ไส้เลื่อน Hernia

ไส้เลื่อน
ไส้เลื่อน



ไส้เลื่อน (หมอชาวบ้าน)
คอลัมน์ สารานุกรมทันโรค โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

          ไส้เลื่อน หมายถึงภาวะที่มีลำไส้บางส่วนไหลเลื่อนออกมาตุงอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนบวมตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง

          ไส้เลื่อน มีอยู่หลายชนิด ซึ่งจะมีอาการแสดงภาวะแทรกซ้อน และการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น

          ไส้เลื่อน ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นก้อนตุงตรงผนังหน้าท้องหรือขาหนีบ ซึ่งจะบวมๆ ยุบๆ (โผล่ๆ ผลุบๆ) มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการติดคา ไม่ยุบก็อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้

ชื่อภาษาไทย : ไส้เลื่อน
ชื่อภาษาอังกฤษ : Hernia

สาเหตุของ ไส้เลื่อน

          ไส้เลื่อน เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ (หย่อน) ผิดปกติ ส่วนมากเป็นความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเลื่อนทะลักเข้าไปในบริเวณนั้น เห็นเป็นก้อนตุง ส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง (เช่น แผลผ่าตัดที่หน้าท้อง)

ไส้เลื่อนมี อยู่หลายชนิด ที่พบบ่อยได้แก่

           ไส้เลื่อน ที่สะดือ (inguinal hernia) ผู้ป่วยจะมีหน้าท้องที่บริเวณขาหนีบอ่อนแอผิดปกติมาแต่กำเนิด แต่จะปรากฏอาการไส้เลื่อนเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน หรือเมื่อเป็นโรคไอเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง ไส้เลื่อน ชนิดนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้

           ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังผ่าตัด (incisional hernia) เป็น ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้ว ผนังหน้าท้องในบริเวณผ่าตัด เกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลทะลักเป็นก้อนโป่งที่บริเวณนั้น

อาการของ ไส้เลื่อน

           สะดือจุ่น ทารกจะมีอาการสะดือจุ่น หรือสะดือโป่งเวลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นมาแต่แรกเกิด โดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ

           ไส้เลื่อน ที่ขาหนีบ ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นมีก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ซึ่งจะเห็นชัดขณะลุกขึ้นยืน หรือเวลายกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงายก้อนจะยุบหายไป เมื่อคลำดูจะพบว่าก้อนมีลักษณะนุ่มๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

           อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ แบบนี้มักจะเป็นอยู่นานเป็นแรมปี สิบๆ ปีหรือตลอดชีวิต แต่ถ้ามีภาวะ ไส้เลื่อน ติดคาอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ก็จะกลายเป็นก้อนตุงไม่ยุบหาย และจะมีอาการเจ็บปวดที่ท้อง ปวดท้องอาเจียนตามมา ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อน

           ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังผ่าตัด ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยไม่มีก้อนตุงที่หน้าท้อง แต่หลังผ่าตัด (อาจนานเป็นแรมเดือน หรือแรมปี ต่อมาก็พบว่าบริเวณใกล้ๆ รอบแผลผ่าตัด จะมีก้อนตุงขนาดใหญ่ ไม่มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะจะเห็นชัดในท่ายืนหรือนั่ง แต่เวลานอนก้อนจะเล็กลงหรือยุบลง อาการจะเป็นเรื้อรังจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดแก้ไข

การแยกโรค ไส้เลื่อน

          ก้อนที่บริเวณหน้าท้อง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น 

           ก้อนฝี ซึ่งจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน แตะถูกเจ็บ และไม่ยุบหายเวลานอนหงาย

           ก้อนเนื้องอก มักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่ยุบ แตะถูกไม่เจ็บ

          ส่วนก้อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ นอกจากก้อนฝีและก้อนเนื้องอกแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น 

           โรคฝีมะม่วง ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะบวมแดงร้อน

           ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ถ้าเป็นเฉียบพลันจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ปวด แดงร้อน ถ้าเป็นเรื้อรังมักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่เจ็บ ไม่ยุบ

           ถุงน้ำทุ่งอัณฑะหรือกล่อนน้ำ (hydrocele) มีลักษณะเป็นก้อนนุ่ม คล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ไม่เจ็บ ไม่ยุบเวลาใช้ไฟฉายส่องจะเห็นโปร่งใส มักพบในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด ส่วนน้อยอาจพบตอนโตแล้ว (ภายหลังได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการอักเสบที่ถุงอัณฑะ)

           อัณฑะบิดตัว (testicular torsion) เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะ (spermatic cord) และเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะหลวมกว่าปกติ อัณฑะสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้ มีอาการปวดอัณฑะรุนแรง ตรวจพบเป็นก้อนบวม แตะถูกเจ็บ ไม่ยุบ

การวินิจฉัยโรค ไส้เลื่อน

          แพทย์จะวินิจฉัยโรค ไส้เลื่อน จากอาการแสดงและสิ่งตรวจพบ ได้แก่ อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ ก้อนมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ ไม่เจ็บ

          ในรายที่ไม่แน่ใจว่าเป็น ไส้เลื่อน  แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เป็นต้น

การดูแลตนเอง

          ถ้าพบว่ามีก้อนตุงที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง รวมทั้งบริเวณขาหนีบและอัณฑะ ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

          แต่ถ้าก้อนนั้นมีลักษณะแข็ง โตขึ้น แดงร้อนหรือเจ็บปวด หรือมีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนร่วมด้วย ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

          ในกรณีที่เป็น ไส้เลื่อน แพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไส้เลื่อนขนาดใหญ่ หรือขึ้นตรงบริเวณขาหนีบถุงอัณฑะ หลังจากแผลผ่าตัดหายดีแล้ว ก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เช่นคนปกติทั่วไป

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

    คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ  



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไส้เลื่อน Hernia อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2558 เวลา 16:39:49 23,256 อ่าน
TOP
x close