เปิดตำรา 8 สมุนไพรและเครื่องเทศ ช่วยรักษาสารพัดโรค


สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ช่วยรักษาสารพัดโรค
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          สมุนไพรเพื่อสุขภาพ รู้ไหมว่าหลายชนิดเป็นสมุนไพรชั้นเลิศที่ช่วยรักษาโรคได้อย่างคาดไม่ถึง อย่าง 8 สมุนไพรและเครื่องเทศต่อไปนี้

          ปัจจุบันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่หันมาพึ่งการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการนวดบำบัด การรักษาตามแพทย์แผนตะวันออก และโดยเฉพาะการรักษาด้วยวิธีการกิน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในการกินเพื่อรักษาโรคนั้น มีสูตรและวิธีการกินแตกต่างกันไป แต่หัวใจหลักที่เหมือนกันนั่นก็คือสมุนไพรและเครื่องเทศที่มีมากมายหลายชนิดเพราะมีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่า สมุนไพรและเครื่องเทศบางชนิดสามารถช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ได้ อย่างที่เว็บไซต์ Reader\'s Digest ได้นำเอามาบอกกล่าวกันเอาไว้ เรามาดูกันดีกว่ามีสมุนไพรและเครื่องเทศชนิดใดที่มีฤทธิ์ช่วยในการรักษาโรคได้บ้าง

พริกป่น
พริกป่น

1. พริกป่น

          ใครจะเชื่อว่าเครื่องปรุงรสชาติจี๊ดจ๊าดชนิดนี้จะมีฤทธิ์ในการรักษาโรคได้ แต่ "แคปไซซิน" สารประกอบที่เป็นน้ำมันที่อยู่ในพริกป่น นอกจากจะให้รสชาติที่เผ็ดร้อนแล้ว ยังได้ถูกใช้ในการผลิตครีมบำรุงผิวราคาแพงหลากหลายชนิดและยาบางชนิด อย่างเช่นขี้ผึ้งและแผ่นปิดบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือโรคข้ออักเสบ แถมมันยังถูกใช้ในการรักษาโรคงูสวัดอีกด้วย
 
          พริกป่นมีสรรพคุณในการช่วยลดการอักเสบและมีสารต้านอนุมูลอิสระ เพียงโรยไปบนซุปไก่เพียงเล็กน้อยก็จะช่วยรักษาอาการหวัดได้ โดยจะไปลดการอักเสบของหลอดเลือดภายในจมูกและคอ ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ นอกจากนี้พริกป่นยังช่วยเร่งระบบการเผาผลาญให้เร็วยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ
 
          มีการศึกษามากมายพบว่าพริกป่นมีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์มะเร็งและช่วยป้องกันมะเร็งได้ ซึ่งมีการศึกษาหนึ่งซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ American Journal of Clinical Nutrition พบว่าการกินอาหารที่มีส่วนประกอบของพริกนั้นช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และสามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินได้ ดังนั้นพริกป่นจึงเป็นเครื่องเทศที่ช่วยในการป้องกันโรคเบาหวาน


อบเชย
อบเชย

2. อบเชย

          อบเชยเป็นหนึ่งในเครื่องเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้การบริโภคอบเชยเพียงวันละ 1/4 ถึง 1/2 ช้อนชานั้นก็สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับคอเลสเตอรอลรวมได้ถึง 12-30 เปอร์เซนต์
 
          อบเชยยังช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดอุดตันส่งผลให้หัวใจแข็งแรง เช่นเดียวกับเครื่องเทศอีกหลาย ๆ ชนิด อบเชยมีฤทธิ์ในการช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ โดยเฉพาะสามารถกำจัดเชื้ออีโคไลได้ดีเป็นพิเศษ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยได้พบว่าอบเชยอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่าโพลีฟีนอล ซึ่งมีประโยชน์ต่อหัวใจ แถมยังมีไฟเบอร์ในปริมาณสูง และสามารถช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้อีกด้วย


กานพลู
กานพลู


3 กานพลู

          การพลูมีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีชื่อว่า ยูจีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ในการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า สารเคมีชนิดนี้สามารถไปยับยั้งโปรตีน COX-2 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไปกระตุ้นอาการอักเสบ ขณะที่ในการศึกษาหนึ่งพบว่ากานพลูติดอันดับเครื่องเทศที่มีระดับสารต้นอนุมูลอิสระในปริมาณสูงอีกด้วย ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยลดอาการอักเสบและมีต้านอนุมูลอิสระจึงทำให้กานพลูเป็นเครื่องเทศที่มีประโยชน์ช่วยในการป้องกันโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง
 
          นอกจากนี้ กานพลูยังช่วยชะลอความเสียหายของกระดูกและกระดูกอ่อนที่เกิดจากโรคข้ออักเสบ และยังมีฤทธิ์ในการปรับปรุงการทำงานของอินซูลินในร่างกายเช่นเดียวกับอบเชยอีกด้วย หากคุณรู้สึกปวดฟัน เพียงอมกานพลูไว้ในปากแล้วปล่อยให้มันนิ่มจากนั้นค่อย ๆ เคี้ยวด้วยฟันซี่ที่ปกติให้น้ำมันภายในกานพลูออกมา ฟันซี่ที่ปวดจะเริ่มมีอาการดีขึ้นเมื่อผ่านไปครึ่งชั่วโมง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะน้ำมันภายในกานพลูมีฤทธิ์ในการต่อสู้กัแบคทีเรีย และยังมีการทดลองพบว่าน้ำมันในกานพลูสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวินะได้

เมล็ดผักชี
เมล็ดผักชี

4. เมล็ดผักชี

          เมล็ดผักชีเป็นสมุนไพรที่มีอยู่ในอาหารเม็กซิกัน, อาหารไทย, อาหารเวียดนาม และอาหารอินเดีย ถูกนำมาใช้ในการช่วยย่อยอาหารมานับพันปีแล้ว ผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน ให้นำเมล็ดผักชีมาบดให้ละเอียดและใส่น้ำ แล้วกรองเป็นน้ำชาเข้มข้น ก็จะช่วยทำให้อาการทุเลาลงเพราะมันจะไปช่วยลดการหดตัวของลำไส้ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคท้องร่วงได้
 

          ขณะที่มีการศึกษาเบื้องตันในสัตว์ แนะนำให้ใช้เมล็ดผักชีเป็นสมุนในการรักษาภาวะวิตกกังวล ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดผักชีก็มีฤทธิ์ช่วยสู้กับแบคทีเรียต่าง ๆ รวมทั้ง เชื้ออีโคไลและซาลโมลเนลลา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า เมล็กผักชีสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับสมุนไพรและเครื่องเทศชนิดอื่น ๆ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ 


กระเทียม
กระเทียม


5. กระเทียม

          กลิ่นของกระเทียมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้นมาจากสารอัลลิซินซึ่งเป็นสารประกอบหนึ่งที่อยู่ในกำมะถัน ซึ่งทำให้กระเทียมกลายเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีประโยชน์ทางยา เพียงแค่กินกระเทียมทุกวันก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 76% และบางการศึกษาพบว่ากระเทียมช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ถึง 5-10% ช่วยลดการอุตตันในเส้นเลือด และทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
 
          ส่วนสารกำมะถันในกระเทียมนั้น มีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ด้วยการทำลายดีเอ็นเอในเซลล์มะเร็งและบังคับให้เซลล์มะเร็งที่ไม่มีการพัฒนานั้นทำลายตนเอง ขณะที่สรรพคุณในการต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในกระเทียมนั้น สามารถช่วยรักษาอาการติดเชื้อจากยีสต์หรือเชื้อรา การติดเชื้อไซนัส และรักษาไข้หวัด นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันเห็บหมัดได้อีกด้วย


ขิง
ขิง

6. ขิง

          สมุนไพรชนิดนี้ถูกใช้เป็นส่วนสำคัญในการรักษาโรคของชาวเอเชียและชาวอินเดียมานับศตวรรษ โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร และการศึกษาล่าสุดทำให้นักวิจัยนั้นตื่นเต้นเป็นอย่างมากเมื่อพบว่า ขิงสามารถช่วยต่อสู้กับอาการอักเสบได้
 
          มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าขิงและขมิ้นสามารถบรรเทาอาการปวดและบวมในผู้ที่มีอาการของโรคข้ออักเสบแถมยังช่วยรักษาอาการปวดจากไมเกรน
โดยหยุดการทำงานของสารเคมีที่มีชื่อว่าโพรสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ทำให้การอักเสบลดลง ขิงยังสามารถช่วยป้องกันและชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย แถมขิงยังดีต่อท้องเพราะมันจะไปส่งเสริมระบบการย่อยอาหารช่วยลดการหดตัวของลำไส้
 
          มีการศึกษาหนึ่งพบว่าขิงมีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยาดรามามีน หรือยาไดเมนไฮดริเนต ซึ่งช่วยรักษาอาการคลื่นไส้ และยังไม่ทำให้เกิดอาการง่วง ทำให้ขิงกลายเป็นยาที่ช่วยรักษาอาการแพ้ท้องในระยะสั้น ๆ ได้ดี แค่เพียงกินขิงในช่วงก่อนที่คุณจะเกิดอาการคลื่นไส้ จะทำให้อาการคลื่นไส้หายไปได้


ลูกจันทน์เทศ
ลูกจันทน์เทศ

7. ลูกจันทน์เทศ

          ลูกจันทน์เทศ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าลูกจันทน์ มีสารยูจินอลที่มีประโยชน์ต่อหัวใจช่นเดียวกับกานพลู แต่ลูกจันทน์เทศนั้นหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะทำให้เกิดการเสพติดเช่นเดียวกับยาเสพติด เพราะส่วนประกอบที่อยู่ในลูกจันทน์ที่ชื่อว่าไมรีสทิซินนั้นมีฤทธิ์เป็นพิษ หากกินเข้าไปในปริมาณหนึ่งจะทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝันเช่นเดียวกับการเสพยา แถมยังมีผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้
 
          อย่างไรก็ตาม แม้ฟังดูเหมือนว่าลูกจันทน์จะมีพิษอันตราย แต่ในทางการแพทย์ ลูกจันทน์และเปลือกหุ้มของเมล็ด มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถฆ่าแบคทีเรียที่อยู่ภายในช่องปากซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฟันผุได้ นอกจากนี้สารไมรีสทิซินยังช่วยสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในสมองที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ และช่วยฟื้นฟูความทรงจำในหนูทดลอง ขณะที่มีนักวิจัยบางส่วนได้วิจัยเกี่ยวกับสารไมรีสทิซินพบว่ามีฤทธิ์เป็นยากล่อมประสาทอีกด้วย


ขมิ้น
ขมิ้นชัน

8. ขมิ้นชัน

          ขมิ้นชัน เครื่องเทศสำคัญที่อยู่ในแกงกะหรี่ถูกชาวอินเดียนำมาใช้ เพื่อกระตุ้นความอยากอาหารและช่วยในการย่อยอาหาร และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการค้นพบว่าขมิั้นชันนี้มีความสามารถในการต่อสู้กับมะเร็งได้ สารเคมีที่ทำให้เกิดสีเหลืองในขมิ้นที่เรียกว่า เคอร์คูมิน เป็นสารที่ช่วยต้านมะเร็งได้เป็นอันดับต้น ๆ โดยช่วยระงับการอักเสบที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้องอก และการทำงานในลักษณะเดียวกันกับบรอกโคลี และกะหล่ำดอก ทำให้ขมิ้นนั้นสามารถทำลายดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งและช่วยล้างสารก่อมะเร็งออกจากร่างกาย รวมทั้งช่วยซ่อมแซมดีเอ็นเอในร่างกายที่เกิดความเสียหายได้อีกด้วย 
 
          นอกจากนี้ ขมิ้นยังช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดีเช่นเดียวกับมะเร็งผิวหนัง ขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์สในรัฐนิวเจอร์ซีย์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการรวมตัวกันของสารเคอร์คูมินและสารฟีเนทิลไอโซไทโอไซยาเนท ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็งในผักตระกูลกะหล่ำ ต่อความเป็นไปได้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก และพบว่า ขมิ้นมีความเชื่อมโยงกับการลดการอักเสบและลดอาการของโรคสะเก็ดเงิน ส่วนการศึกษาในสัตว์ก็พบพบว่าสารเคอร์คูมินช่วยลดการสร้างของอะไมลอยด์ทำให้การอักเสบของเซลล์สมองซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอัลไซเมอร์ลดลงได้

          สมุนไพรและเครื่องเทศหลากหลายชนิดที่กล่าวมานี้อุดมไปด้วยสรรพคุณในการรักษาโรคมากมาย แต่ก็ควรใช้อย่างพอดี เพราะถ้าหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้นหากคิดอยากจะใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศเหล่านี้ในการรักษาโรคจริง ๆ ล่ะก็ ควรศึกษาค้นคว้าข้อมูล หรือทางที่ดีปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้จะดีที่สุดนะคะ








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดตำรา 8 สมุนไพรและเครื่องเทศ ช่วยรักษาสารพัดโรค อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2557 เวลา 07:34:50 30,881 อ่าน
TOP
x close