โรคตับแข็ง คนไม่ดื่มเหล้าก็เป็นได้

โรคตับแข็ง

          เพราะ "ตับ" คืออวัยวะที่ช่วยทำลายสารพิษต่าง ๆ ในร่างกาย หาก "ตับ" เสียหรือผิดปกติ นั่นย่อมหมายถึงสภาพร่างกายที่จะเสื่อมถอยลงไปด้วย และวันนี้เราจะพามารู้จัก โรคตับแข็ง หนึ่งในโรคตับที่พบได้บ่อยที่สุดกันค่ะ

          โรคตับแข็ง หรือ Liver cirrhosis เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของตับ โดยเนื้อตับจะถูกทำลาย เพราะมีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ และไปดึงรั้งเนื้อตับดีจนเป็นผิวตะปุ่มตะป่ำเรียกว่า regenerative nodule ทำให้ตับสูญเสียการทำงานลงไป เพราะเลือดจะมีเลี้ยงเนื้อตับน้อยลง หากปล่อยไว้นานก็จะกลายเป็น ตับแข็งระยะสุดท้าย และพัฒนากลายเป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน

โรคตับแข็ง
สาเหตุของโรคตับแข็ง

สาเหตุของการเกิดตับแข็ง มีหลายประการ แต่ที่พบบ่อย คือ

          - การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป และติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ จึงเกิดภาวะตับอักเสบและเรื้อรังจนกลายเป็น โรคตับแข็ง โดยผู้หญิงจะเป็น โรคตับแข็ง ได้มากกว่าผู้ชาย

          - การเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซี จนทำให้ตับอักเสบเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะกลายเป็น โรคตับแข็ง ในที่สุด โดยไวรัสตับอักเสบบีและซีนั้น เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันทางเลือดและเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเป็นพาหะนั้นมักจะเกิดโดยไม่รู้ตัว

          - เกิดจากโรคที่ภูมิคุ้มกันมีการทำลายเนื้อตับ

          - เกิดภาวะไขมันสะสมในตับ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคอ้วน, ไขมันในเลือดสูง

          - การรับประทานยาบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน ยารักษาวัณโรคบางชนิด

          - โรคทางพันธุกรรมบางโรคทำให้เกิด ตับแข็ง เช่น ทาลัสซีเมีย,hemochromatosis, Wilson\'s disease, galactosemia

          - ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง ทำให้เส้นเลือดคั่งที่ตับ เลือดไหลเวียนในตับน้อยลง เนื้อตับขาดภาวะออกซิเจนจนตายลง

          - พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในเลือดอาจทำให้เกิดตับแข็ง

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคตับแข็งมักจะปรากฏอาการเริ่มแรกในช่วงอายุระหว่าง 40 - 60 ปี แต่ถ้าพบในคนอายุน้อย มักมีสาเหตุจากตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนแรง

อาการผู้ป่วย โรคตับแข็ง

          ผู้ป่วยโรคตับแข็งในระยะแรก มักจะไม่มีอาการชัดเจน อาจมีเพียงอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย จึงไม่ค่อยรู้สึกตัวว่ามีความผิดปกติที่ตับ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเกิดอาการของตับแข็ง คือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง ท้องโตขึ้น ขาบวม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด อาจรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย มีอาการคันตามตัว

          ในผู้หญิงที่เป็นโรคตับแข็ง อาจมีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีเสียงแหบแห้งคล้ายผู้ชาย ในผู้ชายอาจรู้สึกนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว บางคนอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก  หน้าท้อง เป็นต้น

ตับแข็ง

โรคแทรกซ้อนของผู้ป่วย โรคตับแข็ง

          หากผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็งมากขึ้น อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ โดยมีอาการคือ

          - ตัวเหลือง ตาเหลือง เพราะตับไม่สามารถขับน้ำดีออกมาได้

          - คันตามร่างกาย เพราะมีน้ำดีสะสมอยู่ตามผิวหนัง

          - เกิดนิ่วในถุงน้ำดี

          - มีอาการบวมหลังเท้า แขนขา และท้อง เพราะตับไม่สามารถสร้างไข่ขาว (โปรตีนในเลือด) ได้

          - เลือดออกได้ง่าย เพราะตับไม่สามารถสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้

          - สูญเสียความสามารถเกี่ยวกับความจำ สติ เพราะเกิดการคั่งของของเสีย

          - ไวต่อยามากขึ้น ดังนั้นการให้ยากับผู้ป่วย โรคตับแข็ง ต้องระวังการเกิดยาเกินขนาด เพราะตับจะไม่สามารถทำลายยาได้ แม้แต่การให้ยาให้ขนาดปกติ ก็ต้องระวัง

          - อาเจียนเป็นเลือด เพราะตับแข็ง จะทำให้ความดันในตับสูง จนทำให้หลอดเลือดดำในหลอดอาหารมีความดันสูง และหากมีความดันสูงมาก อาจทำให้หลอดเลือดดำแตกได้

          - ติดเชื้อได้ง่าย เพราะภูมิคุ้มกันลดลง อาจเป็น ท้องมาน ไตวาย

          และในระยะสุดท้าย เมื่อตับทำงานไม่ได้เลยก็จะเกิดอาการหมดสติเรียกว่า ภาวะหมดสติจากตับเสีย นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคตับแข็ง มีโอกาสเป็นมะเร็งในตับสูงกว่าคนปกติอีกด้วย

การตรวจวินิจฉัย โรคตับแข็ง

          แพทย์จะซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคตับแข็ง จากนั้นจะตรวจร่างกาย เพื่อหาสิ่งที่บ่งชี้ว่าเป็นตับแข็งหรือไม่ เช่น มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้อง และเท้าบวม ฝ่ามือแดง มีจุดแดงตามตัวหรือไม่ หรือคลำตับพบว่า มีผิวแข็งขรุขระ ขอบไม่เรียบ ก่อนที่จะตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์จะเจาะเลือด เพื่อตรวจการทำงานของตับ ซึ่งหากเป็น โรคตับแข็ง จะพบปริมาณไข่ขาวต่ำ มีการคั่งของน้ำดี โดยบางรายอาจต้องตรวจอัลตราซาวนด์ดู หรือเจาะเนื้อตับ

ตับแข็ง

 การรักษาโรคตับแข็ง

          โรคตับแข็ง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเซลล์ตับถูกทำลายไปแล้ว จึงไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติ ซึ่งการรักษาจะทำได้โดยชะลอโรคเท่านั้น

          ทั้งนี้ ถ้าหากผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็งระยะแรก และปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ก็จะมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 5-10 ปี แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ก็อาจอยู่ได้ 2-4 ปี โดยการรักษา โรคตับแข็ง สามารถให้ตั้งแต่ยากิน ยาฉีด ผ่าตัดเปลี่ยนตับ และมีแนวทางการรักษาอยู่ 2 วิธีการคือ

1. การรักษาที่สาเหตุ

          นั่นคือ ต้องรู้ว่าต้นเหตุของ โรคตับแข็ง เกิดจากอะไร และรักษาไปตามสาเหตุนั้น เช่น มีสาเหตุจากการดื่มสุรา ก็ให้งดสุรา ถ้าเกิดจากไวรัสตับอักเสบก็ให้ยารักษาที่ชื่อว่า อินเตอเฟอรอน  ในกรณีที่เป็นโรคตับแข็งจากการอักเสบของตับชนิดออโตอิมมูน ให้ใช้ยาสเตียรอยด์รักษา แต่หากเป็นโรคตับแข็งจากการสะสมของสารทองแดงในตับ จะใช้ยาเฉพาะเพื่อขับสารทองแดงออกจากร่างกาย

2.การรักษาโรคแทรกซ้อนของ โรคตับแข็ง คือ

          - หากมีอาการคันตามผิวหนัง ให้ทานยาแก้แพ้ และลดอาหารจำพวกโปรตีนลง

          - หากเป็นท้องมานหรือบวมที่หลังเท้า ให้ลดอาหารเค็ม และให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดอาการบวม

          - หากผู้ป่วยมีความดันในตับสูง แพทย์จะให้ยาลดความดัน

          - หากอาเจียนเป็นเลือดหรือหมดสติ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

การผ่าตัดเปลี่ยนตับ

          หากผู้ป่วยเป็นมากคือเป็นโรคตับแข็งระยะสุดท้าย ไม่สามารถควบคุมโรคแทรกซ้อนได้ หรือพบว่าการทำงานของตับลดน้อยลงมากจนไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งการรักษาด้วยการเปลี่ยนตับ ร่วมกับการใช้ยารักษา ได้ผลดีถึงร้อยละ 80-90 โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคตับแข็งที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับร้อยละ 80 จะมีชีวิตยาวนานถึง 5 ปี

การดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็ง

          - รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้มีสารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย

          - ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะตับจะย่อยไขมันได้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ให้ใช้ไขมันพืชแทน เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ที่มีกรดไขมันจำเป็นไลโนเลอิก

          - ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ เพราะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาหารเหล่านี้ จะทำให้อาการบวม อาการท้องมานเลวลงได้ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้รับประทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 2 กรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือป่นประมาณ เศษหนึ่งส่วนสามช้อนชาต่อวันเท่านั้น

          - ควรหลีกเลี้ยงอาหารที่ชื้น เช่น ถั่วป่น พริกป่น ที่เป็นแหล่งของสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้ตับต้องทำงานมากขึ้น และยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากขึ้น

          - ควรทานอาหารที่สะอาด ปรุงใหม่ ไม่ทานอาหารที่เก็บค้างคืน อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ลวก ย่าง

          - ควรรับประทานอาหารที่เป็นผัก ผลไม้ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะท้องผูก

          - ต้องไม่ดื่มน้ำมากเกินไป คือไม่เกิน 6 แก้วต่อวัน หรือหากมีอาการบวมมาก ควรลดปริมาณน้ำลงอีก และอาจต้องกินยาขับปัสสาวะตามที่แพทย์สั่งด้วย

          - ต้องงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ตับส่วนที่ยังดีอยู่ ถูกทำลายมากขึ้น

          - ไม่ควรซื้อยามาทานเอง หรือกินยาเกินขนาด เพราะยาส่วนมากจะถูกทำลายที่ตับ จึงอาจทำให้ภาวะตับแย่ลงกว่าเดิม

          - แพทย์อาจสั่งวิตามิน หรือเกลือแร่เสริมให้ เพราะเมื่อตับถูกทำลายอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น

          - หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ เช่น วิ่งมาราธอน กีฬาที่ต้องหักโหม ให้เดินวิ่งเบา ๆ แทน และพยายามทำจิตใจให้เบิกบาน

การป้องกันโรคตับแข็ง

          1. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และถ้าตรวจพบว่าเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรงดดื่มโดยเด็ดขาด

          2. ฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสบี ซึ่งนิยมฉีดตั้งแต่แรกเกิด

          3. ระมัดระวังการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- siamhealth.net
- bangkokhealth.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคตับแข็ง คนไม่ดื่มเหล้าก็เป็นได้ อัปเดตล่าสุด 3 พฤษภาคม 2561 เวลา 11:20:08 77,905 อ่าน
TOP
x close