วิธีแก้ปวดฟัน บรรเทาอาการปวดฟันด้วยตัวเองในเบื้องต้น ใครปวดฟันแต่กลัวหมอต้องลองดู
อาการปวดฟันบางครั้งก็สร้างความทรมานบวกกับความน่ารำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย ซึ่งใครที่เคยปวดฟันคงจะรู้ฤทธิ์ของอาการปวดฟันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดปวดฟันขึ้นมาแล้วยังไม่พร้อมจะไปหาหมอฟันล่ะ เราจะมีวิธีแก้อาการปวดฟันด้วยตัวเองได้ไหม และนี่คือวิธีแก้ปวดฟันที่เราอยากนำมาแชร์ต่อค่ะ
แก้ปวดฟันในเบื้องต้น ด้วยวิธีบ้าน ๆ
1. ประคบร้อนบริเวณซีกแก้มที่เกิดอาการปวดฟันด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือจะเป็นกระเป๋าน้ำร้อนที่ใส่น้ำอุ่นจัดก็แล้วแต่สะดวก
2. ผสมเกลือป่น 1 ช้อนชากับน้ำต้มสุก 1 แก้วกาแฟ คนจนเกลือละลายแล้วนำมาบ้วนปากนาน 30 วินาที เกลือจะช่วยลดอาการเหงือกบวมและลดการอักเสบได้
3. แช่ใบชาดำหรือชาเปปเปอร์มินต์กับน้ำร้อนนาน 20 นาที จากนั้นรอจนน้ำชาอุ่น ๆ แล้วนำมาบ้วนปากสักพัก ใบชาเหล่านี้จะมีสรรพคุณลดอาการอักเสบและช่วยลดอาการเหงือกบวมจากฟันผุได้
4. บ้วนปากด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้น 3% สักพัก ให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุของอาการฟันผุ
5. หากอาการปวดฟันมีลักษณะปวดตุบ ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ ให้ประคบซีกแก้มที่เกิดอาการปวดฟันด้วยน้ำแข็งประมาณ 5-10 นาที ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ความเย็นจะช่วยลดอาการปวดและลดบวมลง
6. พยายามอย่าดื่มน้ำเย็นหรือรับประทานของที่ร้อนจัดและเย็นจัด เพราะอาจกระตุ้นอาการปวดฟันได้
แก้ปวดฟันด้วยสมุนไพร
1. กานพลู
ใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำมันดอกกานพลู 4-5 หยด จิ้มลงไปยังฟันที่ปวด น้ำมันดอกกานพลูที่มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะแห่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้
2. ข่อย
ใช้กิ่งสดของข่อยมาหั่นและต้มในน้ำเกลือ เคี่ยวให้งวดจนเหลือน้ำครึ่งเดียว และใช้น้ำต้มข่อยบ้วนปากเช้า-เย็น ข่อยจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ลดอาการปวดฟันได้อีกทาง
3. เมล็ดผักชี
นำเมล็ดผักชีไปต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำต้มผักชีมาบ้วนปากบ่อย ๆ อาการปวดฟันจะค่อย ๆ บรรเทาลงได้
4. ว่านหางจระเข้
หั่นว่านหางจระเข้เป็นชิ้น ๆ แล้วล้างยางออกให้หมด เหน็บไว้ที่ซอกฟัน ใช้ฟันขบให้อยู่บริเวณที่ปวด หรือใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำวุ้นว่านหางจระเข้ ป้ายตรงบริเวณที่ปวด จะช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว
5. น้ำมันละหุ่ง
ทาน้ำมันละหุ่งบริเวณแก้มข้างที่ปวดฟัน และใช้พลาสเตอร์ยาปิดไว้ แล้วใช้ผ้าขนหนูอุ่น ๆ หรือแผ่นประคบบริเวณที่มีอาการปวด จากนั้น นอนพักอย่างน้อย 20 นาที น้ำมันละหุ่งมีสรรพคุณในการระงับปวดได้ดี โดยเฉพาะกรณีที่ปวดรากฟัน
6. น้ำมันกระเทียม
ใช้สำลีพันก้านไม้ ชุบน้ำมันกระเทียมทาบริเวณที่ปวดฟัน จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้เหมือนกัน
7. มะระ
นำรากสดของมะระมาตำพอแหลก แล้วพอกฟันซี่ที่ปวด โดยใช้ลิ้นกดไว้สักครู่ใหญ่ ๆ
8. ผักบุ้งนา
นำรากสดของผักบุ้งนาประมาณ 10 กรัม ตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำส้มสายชู อมไว้ประมาณ 5 นาที แล้วบ้วนออกด้วยน้ำสะอาด
9. กุยช่าย
ในกรณีที่ปวดฟันเพราะฟันผุ ให้นำเมล็ดกุยช่ายมาคั่วให้เกรียมดำ จากนั้นนำมาบดให้ละเอียดละลายน้ำมันยางแล้วชุบสำลี ยัดในฟันที่เป็นรูโพรง ทิ้งไว้หนึ่งคืน จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่กินฟันได้
แก้ปวดฟันด้วยยาแก้ปวดฟัน
ยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดฟันจะมีด้วยกัน 2 กลุ่ม ใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดฟันมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยใช้บรรเทาอาการปวดฟันในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ซึ่งในกรณีที่อาการปวดฟันไม่รุนแรงมาก เภสัชกรจะแนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ส่วนอาการปวดฟันในระดับปานกลาง อาจต้องเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่มออกฤทธิ์แก้ปวด เช่น แอสไพริน กรดมีเฟนนามิก ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
2. ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (หรือยาแก้อักเสบ)
ยาต้านเชื้อแบคทีเรียหรือยาแก้อักเสบจะใช้เฉพาะเคสที่มีอาการเหงือกบวมหรือเป็นหนองร่วมด้วย โดยยาที่นิยมใช้ต้านเชื้อแบคทีเรียทางทันตกรรม คือ อะม็อกซีซิลลิน ขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาตัวเดียวกันกับที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อในลำคอ (แก้เจ็บคอ) ทว่ายานี้ควรต้องใช้ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นยาที่ค่อนข้างแรงและมีเคสผู้ป่วยแพ้ยานี้ค่อนข้างบ่อย นอกจากนี้ยังอาจเลือกใช้ยาอีริโทรไมซิน (erythromycin) หรือร็อกซีโทรไมซิน (roxythromycin) เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียก็ได้ค่ะ แต่อย่าลืมปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาด้วยนะ
วิธีป้องกันอาการปวดฟัน
สาเหตุของอาการปวดฟันส่วนใหญ่มักเกิดจากอาการฟันผุ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุ เราก็ควรรักษาสุขภาพของฟันให้ดี โดยแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวัละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันในส่วนที่แปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็งหรือร้อนจัด เย็นจัด เพื่อรักษาไม่ให้เคลือบฟันผุกร่อน รวมทั้งอย่าลืมไปตรวจเช็กสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งเป็นประจำด้วย
ใครมีอาการปวดฟันลองนำวิธีแก้ปวดฟันเหล่านี้ไปบรรเทาความทรมานด้วยตัวเองในเบื้องต้นก่อนก็ได้ค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม อาการปวดฟันจะหายไปอย่างหมดจดได้ก็ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของทันตแพทย์นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
Reader\'s digest