x close

ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ก็อาจเครียดง่าย หาหมอได้เหมือนกัน

ความเครียดจากการทำงาน
 
          ความเครียดจากการทำงาน ที่คนวัยทำงานทุกคนล้วนต้องเจอ แล้วเราจะจัดการความเครียดจากงานได้ยังไงกันล่ะ
 
          การทำงานเปิดโอกาสให้เราได้พบเจอกับความเครียดและความกดดัน จากทั้งงานที่ทำ หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน รวมไปถึงปัจจัยเสริมต่าง ๆ ที่อาจพาให้เครียดได้ ซึ่งแม้เราจะเป็นพนักงานประจำ ไม่ใช่คนทำงานฟรีแลนซ์ที่ต้องวิ่งเข้าหางานอย่างที่เคยเห็นกัน แต่เมื่อเข้ามาสู่โหมดการทำงานแล้ว ความเครียดย่อมหาช่องเกิดกับเราได้

          ในวันนี้ทาง สสส. จึงขอเสนอแนะความเครียดในวัยทำงาน พร้อมทั้งวิธีคลายเครียดให้ไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานค่ะ

          "ความเครียดของคนทำงานเกิดจากความกดดันตนเอง ความคาดหวังขององค์กร รวมถึงการรับรู้ข้อมูลเปรียบเทียบความสำเร็จของคนอื่นจากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกพอใจในความสำเร็จของตนเองลดน้อยลง" นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุติ กรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย สสส. ได้กล่าวถึงคนทำงานรุ่นใหม่ ที่อยู่ในยุคท่ามกลางสื่อดิจิตอล ที่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

ความเครียดจากการทำงาน

          "ความเครียด" ของคนวัยทำงาน จึงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ส่งผลถึงสุขภาพกายและใจ นายแพทย์ประเวช ได้อธิบายว่า ความเครียด มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 1. ความเครียดระยะสั้น จะช่วยกระตุ้นให้เราตื่นตัว ช่วยให้ร่างกายเร่งการทำงาน จิตใจจดจ่อ เพื่อเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับปัญหาหรือภัยอันตราย

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 2. ความเครียดที่ต่อเนื่องยาวนาน แฝงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต จะส่งผลเสียรุนแรงต่อสภาพร่างกายและจิตใจ กระทบต่อร่างกายทั้งทางระบบฮอร์โมน ระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบภูมิคุ้มกัน

          โดยความเครียดจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว หัวใจเต้นเร็วและแรง เส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจตีบเล็กลง ส่งผลต่อเนื่องให้ความดันเลือดสูงขึ้น ปริมาณน้ำเลือดเพิ่มมากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงทำให้เลือดข้นขึ้น และแข็งตัวเร็วกว่าปกติ

          ไม่เพียงเท่านี้ ลำไส้ส่วนต่าง ๆ และระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำงานได้น้อยลง ส่งผลให้ความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ลดลงไปด้วย หากมากไปกว่านั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างโรคคาโรชิ หรือ Karochi Syndrome

ความเครียดจากการทำงาน

 มารู้จัก "โรคคาโรชิ"

          "โรคคาโรชิ หรือ Karochi Syndrome” ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษจะหมายถึง Death from Overwork หรือ การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกิน ซึ่งนายแพทย์ประเวช ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ว่า "คาโรชิ" เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นภาวะที่เกิดในคนทำงานที่เครียด และเหนื่อยล้าจากการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป

          สาเหตุการเสียชีวิตส่วนมากเกิดจากหัวใจวายเฉียบพลัน หรือเส้นเลือดในสมองแตกจากความเครียด และภาวะโภชนาการ ยกตัวอย่างเช่น คนทำงานรายหนึ่งทำงานถึง 110 ชั่วโมง ภายในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งผู้บริหารหลายคนเสียชีวิตเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไรนำมาก่อน จนสื่อมวลชนญี่ปุ่นในขณะนั้นกำหนดชื่อนี้ขึ้น ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นการดูแลชั่วโมงการทำงานไม่ให้มากเกิน และดูแลสมดุลชีวิตและงานให้ดี

ลดเครียด เพิ่ม "สุข"

          นอกจากนี้ นายแพทย์ประเวช ยังได้บอกถึงวิธีการสร้างสุขหรือการจัดการความเครียดของคนทำงานอีกว่า ความสุขของคนทำงานนั้น สามารถเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 1. ความรู้สึกสำเร็จ

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 2. การมีความสัมพันธ์ที่ดีในงาน

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 3. ความรู้สึกมีความหมายในงานที่ทำ

          ทั้งนี้ การสร้างสุขให้กับคนทำงานในทุกองค์กรนั้น เป็นหน้าที่ของทั้งผู้บริหารองค์กรและบุคลากร โดยองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความสุขของคนทำงาน จะจัดระบบงานให้เอื้อต่อการมีความสุข จัดบรรยากาศการทำงานให้คนทำงานเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำงานร่วมกันเป็นทีม ปราศจากการเมืองภายในองค์กร รวมทั้งมีการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์

ความเครียดจากการทำงาน

          ซึ่งระบบงานที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีความสุข จะสนับสนุนให้คนทำงานได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ช่วยให้คนทำงานรู้สึกภาคภูมิใจ เป็นงานที่ให้ความหมาย ตอบโจทย์ความต้องการของคนทำงาน ที่ไม่ใช่เพียงแหล่งรายได้ แต่มีระบบงาน และแนวทางการทำงานที่ชัดเจนโปร่งใส เปิดโอกาสให้คนทำงานทำผิดในกระบวนการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้ สร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างคนทำงาน

          "คนทำงานที่มีความสุขจะพบว่างานของตัวเองไม่เพียงแต่สร้างรายได้และความมั่นคงของชีวิต แต่ยังมอบความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตในด้านอื่น ๆ อันได้แก่ การได้เข้าถึงและได้ใช้ศักยภาพของตนเอง มีความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ และค้นพบความหมายในงานที่ทำ โดยลักษณะงานที่ทำมีความสอดคล้องกับสิ่งที่เขาให้คุณค่า เช่น ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคม" นายแพทย์ประเวช กล่าวทิ้งท้าย

          หากเพียงเท่านี้เราก็สามารถมีความสุขกับการทำงาน และที่สำคัญมากที่สุด คือ การได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เช่นเดียวกับแนวคิด “Happy work place” หรือ การสร้างสุขในองค์กรอย่างสมบูรณ์


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ก็อาจเครียดง่าย หาหมอได้เหมือนกัน อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2558 เวลา 15:00:14 2,723 อ่าน
TOP