป็นเวลา 2 เดือนขึ้นไป ประสิทธิภาพการทรงตัวจะเพิ่มขึ้นมีการตื่นตัวต่อสิ่งเร้าและมีสมาธิมากขึ้น มีความสามารถในการเรียนรู้และความจำเพิ่มขึ้น โดยมีแนวโน้มว่าสารสกัดพรมมิจะออกฤทธิ์โดยการเพิ่มระดับสารสื่อประสาทอะเซติลโคลีนและลดระดับ oxidative stress
นอกจากนี้จากการศึกษายังไม่พบอาการพิษ และภาวะข้างเคียงใด ๆ ในอาสาสมัคร
สรุป
พรมมิ เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีการใช้สืบเนื่องกันเป็นเวลานาน ทั้งในด้านอาหารและยา คณะผู้วิจัยไทยสามารถวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานพรมมิอย่างครบวงจรทั้งด้านเคมี เภสัชวิทยา พิษวิทยา พบว่าสารสกัดพรมมิมีประสิทธิภาพในการบำรุงความในอาสาสมัครายุมากกว่า 55 ปีโดยไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ
งานวิจัยนี้ ได้ถูกถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังองค์การเภสัชกรรม และทางองค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพรมมิ GPO และจัดจำหน่ายตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2557
หลายคนถามว่าควรกินผักพรมมิเท่าไร จึงเท่ากับกินสารสกัดพรมมิ 1 เม็ด ตอบได้ว่าควรกินประมาณ 30 กรัมต่อวัน ซึ่งเท่ากับพรมมิประมาณ 50 ยอด หรือ 1 จาน
สำหรับการเพาะปลูกนั้น พรมมิเป็นพืชที่ปลูกง่าย แค่ตัดมาปักบนดินก็ขึ้นแล้ว เหมาะกับดินทุกประเภท โดยเฉพาะดินที่ค่อนข้างเหนียว พรมมิต้องการแสงแดด และต้องการน้ำ ควรปล่อยให้น้ำท่วมดินที่ปลูกอยู่ตลอดเวลา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โดย รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ ภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร