โรคตับแข็ง โรคที่ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็น มาสังเกตกันว่าอาการของโรคตับนั้นดูได้จากความผิดปกติใดในร่างกาย
ตับเป็นอวัยวะที่ทำงานคล้ายตัวคัดกรองสำคัญในร่างกาย
มีหน้าที่ทั้งช่วยสร้างสารอาหารและกำจัดของเสียที่มีอยู่ภายในตัวเรา
ดังนั้นจะถือว่าตับเป็นเครื่องในที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของเราก็ไม่ผิดนัก
ซึ่งด้วยภาระหน้าที่นี้ของตับ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงกับตับมากมาย
โดยอาการผิดปกติของโรคตับที่พบมากที่สุดในประเทศไทยก็จะมีโรคตับแข็ง
ดังนั้นวันนี้เราจะมาสำรวจอาการของโรคตับแข็งในเบื้องต้นกันก่อน เพราะโรคตับแข็งจริง ๆ แล้วก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ดื่มเหล้าเลยนะคะ ฉะนั้นมาเรียนรู้อาการของโรคตับไว้คร่าว ๆ จะได้เอาไว้สังเกตตัวเองและคนรอบข้าง
โรคตับแข็งเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สุราและเครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิดกลายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคตับแข็ง โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มสุราวิสกี้ 480 ซี.ซี. ต่อวัน หรือไวน์ 1,600 ซี.ซี. ต่อวัน หรือเบียร์ 4,000 ซี.ซี. ต่อวัน ติดต่อกันนาน 5-10 ปี บุคคลผู้นี้ย่อมเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งมากกว่าใคร เนื่องจากแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้การใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับผิดปกติไป ส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบได้ง่าย และเมื่อตับอักเสบนาน ๆ เข้าก็จะก่อให้เกิดภาวะตับแข็งตามมาในไม่ช้า
2. ไวรัสตับอักเสบ
ไวรัสตับอักเสบมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบเอ บี และไวรัสตับอักเสบซี โดยไวรัสทั้ง 3 ชนิดนี้จัดเป็นสาเหตุที่ทำให้ตับเกิดอาการอักเสบเรื้อรังและพัฒนาเป็นโรคตับแข็งได้ในที่สุด
3. ยา สารพิษ และพยาธิบางชนิด
สำหรับคนที่ใช้ยาติดต่อกันนาน ๆ โดยเฉพาะยาสมุนไพรบางชนิด เช่น ยาเม็ดใบขี้เหล็ก ก็อาจทำให้เกิดการตกค้างจนก่อภาวะตับอักเสบเรื้อรังได้ รวมทั้งสารพิษ เช่น สารหนู (Arsenic) ก็สามารถทำให้เกิดพังผืดในตับ และพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ที่แฝงตัวอยู่ในเส้นเลือดก็กระตุ้นให้เกิดภาวะตับแข็งได้เช่นกัน
4. ท่อน้ำดีอุดตัน
ปกติแล้วน้ำดีจะถูกสร้างขึ้นที่ตับและไหลลงมาสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น แต่ถ้าเกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตัน เช่น นิ่วอุดตันท่อน้ำดี หรือเนื้องอกอุดตันท่อน้ำดีจนทำให้ท่อน้ำดีตีบตันเป็นเวลานาน น้ำดีจะไหลย้อนกลับไปที่ตับและทำลายเนื้อเยื่อตับจนเกิดภาวะตับแข็งได้
5. ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง
ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายเรื้อรัง อาจทำให้มีเลือดคั่งที่ตับ รวมทั้งปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในตับก็จะลดลงจนอาจทำให้เนื้อตับขาดออกซิเจนและตายลง
6. โรคทางพันธุกรรมบางชนิด
โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรควิลสัน ซึ่งมีการสะสมของทองแดงในตับมากเกินไป จนอาจทำให้ตับอักเสบเรื้อรังและแข็ง หรือโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ อย่างภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) ที่เกิดจากการสะสมของเหล็กมากเกินไปในตับ หรือโรคไกลโคเจนสะสม (Glycogen Storage Disease) ที่อาจมีความบกพร่องทางการใช้คาร์โบไฮเดรตบางประเภท ก็อาจทำให้เกิดภาวะตับเรื้อรังและตับแข็งได้
7. ไขมันสะสมสูง
ภาวะที่มีไขมันสะสมอยู่ที่ตับมาก อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังและกลายเป็นตับแข็งในที่สุด โดยภาวะไขมันในตับมากนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคขาดสารอาหาร และโรคอ้วน
8. โรคตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune Hepatitis)
เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่หันกลับมาทำลายตับตนเอง สาเหตุนี้พบมากในชาวยุโรป แต่ในไทยยังไม่ค่อยมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้มากเท่าไรนัก
อาการของโรคตับแข็งในระยะเริ่มแรกจะไม่แสดงออกอย่างชัดเจน ดังนั้นผู้ป่วยโรคตับแข็งจึงไม่ค่อยรู้ตัว โดยอาการของโรคตับแข็งที่พอจะสังเกตได้ มีดังนี้
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด
- รู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย หรืออาจคลำเจอก้อนที่ชายโครงขวา
- ตัวเหลือง นัยน์ตาเหลือง เพราะตับไม่สามารถขับน้ำดีออกจากร่างกายได้
- อาจมีอาการคันตามเนื้อตัว
- อารมณ์ทางเพศลดลง
- ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น และในบางคนอาจมีแสงแหบแห้งคล้ายผู้ชาย
- ผู้ป่วยชายอาจรู้สึกเจ็บนม อัณฑะฝ่อตัว บางคนอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอกและหน้าท้อง
โรคตับแข็งระยะสุดท้าย อาการรุนแรงขนาดไหน ?
เมื่อเป็นโรคตับแข็งอยู่หลายปีหรือยังคงดื่มเหล้าหนัก อาการของโรคตับแข็งระยะสุดท้ายจะสังเกตได้จาก
- มีไข้เรื้อรัง ขาบวม ท้องบวม
- สังเกตเห็นหลอดเลือดบริเวณหน้าท้องพองบวม
- อาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเกิดภาวะหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารแตก ซึ่งอาจทำให้เสียเลือดมากจนเสียชีวิตได้
- ในระยะสุดท้ายที่ตับวายไปแล้ว ก็จะเกิดอาการทางสมอง เช่น ซึม เพ้อ ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากโรคตับแข็ง ยังมีภาวะความผิดปกติของโรคตับที่พบได้มากในสุขภาพของคนไทย ซึ่งได้แก่
1. โรคตับอักเสบ
ภาวะตับอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งไวรัสตับอักเสบเออาจติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ส่วนไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้ทางการสัมผัสกับเลือดของผู้เป็นพาหะ เช่น การถ่ายเลือด การใช้ของมีคมร่วมกัน หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ร่วมกับผู้ที่เป็นพาหะ
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์นุสนธิ์ กลัดเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เตือนว่า การใช้แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ หรือมีดโกนร่วมกับผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบอยู่ อาจทำให้คุณติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีได้ หรือในกรณีเด็กที่คลอดจากมารดาผู้เป็นพาหะ อาจได้รับเชื้อจากมารดาได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้โรคตับอักเสบจะไม่แสดงอาการในวัยเด็ก แต่จะแฝงตัวอยู่ในร่างกายของเด็กจนเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ โดยในบางรายโรคตับอักเสบอาจหายเองได้ แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะโรคตับอักเสบเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว
2. มะเร็งตับ
นายแพทย์นุสนธิ์ กลัดเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรคมะเร็งตับอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ มะเร็งที่เริ่มจากตัวตับเอง ซึ่งมักจะเป็นผลพวงของภาวะตับอักเสบเรื้อรังและโรคตับแข็ง และมะเร็งตับแพร่กระจายที่เริ่มจากอวัยวะอื่น ๆ อย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน แล้วจึงค่อยลามมาเป็นมะเร็งตับในที่สุด
การรักษาโรคตับ ทำได้ดังนี้
1. รักษาที่สาเหตุ
ก่อนอื่นต้องรู้ว่าต้นเหตุของโรคตับแข็งเกิดจากอะไร และรักษาไปตามสาเหตุนั้น เช่น มีสาเหตุจากการดื่มสุรา ก็ให้งดสุรา ถ้าเกิดจากไวรัสตับอักเสบก็ให้ยารักษาที่ชื่อว่า อินเตอร์เฟอรอน
ส่วนในกรณีที่เป็นโรคตับแข็งจากภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune Hepatitis) ให้ใช้ยาสเตียรอยด์รักษา แต่หากเป็นโรคตับแข็งจากการสะสมของสารทองแดงในตับ ต้องใช้ยาเฉพาะเพื่อขับสารทองแดงออกจากร่างกาย
2. รักษาตามลักษณะอาการที่เกิด
อาการของโรคตับที่เกิดจากความผิดปกติของตับในกรณีต่าง ๆ เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ขาบวม ท้องบวม อาเจียน แพทย์จะรักษาโรคไปตามลักษณะอาการในเบื้องต้น
3. การผ่าตัดเปลี่ยนตับ
สำหรับผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย ที่พบว่าการทำงานของตับลดน้อยลง หรือไม่สามารถควบคุมโรคแทรกซ้อนได้ จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับร่วมกับการรักษาด้วยตัวยา ซึ่งการรักษาแบบนี้จะให้ผลดีถึงร้อยละ 80-90 และโดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยโรคตับแข็งที่รักษาด้วยการผ่าตัดจะมีชีวิตยาวนานขึ้นอีก 5 ปี เลยทีเดียว
สมุนไพรรักษาโรคตับ
1. พัทธะปิตตะ
ตำรับยาสมุนไพรซึ่งมีสมุนไพร 8 ชนิดเป็นหลัก เช่น หัวเต่ารั้ง หัวเต่าเกียด กำแพง 7 ชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ เป็นต้น แต่อาจเปลี่ยนสมุนไพรบางตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยบางคน โดยต้มยา 1 ห่อ ต่อ 1 สัปดาห์ กินติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ จะช่วยให้ท้องและขาที่บวมยุบลง และช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น และเมื่อกินติดต่อกันประมาณ 5 เดือน การทำงานของตับจะเข้าสู่ระดับปกติ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องกินยาสมุนไพรต่อเนื่องจนครบ 8 เดือนจึงหยุดยาต้ม และยังคงให้รับประทานยาบำรุงตับจากแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วย
2. เบญจอำมฤต
เบญจอำมฤตเป็นเครื่องยาทิพย์ 5 อย่างในตำรับ คือ มหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง รากตองแตก และดีเกลือ เป็นตัวยาหลัก โดยเติมพริกไทย ขิง ดีปลี เพิ่มไปด้วยเพื่อช่วยในการปรับสมดุลและคุมการทำงานของธาตุลมที่อาจเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดอาการท้องอืด หลังจากถ่าย เป็นต้น
โดยเบญจอำมฤตเป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายชนิดรุนแรง หลักการในการรักษาโรคตับผิดปกติทุกชนิดคือต้องการให้มีการถ่าย เพื่อเอาของเสียออกก่อน แล้วจึงจ่ายยาอื่นตาม ดังนั้นจึงพบว่าอาการอึดอัด ท้องมาน ของผู้ป่วยมะเร็งตับดีขึ้นหลังจากกินยาเบญจอำมฤต เพราะเมื่อมีการถ่ายมาก แรงกดดันในช่องท้องและอาการท้องอืดบวม (Ascites) จะลดลง ทำให้อาการอึดอัดไม่สบาย รับประทานอาหารไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น
ทั้งนี้การใช้ยาเบญจอำมฤตควรปรึกษาแพทย์แผนไทยผู้รู้ตำรับปรุงยาสูตรดั้งเดิม เพราะการใช้ยาตำรับนี้ต้องมีการใช้ยาตำรับอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง อันจะส่งผลร้ายต่อผู้ป่วยได้
การดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็ง
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้มีสารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย
2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะตับจะย่อยไขมันได้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ให้ใช้ไขมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ที่มีกรดไขมันจำเป็นไลโนเลอิกแทน
3. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ เพราะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาหารเหล่านี้จะทำให้อาการบวม อาการท้องมานแย่ลงได้ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้รับประทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 2 กรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือป่นประมาณเศษหนึ่งส่วนสามช้อนชาต่อวันเท่านั้น
4. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ชื้น เช่น ถั่วป่น พริกป่น ที่เป็นแหล่งของสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้ตับต้องทำงานมากขึ้น และยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากขึ้น
5. ควรรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสดใหม่ ไม่รับประทานอาหารที่เก็บค้างคืน อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ลวก หรือย่าง
6. ควรรับประทานอาหารที่เป็นผัก ผลไม้ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะท้องผูก
7. ต้องไม่ดื่มน้ำมากเกินไป คือไม่เกิน 6 แก้วต่อวัน หรือหากมีอาการบวมมาก ควรลดปริมาณน้ำลงอีก และอาจต้องกินยาขับปัสสาวะตามที่แพทย์สั่งด้วย
8. ต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ตับส่วนที่ยังดีอยู่ถูกทำลายมากขึ้น
9. ไม่ควรซื้อยามากินเองหรือกินยาเกินขนาด เพราะยาส่วนมากจะถูกทำลายที่ตับ จึงอาจทำให้ภาวะตับแย่ลงกว่าเดิม
10. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ เช่น วิ่งมาราธอน กีฬาที่ต้องหักโหม ให้เดินหรือวิ่งเบา ๆ แทน และพยายามทำจิตใจให้เบิกบาน
การป้องกันโรคตับแข็ง
1. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และถ้าตรวจพบว่าเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรงดดื่มโดยเด็ดขาด
2. ฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสบี ซึ่งนิยมฉีดตั้งแต่แรกเกิด
3. ระมัดระวังการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ โดยควรใช้ยาภายใต้การควบคุมของแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง
4. อย่ารับประทานยา ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโดยไม่ทราบที่มาหรือเพียงเพราะคำโฆษณา
5. สวมถุงมือ สวมหน้ากากป้องกัน หากต้องสัมผัสหรือสูดดมสารเคมี
6. ไม่สำส่อนทางเพศ
7. ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ และเข็มฉีดยา
8. ตรวจสุขภาพร่างกายทุกปี
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนะคะ หากคุณกำลังสงสัยว่าตัวเองอาจป่วยเป็นโรคตับ หรือรู้สึกว่าช่วงนี้ร่างกายอ่อนแอลงไปมาก ควรต้องหันมาใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจังได้แล้ว และอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยล่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิตับแห่งประเทศไทย
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์