บาดเจ็บขณะวิ่ง ทำไงดี เรามีคำตอบ

 ออกกำลังกาย

          การวิ่งลดน้ำหนัก หรือวิ่งออกกำลังกาย หากเกิดอาการบาดเจ็บขณะวิ่งเราควรทำยังไงดี
   
          เทรนด์การวิ่งออกกำลังกายยังคงฮิตอยู่เสมอ เพราะการวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ยาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ แถมยังช่วยลดน้ำหนัก และฟิตสุขภาพได้ดีอีกต่างหาก ซึ่งจะเห็นได้จากการวิ่งระยะไกลอย่างวิ่งมินิมาราธอน หรือวิ่งมาราธอน ที่มักจะมีผู้ที่สนใจมาร่วมกิจกรรมกันล้นหลาม และด้วยเหตุนี้ ทาง สสส. จึงขอแนะนำหลักในการปฏิบัติเมื่อเกิดการบาดเจ็บขณะวิ่ง ซึ่งแน่นอนว่านักวิ่งที่มากประสบการณ์ต่างก็เคยเจออาการบาดเจ็บขณะวิ่งมาแล้วทั้งนั้น แต่สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่เอง การทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บขณะวิ่งก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ไว้เช่นกัน
          เสาวลักษณ์ กิตติวรภูมิ หรือ เป้ย ผู้ก่อตั้ง "คลับจิตอาสา volunteer AED club" บอกถึงอาการบาดเจ็บที่มักจะเกิดขึ้นขณะวิ่งที่พบบ่อย ซึ่งจะมีตั้งแต่รองเท้ากัดเป็นแผล แต่ยังฝืนวิ่งทั้งที่ยังเจ็บจนในที่สุดก็ไม่สามารถวิ่งต่อได้ เป็นตะคริว อาการข้อเท้าซ้น ข้อเท้าแพลง พลิก อาการวิงเวียนหน้ามืด เป็นลม โดยเฉพาะในนักวิ่งผู้หญิงที่มีประจำเดือน

การวิ่งลดน้ำหนัก

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น


          ผู้ที่พบเจอนักวิ่งที่มีอาการบาดเจ็บขณะวิ่ง ลำดับแรกคือ ให้สังเกตใบหน้าของนักวิ่งว่าเป็นอย่างไร เช่น ใบหน้าแดงก่ำ เหนื่อยหอบ และควรสอบถามถึงอาการว่าเป็นอย่างไรบ้าง ไหวหรือเปล่า จากนั้นให้เขาหยุดพักก่อน และหาน้ำให้ดื่ม ส่วนอาการบาดเจ็บจากข้อเท้าซ้น พลิกหรือแพลง จากข้อมูลความรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากพยาบาลวิชาชีพขั้นสูง สภากาชาดไทย หากมีอาการดังกล่าว ไม่ควรบีบ นวด หรือกดบริเวณที่พลิก และไม่ควรประคบร้อน ควรหาน้ำแข็งห่อผ้าไว้ เพื่อประคบบริเวณที่ข้อเท้าพลิก ก่อนนำไปปฐมพยาบาลขั้นสูง

"หัวใจวายเฉียบพลัน" ภาวะอันตราย

          เป้ย หัวหน้าทีมอาสาสมัครคนเก่งบอกว่า "โรคหัวใจวายเฉียบพลัน" เป็นภาวะอันตรายและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ทุกที่ ทุกเวลา โดยผู้มีภาวะดังกล่าวไม่สามารถที่จะรอการปฐมพยาบาลขั้นสูง หรือรอการรักษาจากแพทย์ได้ทันเวลา จึงมีความจำเป็นที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ หรือผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ประสบภาวะดังกล่าว ต้องรู้วิธีปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อนที่จะถึงมือแพทย์ ซึ่งพวกเขามีส่วนสำคัญมากที่จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ถึง 60%

          วิธีสังเกตคือ เมื่อพบนักวิ่งมีอาการหน้าเริ่มซีด หายใจหอบแรง และหมดสติ คนส่วนมากจะคิดว่าเป็นลมธรรมดา แต่ข้อสังเกตว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวายเฉียบพลันหรือไม่ คือ "ใบหน้าเริ่มซีด บริเวณหน้าอกกระเพื่อมหรือไม่ ถ้าไม่ นั่นคือไม่หายใจ" ให้เรียกเพื่อปลุกเขา ใช้ฝ่ามือตบบริเวณบ่าให้เขารู้สึกตัว ระหว่างนั้นให้โทรประสานงานกับทีมแพทย์ฉุกเฉินของงานวิ่ง หรือ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)


"5 ห่วงโซ่การรอดชีวิต"

          ขณะที่รอรถพยาบาล ผู้ป่วยมีนาทีทองเพียง 4 นาทีในการรอดชีวิต ซึ่งเรียกวิธีการปฐมพยาบาลพื้นฐานนี้ว่า "5 ห่วงโซ่การรอดชีวิต" คือ

          - เรียกผู้ป่วยให้รู้สึกตัว

          - เมื่อเขาหยุดหายใจหัวใจไม่สูบฉีด เลือดไม่เลี้ยงสมอง วิธีการช่วยเหลือคือ การทำ CPR  ดังนี้

          - ประสานมือ 2 ข้างได้ตามถนัด วางลงบนกึ่งกลางของหน้าอก และกดฝ่ามือลงไปให้ลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร หรือ 2 นิ้ว กดให้ลึก เร็ว และแรง

          - ปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง ด้วยจังหวะสม่ำเสมอ ให้หัวใจถูกแรงบีบกดลงไป

          - ใช้นิ้วกลางเสยคางขึ้นมา และเป่าปาก 2 ครั้ง ทำแบบนี้ 5 เซต ๆ ละ 30 ครั้ง

          - หากไม่เป่าปากให้ปั๊มหัวใจ 200 ครั้ง โดยไม่หยุด

          - ใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ภายใน 4 นาทีแรก ทำให้ผู้ประสบภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน มีโอกาสการรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง 3 ขั้นตอนแรกมีความสำคัญมากต่อชีวิตผู้ป่วย ก่อนจะถึงมือแพทย์

          - เมื่อรถพยาบาลมาถึงที่เกิดเหตุ ให้บอกข้อมูลที่เราปฐมพยาบาลว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้ทีมแพทย์ได้ดำเนินการต่อได้ทันท่วงที

          - ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด้วยความปลอดภัย

          หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากวิ่งออกกำลังกาย หรือเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ ก็อย่าลืมใส่ใจวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดอาการบาดเจ็บขณะวิ่งไว้ด้วย อย่างน้อยเราอาจจะได้ช่วยเหลือนักวิ่งร่วมทางคนอื่น ๆ ด้วยนะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บาดเจ็บขณะวิ่ง ทำไงดี เรามีคำตอบ อัปเดตล่าสุด 7 มกราคม 2561 เวลา 13:53:48 7,041 อ่าน
TOP
x close