ไวรัสเมอร์ส (MERS) โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขออกโรงประกาศเตือนให้เฝ้าระวัง แม้จะยังไม่เข้ามาในประเทศไทย แต่การที่มีข่าวพบผู้ป่วยในประเทศจีนและเกาหลีใต้ ก็ทำให้เราต้องรู้จักโรคนี้กันไว้บ้าง
เชื้อโรคและไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดใหม่ได้เสมอ ๆ แถมมาใหม่แต่ละครั้งก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างล่าสุดไวรัสเมอร์ส (MERS) โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจก็โผล่มาระบาดและคร่าชีวิตผู้คนไปนับไม่ถ้วน ที่สำคัญเจ้าไวรัสตัวนี้ยังแพร่ระบาดได้รวดเร็ว โดยจุดต้นกำเนิดอยู่ที่ตะวันออกกลาง แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวว่าเกาหลีใต้และจีนพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสตัวนี้แล้ว ดังนั้นกระปุกดอทคอมจึงต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสเมอร์สมาให้ศึกษากันก่อน จะได้รู้วิธีป้องกันระวังตัวจากเชื้อไวรัสเมอร์สกันค่ะ
ไวรัสเมอร์ส คืออะไรกันแน่ ?
ไวรัสเมอร์ส (MERS) ย่อมาจาก Middle East Respiratory Syndrome มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือบ้างก็ขนานนามโรคนี้ว่า เมอร์สคอฟ (MERS-CoV) เนื่องจากเป็นโรคจากการติดเชื้อในกลุ่มโคโรน่าไวรัส (Coronavirus: CoV) ซึ่งจัดเป็นไวรัสตระกูลใหญ่ที่เคยส่งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคซาร์ส (SARS) มาระบาดไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน
ต้นกำเนิดไวรัสเมอร์ส
ไวรัสเมอร์สเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2012 โดยพบผู้เสียชีวิตด้วยไวรัสตัวนี้ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นที่แรก ซึ่งคาดว่าพาหะมาจากอูฐ และความรุนแรงของไวรัสเมอร์สก็คร่าชีวิตผู้คนกว่า 100 ราย อีกทั้งยังกระจายการแพร่ระบาดไปยังประเทศจอร์แดน, กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ตูนีเซีย, อียิปต์, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และล่าสุด (มิถุนายน 2558) ก็พบเชื้อไวรัสตัวนี้ที่เกาหลีใต้และประเทศจีนแล้วด้วย
การระบาดของไวรัสเมอร์ส
อย่างที่บอกว่าไวรัสเมอร์สเป็นไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจ การแพร่ระบาดของเชื้อชนิดนี้จึงอาศัยละอองเสมหะเมื่อเกิดอาการไอหรือจามของมนุษย์เป็นแหล่งซ่อนตัวและเกาะไปตามเชื้อ เมื่อคนที่ยังไม่ป่วยสัมผัสกับละอองเชื้อโรคเหล่านี้ ไวรัสเมอร์สก็สบโอกาสที่จะมีแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสใหม่ การแพร่ระบาดจึงกระจายจากคนสู่คนได้
ทว่า ณ ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในประเทศอังกฤษก็ยังคงยืนยันว่า ไวรัสเมอร์สยังไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรง แต่ทั้งนี้ก็เตือนให้ประชาชนรักษาสุขอนามัยของตัวเองให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อเบื้องต้นไว้ก่อน
อาการโรคไวรัสเมอร์ส
อาการที่สังเกตได้ว่าติดเชื้อไวรัสเมอร์สมักพบตั้งแต่ไม่มีอาการแสดงออกจนกระทั่งมีอาการรุนแรงแล้ว โดยเริ่มแรกอาจมีอาการไอ มีไข้ หายใจลำบาก หรือบางคนที่มีภูมิต้านทานค่อนข้างแข็งแรงอาจมีอาการคล้ายคนเป็นไข้หวัดธรรมดาและจะหายเป็นปกติในเวลาไม่นาน ทว่าสำหรับคนที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนอยู่อาการก็จะรุนแรง โดยอาจมีไข้สูงและมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย ปวดมวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน และในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมาก ๆ อาจมีภาวะปอดบวมหรือไตวายร่วมด้วย
ทั้งนี้อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสเมอร์สอยู่ที่ 30% โดยจะมีผลรุนแรงต่อคนที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำและเหล่าคนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคไต เป็นต้น
การเฝ้าระวัง
เชื้อไวรัสเมอร์สมีระยะเวลาฟักตัวอยู่ที่ 2-14 วัน ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว และหอบ ภายในระยะเวลา 14 วันหลังจากเพิ่งเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงของเชื้อไวรัสเมอร์ส หรือมีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงแต่ไม่สามารถหาเชื้อที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคได้ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสเมอร์สโดยด่วน
การรักษาโรคเมอร์ส
ณ ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่มีข้อจำกัดในการใช้ยาต้านไวรัสเมอร์ส เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นมาใหม่ จึงทำได้เพียงรักษาตามอาการและประคับประคองชีวิตคนไข้ไปจนกว่าอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจจะหายเป็นปกติดี แต่สำหรับผู้ป่วยขั้นรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส Oseltamivir ในขนาดที่ใช้รักษาอาการไข้หวัดใหญ่ไปก่อน
การป้องกันไวรัสเมอร์ส
กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืน
รักษาสุขอนามัยของตนเอง หากไอหรือจามควรใช้ทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง
หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสตา จมูก ปาก และใบหน้า โดยเฉพาะหากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
สวมหน้ากากอนามัยหากต้องอยู่ในที่แออัด
พยายามหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด เช่น จูบ กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคเมอร์ส
หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศใกล้เคียง และประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศจีนในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอยู่
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
จากมูลข้างต้นจะเห็นว่า ไวรัสเมอร์สถือเป็นไวรัสที่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างน่ากังวลพอสมควรนะคะ ดังนั้นช่วงเวลานี้เราจึงต้องดูแลสุขอนามัยของตัวเองเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็น่าจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากไวรัสเมอร์สได้บ้าง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด