กระวาน สมุนไพรตัวจ้อย แต่สรรพคุณภายในบิ๊กเบิ้ม

          กระวาน อีกหนึ่งเครื่องเทศที่ช่วยเพิ่มเติมรสชาติอาหาร แถมพ่วงด้วยสรรพคุณดี ๆ ของสมุนไพรไทย ที่รู้แล้วต้องร้องว้าว

กระวาน

          เครื่องเทศ หนึ่งในเคล็ดลับเพิ่มเติมความอร่อยให้กับอาหารหลากหลาย ที่เราอาจจะพอได้ทราบกันแล้วว่าเจ้าเครื่องเทศที่เราใส่ลงไปในอาหารบางอย่างเนี่ย มีสรรพคุณทางยาและประโยชน์ต่อสุขภาพของเราอย่างมากมาย และวันนี้เราก็จะหยิบเอาเครื่องเทศอีกชนิดหนึ่งอย่าง กระวาน ที่ว่ากันว่าเต็มไปด้วยสรรพคุณ มากะเทาะเปลือกเผยความเด็ดดวงของคุณค่าที่ดีเยี่ยมกันค่ะ เห็นว่าเป็นเพียงแค่สมุนไพรเม็ดเล็ก ๆ แต่ก็อย่าสบประมาทประโยชน์ของกระวานเลยเชียวนะ
          กระวาน มีอีกหลากหลายชื่อ ได้แก่ กระวานดำ, กระวานแดง, กระวานขาว, กระวานจันทร์, กระวานโพธิสัตว์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Siam Cardamom และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Amomum krervanh Pierre เป็นหนึ่งในเครื่องเทศที่ได้รับความนิยมจากชาวตะวันตกมานานตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากเป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม นอกจากนี้ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมาย สามารถนำหลายส่วนของต้นมาใช้เป็นยาได้ ไม่ว่าจะเป็น ราก หัว หน่อ เปลือก แก่น กระพี้ ใบ และผลแก่ โดยที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มักจะเป็นผลของกระวาน หรือที่เรียกว่าลูกกระวานนั่นเอง

กระวาน

          กระวาน เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีคุณค่าทางอาหารสูง อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม ฟอสฟอรัส หรือธาตุเหล็ก ซึ่งตามที่กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รายงานไว้ ลูกกระวาน 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

          - พลังงาน 254 กิโลแคลอรี
          - โปรตีน 9.5 กรัม
          - ไขมัน 6.3 กรัม
          - คาร์โบไฮเดรต 39.7 กรัม
          - แคลเซียม 16 กรัม
          - ฟอสฟอรัส 23 มิลลิกรัม
          - ธาตุเหล็ก 12.6 มิลลิกรัม

          นอกจากนี้ลูกและเมล็ดของต้นกระวานก็ยังมีกลิ่นคล้ายการบูร รวมทั้งรสชาติก็ยังเผ็ดร้อน จึงนิยมนำมาทำเป็นอาหารมากมายเช่น แกงเผ็ด แกงมัสมั่น หรือใช้แต่งกลิ่น แต่งสีของเหล้า ขนมปัง เค้ก คุกกี้ แฮม และอื่น ๆ



กระวาน

กระวาน กับลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          กระวานเป็นพืชล้มลุก มีเหง้า ความสูงสุดประมาณ 2 เมตร ลักษณะต้นเป็นกาบใบหุ้มซ้อนกัน จึงทำให้ดูคล้ายลำต้น เป็นพืชใบเดี่ยว ใบแคบยาว ขอบขนาน มีขนาดยาว 15-25 ซม. ปลายใบแหลม ช่อดอกจะออกจากเหง้าชูและขึ้นมาเหนือพื้นดิน เป็นรูปทรงกระบอก ยาว 6-15 ซม. ก้านของช่อดอกยาว 5-15 ซม. ใบประดับสีเหลืองนวล กลีบดอกสีเหลือง เป็นหลอดแคบ
 
          ลักษณะผลมีสีนวล และค่อนข้างกลม ภายในผลแบ่งออกเป็น 3 พู ผลอ่อนจะมีขนและจะร่วงไปเมื่อผลแก่ เมล็ดมีขนาดเล็ก โดยเมล็ดอ่อนจะมีสีขาวและมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ นอกจากนี้ผลและเมล็กของกระวานยังมีกลิ่นหอมคล้ายการบูรอีกด้วย

กระวาน

กระวาน สรรพคุณทางยาแน่นเอี้ยด เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า

          ตั้งแต่รากจนถึงปลายยอดของต้นกระวาน สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ได้แทบจะทุกส่วนเลยล่ะค่ะ ซึ่งสรรพคุณที่เด็ด ๆ ของกระวานมีดังนี้ค่ะ

           ราก - นำมาต้มดื่มจะช่วยในการฟอกเลือด ขับลม รักษาโรครำมะนาด และละลายเสมหะ

           หัวและหน่อ - ใช้ในการขับพยาธิในเนื้อให้ออกมา นอกจากนี้ยังสามารถรับประทานคู่กับน้ำพริกได้อีกด้วย

           เปลือก - แก้ไข้ แก้อาการผอมและตัวเหลือง รักษาโรคผิวหนังบางชนิด ขับเสมหะ บำรุงธาตุ

           แก่น - รักษาอาการโลหิตเป็นพิษ
  
           ใบ - ขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นอนท้อง ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย และรักษาอาการโรครำมะนาด

           กระพี้ - รักษาโรคผิวหนังบางชนิด และบำรุงโลหิต

           ลูกกระวาน - ผลแก้ของกระวานมีฤทธิ์ช่วยขับลม และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ช่วยขับเลือดเสีย บำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรครำมะนาด แก้อาการจุกเสียดแน่นอนท้อง แก้ท้องเฟ้อ

           เมล็ด - แก้อาการอาหารไม่ย่อย แก้อาการท้องผูก บำรุงธาตุ

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี พบว่า เหง้าของกระวานอบแห้งนั้นสามารถช่วยยับยั้งแบคทีเรียบางชนิดอย่าง สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) อีโคไล (E.coli) และเชื้อราแคนดิดา (Candida albicans) สามารถช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วยค่ะ

ข้อควรระวังในการใช้กระวาน

          เรื่องของอันตรายของกระวานนั้น ยังไม่มีการศึกษาใดพบว่าการใช้กระวานจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ แต่ก็ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะน้ำมันหอมระเหยในกระวานก็มีสารบางชนิดที่หากสะสมในร่างกายมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายในระยะยาวได้ค่ะ

          ได้เห็นประโยชน์ดี ๆ ของกระวานกันไปแล้ว ใครที่ชอบเขี่ยลูกกระวานในอาหารทิ้งเวลารับประทานอาหารก็เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ หันมารับประทานเข้าไปกันดีกว่า เพื่อที่จะได้รับประโยชน์ของกระวานกันอย่างเต็มที่ แต่ก็ควรจะรับประทานควบคู่กับอาหารที่ดีมีประโยชน์ด้วย สุขภาพจะได้ยิ่งดี๊ดี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระวาน สมุนไพรตัวจ้อย แต่สรรพคุณภายในบิ๊กเบิ้ม อัปเดตล่าสุด 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 17:44:35 53,968 อ่าน
TOP
x close