ไส้เลื่อน อาการควรระวัง ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็เป็นได้

ไส้เลื่อน

          ไส้เลื่อน อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นได้แค่เฉพาะผู้ชาย เพราะอาการแบบนี้ต่อให้เป็นผู้หญิงก็เสี่ยงเช่นกัน
 
          ไส้เลื่อน ได้ยินคำนี้กันมานาน และมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดกันไปต่าง ๆ นานาว่าไส้เลื่อนเป็นโรคที่มีความอันตราย และเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชายเพียงเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจริง ๆ ไส้เลื่อนไม่ใช่เรื่องอันตราย และสามารถเกิดในผู้หญิงได้อีกด้วย ได้ทราบเพียงเท่านี้แล้วก็ยิ่งสงสัยใช่ไหมละ ว่าทำไมถึงไม่อันตราย งั้นต้องลองไปทำความเข้าใจกับไส้เลื่อนกันใหม่แล้วค่ะ ว่าจริง ๆ แล้วไส้เลื่อน อาการนั้นเป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง จะได้ไม่เป็นกระต่ายตื่นตูมตกใจกันไปเกินเหตุเมื่อพบว่าคนใกล้ตัวหรือคุณเองมีอาการขึ้นมา

 
โรคไส้เลื่อน คืออะไร
 
          ไส้เลื่อน ภาษาอังกฤษ คือ Hernia คืออาการที่ลำไส้บางส่วนนั้นเลื่อนออกมาตุงที่ผนังหน้าท้องทำให้เห็นเป็นก้อนบวมตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของหน้าท้อง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้ที่บริเวณต้นขา หรือขาหนีบได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ไส้เลื่อนยังอาจจะไม่แสดงออกมาให้เห็นในลักษณะก้อนตุงได้ ซึ่งนั่นจะถือว่าเป็นอาการของไส้เลื่อนภายในค่ะ แม้ว่าอาการเหล่านี้จะไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่ก็จำเป็นจำต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากไส้เลื่อนไม่สามารถหายไปได้เอง สามารถมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้จากขนาดของลำไส้ที่เลื่อนออกที่ผนังหน้าท้อง จึงไม่ควรจะละเลยเพราะการที่ลำไส้หลุดออกตุงที่หน้าท้องนั้นอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนได้
 
          ทั้งนี้ไส้เลื่อนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเพศชายเพียงอย่างเดียว ขอบอกเลยว่าไส้เลื่อน ผู้หญิงก็เป็นได้ค่ะ แต่สัดส่วนการเกิดโรคไส้เลื่อนของผู้ชายและผู้หญิงอยู่ที่ 5 ต่อ 1 ซึ่งถือว่าผู้หญิงน้อยกว่ามาก แต่ถึงอย่างนั้นคุณผู้หญิงก็ไม่ควรชะล่าใจเช่นกัน
 

ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน สาเหตุมาจากอะไร
 
          ไส้เลื่อนมีสาเหตุมาจากการที่ผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอผิดปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นความผิดปกติที่เกิดมาตั้งแต่แรกเกิด ประกอบกับความดันในช่องท้องทำให้ลำไส้ที่อยู่ในบริเวณนั้นเลื่อนทะลักออกมาตรงจุดนั้นและตุงเป็นก้อนให้เห็นได้ชัดเจน แต่ก็มีบางกรณีทีเกิดอาการไส้เลื่อนหลังจากการผ่าตัด โดยไส้เลื่อนแบ่งออกเป็นหลายชนิด คือ
 
  ไส้เลื่อนที่บริเวณสะดือ
 
          อาการนี้เป็นอาการที่พบในเด็ก เรียกว่าอาการสะดือจุ่น มักจะเป็นตั้งแต่แรกเกิดและจะหายได้เองก่อนอายุ 2 ขวบ

ไส้เลื่อน
 
  ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ
 
          อาการนี้หากเกิดในผู้ชาย ก็มักจะเข้าใจไปว่าเป็นไส้เลื่อนลงอัณฑะ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะอาการนี้เกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบซึ่งเป็นมาตั้งแต่กำเนิด และอาการจะแสดงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน บางกรณีอาจเกิดจากการไอเรื้อรัง จากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือถุงลมโป่งพอง ไส้เลื่อนชนิดนี้อาจมีอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้เช่น ไส้เลื่อนไปทับบริเวณเส้นเลือดใหญ่ที่ขา หรือต่อมน้ำเหลือง ที่อันตรายกว่านั้นคือทำให้ความดันในช่องท้องสูงจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะอื่น ๆ ค่ะ
 
  ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน
 
          ไส้เลื่อนประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดในเพศหญิงมากกว่า เป็นอาการที่ลำไส้บางส่วนเคลื่อนที่ผ่านช่องตรงกระดูกเชิงกราน และที่ผู้หญิงเป็นมากกว่าก็เพราะกายวิภาคของผู้หญิงเอื้ออำนวยต่อการเกิดอาการนี้มากกว่าผู้ชาย
 
  ไส้เลื่อนที่กระบังลม
 
          เกิดจากบางส่วนของกระเพาะอาหารหรือส่วนต่อระหว่างหลอดอาหารเคลื่อนผ่านรูบริเวณกระบังลมซึ่งเป็นช่องที่หลอดอาหารลอดเข้าสู่ช่องท้องเข้าไปอยู่ในช่องอก เป็นอาการที่มักจะพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่กล้ามเนื้อและพังผืดของกระบังลมเสียความยืดหยุ่นไป นอกจากนี้ความดันในช่องท้องที่ผิดปกติก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน
 
  ไส้เลื่อนหลังการผ่าตัด
 
          บางครั้งการผ่าตัดที่หน้าท้องเมื่อหายแล้ว ก็อาจจะทำให้กล้ามเนื้อและผังพืดนั้นหย่อนยานกว่าปกติ ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวมาตุงยังบริเวณนั้นได้ แต่อาการนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดที่หน้าท้องในอัตราที่ไม่มากนักเพียง 2-10 % เท่านั้น

ไส้เลื่อน
 
ไส้เลื่อน อันตรายไหม ?
 
          โดยส่วนใหญ่แล้วอาการไส้เลื่อนนั้นไม่ใช่อาการที่เป็นอันตรายมากนัก เพียงแต่อาจจะสร้างความรำคาญ และอาจทำให้รู้สึกไม่คล่องตัวได้ แต่ในไส้เลื่อนบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ตัวอย่างเช่นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่อันตรายได้ ดังนั้น หากเป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ไม่ควรปล่อยไว้ ควรเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนค่ะ
 
ไส้เลื่อน การรักษาเป็นอย่างไร ?
 
          วิธีการรักษาไส้เลื่อนนั้นขึ้นอยู่กับขนาดลำไส้ที่เลื่อนออกมาอยู่บริเวณช่องท้อง ในบางกรณีอาจจะไม่ต้องทำการรักษา แต่ก็ต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ด้วยการลดอาหารหนัก ๆ ห้ามนอนหงายหรือนอนคว่ำหลังจากรับประทานอาหาร และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดีแต่ขอบอกเลยว่าวิธีเหล่านี้จะไม่ได้ทำให้อาการไส้เลื่อนหายไป เพราะไส้ที่เคลื่อนที่ออกมานั้นไม่สามารถเคลื่อนกลับไปอยู่ที่เดิมได้ นอกจากจะผ่าตัดแก้ไขเท่านั้น

 
          ทั้งนี้การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่และมีอาการเจ็บที่บริเวณไส้เลื่อน โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อขยับลำไส้ให้กลับเข้าที่เดิมและเย็บบริเวณที่เป็นรูในผนังหน้าท้อง ซึ่งในปัจจุบันนั้นการผ่าตัดก็ทันสมัยมากขึ้น สามารถผ่าตัดได้โดยใช้กล้องส่อง และมีแผลผ่าตัดเล็กอีกด้วย
 
ไส้เลื่อน
 
ไส้เลื่อน กับภาวะแทรกซ้อน
 
          ในรายที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ อาจพบภาวะแทรกซ้อนอย่างเช่น ลำไส้ติดคาที่หน้าท้องไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าไปช่องท้องได้ กรณีนี้เรียกว่า ไส้เลื่อนชนิดติดคา และก่อให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้และอาเจียนได้ นอกจากนี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลำไส้ส่วนนั้นจะถูกบีบรัดจนขาดเลือด ทำให้เกิดลำไส้เน่า และเกิดอาการติดเชื้อที่อันตรายได้ค่ะ

 
วิธีการป้องกันไส้เลื่อน เลี่ยงได้ด้วยวิธีเหล่านี้
 
          แม้เราจะไม่สามารถป้องกันความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องได้ แต่เราก็สามารถลดความดันภายในร่างกายของเราอันเป็นปัจจัยที่ทำให้ลำไส้เคลื่อนที่ออกมากลายเป็นไส้เลื่อนได้ โดยควรงดสูบบุหรี่ ไปพบแพทย์เมื่อเกิดอาการไอเรื้อรัง ควบคุมระดับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดี และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก ๆ หากต้องยกของหนักจริง ๆ ก็ควรที่ยกอย่างถูกวิธี ด้วยการนั่งย่อตัวลงไปยกของ ห้ามก้มลงไปยกของขึ้นมาโดยเด็ดขาด วิธีนี้ไม่ได้ใช้แค่เพื่อป้องกันเท่านั้น แต่ผู้ป่วยไส้เลื่อนก็สามารถใช้ได้อีกด้วย เพื่อให้อาการไม่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมค่ะ

ไส้เลื่อน 
 
เล่นกีฬา ทำให้เป็นไส้เลื่อนหรือไม่ ?
 
          บางคนชอบใช้ข้ออ้างในการไม่ยอมเล่นกีฬาว่ากลัวเป็นไส้เลื่อน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วกีฬาไม่ได้ทำให้เป็นไส้เลื่อน ไม่ว่าจะวิ่ง กระโดด หรือออกกำลังกายอื่น ๆ เว้นแต่กีฬาที่ต้องเกร็งหน้าท้องมาก ๆ เท่านั้น ที่อาจจะทำให้เกิดความดันในช่องท้องได้ เช่น ยกน้ำหนัก ทุ่มน้ำหนัก เป็นต้นค่ะ
 
การสวมกางเกงในที่รัด ทำให้เป็นไส้เลื่อนจริงหรือ?
 
          คุณผู้ชายหลายคนกลัวว่าตัวเองจะเป็นไส้เลื่อนถึงขนาดไม่ยอมสวมกางเกงในและหันมาสวมการเกงบ็อกเซอร์แทน ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจริง ๆ แล้วการสวมกางเกงในแบบบิกินีไม่ได้ส่งผลให้เกิดความดันในช่องท้องจนทำให้เป็นไส้เลื่อนได้ เพราะฉะนั้นควรสวมแบบที่สวมใส่สบายไม่อึดอัดหรือหลวมจนเกินไปจะดีกว่าค่ะ
 
          ไส้เลื่อน ไม่ใช่อาการอันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่มองข้ามได้เช่นกัน เพราะถ้าเป็นแล้วก็มีแต่เสียกับเสีย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายสุขภาพใจ หรือเงินทอง หมั่นดูแลสุขภาพและสังเกตความผิดปกติของร่างกายก็น่าจะดีกว่ารอให้เกิดแล้วค่อยแก้นะคะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
,
haamor.com
healthline.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไส้เลื่อน อาการควรระวัง ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็เป็นได้ อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:55:08 179,758 อ่าน
TOP
x close