x close

เคล็ดลับรักษาเสียง ให้ใสปิ๊ง

การดูแลสุขภาพ

เคล็ดลับรักษาเสียง ให้ใสปิ๊ง (ไทยโพสต์)

          เมื่อเริ่มมีอายุ เรามักกลัวว่าผมจะหงอก รอยตีนกาจะขึ้น เราคอยรักษารูปโฉมโนมพรรณให้แลดูอ่อนเยาว์ แต่เรามักลืมวี่แววบ่งบอกความแก่ไปอย่างหนึ่ง นั่นคือน้ำเสียง

          หลายคนไม่รู้ว่าน้ำเสียงก็ต้องการการดูแลเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ คนอายุ 65 ปีขึ้นไปราว 1 ใน 3 จึงมีปัญหาเรื่องน้ำเสียง

          อวัยวะหลายส่วนร่วมกันทำงานในการเปล่งเสียงของเรา กล้ามเนื้อท้องและซี่โครงบีบไปที่ปอด ทำให้คนเราปล่อยลมหายใจออกมา เมื่อลมผ่านทางเดินหายใจก็ไปผ่านเส้นเสียง ซึ่งไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้น หากแต่เป็นชิ้นเนื้อเยื่อ 2 ชุดที่กางกั้นในทางเดินหายใจ ซึ่งจะปิด-เปิดเมื่อมีลมผ่าน

          เมื่อเส้นเสียงสั่นก็จะเป็นลมให้เป็นเสียง ในเวลาเดียวกันกล่องเสียงก็จะทำให้เกิดเสียง ลำคอส่วนบนและช่องว่างตรงกะโหลกส่วนล่างจะปรับให้เสียงดังขึ้น ลิ้น ฟัน และริมฝีปากจะทำให้เสียงนั้นเป็นถ้อยคำ เมื่อเราแก่ตัวลงเส้นเสียงและกล้ามเนื้อในกล่องเสียงจะเสื่อมลง

          แอนดรูว์ แม็กคอมบ์ หมอผ่าตัดด้านหู คอ จมูก แห่งโรงพยาบาลฟริมลีย์ปาร์กในมณฑลเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ บอก และความจุของปอดก็ลดน้อยลง คำสั่งจากสมองไปยังกล่องเสียงอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม ปลายประสาทที่เชื่อมไปยังบริเวณนั้นก็ตาย มีเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อยลง จำนวนของต่อมที่ปล่อยสารหล่อลื่นก็น้อยลง ทำให้เส้นเสียงแห้ง

          นอกจากนี้ สภาพของลิ้น ริมฝีปาก และฟันก็เปลี่ยนไป ทำให้เปล่งเสียงให้เป็นคำพูดได้ยากขึ้น ดังนั้น เมื่ออายุเลยวัยกลางคนเสียงพูดก็เริ่มแหบเครือ

          ในสหรัฐ ผู้คนพากันไปทำศัลยกรรมแต่งเสียง เอาไขมันหรือคอลลาเจนจากอวัยวะส่วนอื่นไปฉีดเข้าที่เส้นเสียง ทำให้ชิ้นเนื้อทั้งสองกลับเข้ามาอยู่ใกล้กันอีกครั้ง ทำให้มีการสั่นได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีเสียงดังฟังชัดขึ้น

          เทคนิคนี้มีการนำมาใช้ในประเทศอังกฤษแล้ว แต่ส่วนใหญ่ใช้รักษาอาการพูดไม่มีเสียงมากกว่าเพื่อตกแต่งเสียง

          ดร.รูธ เอพสไตน์ แห่งโรงพยาบาลโสตศอนาสิกในกรุงลอนดอน บอกว่า มีวิธีการอย่างอื่นที่จะรักษาน้ำเสียงให้อ่อนเยาว์ได้ การออกกำลังกายจะช่วยให้ปอดมีความจุมาก ทำให้พูดเสียงดังฟังชัด และเราควรดูแลเส้นเสียงด้วย โดยการร้องเพลงและพูดจาใช้เสียงอยู่เรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมาก

ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับรักษาน้ำเสียงให้สดใส จากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำเสียงในอังกฤษ

ดื่มน้ำให้มากขึ้น

          จอห์น รูบิน ศัลยแพทย์โสตศอนาสิก บอกว่า กล่องเสียงต้องการความชื้นเพื่อการหล่อลื่น ซึ่งจะทำให้มีการสั่นได้ดี น้ำไม่ได้สัมผัสกับเส้นเสียงโดยตรง เส้นเสียงได้รับการหล่อลื่นจากของเหลวคล้ายน้ำลาย ซึ่งผลิตจากต่อมในบริเวณ นั้น เราจึงควรดื่มน้ำวันละ 1.5 ลิตร โดยจิบน้ำทุก ๆ 15 นาที
 
หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด

          กรดที่ไหลย้อนกลับจะส่งผลต่อเสียงได้ เพราะทำให้คอแห้งและเกิดการระคายเคือง เส้นประสาทในลำคอก็ทำปฏิกิริยากับกรดด้วย โดยทำให้น้ำลายเหนียว ส่งผลให้เส้นเสียงสั่นได้ยากขึ้น

          อาการที่บ่งบอกถึงภาวะกรดไหลย้อนกลับ คือ กระแอมกระไอ เสียงอู้อี้ในตอนเช้า และความรู้สึกเหมือนว่ามีก้อนอะไรอยู่ในลำคอ

          คุณหมอรูบินแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำความระคายเคืองแก่กระเพาะ เช่น หัวหอมใหญ่ พริก น้ำอัดลม และช็อกโกแลต "หลีกเลี่ยงการกินก่อนเข้านอน 2 ชั่วโมง เพื่อให้มีเวลาย่อย"

พูดคุยอย่างสม่ำเสมอ

          การเข้าสังคมและพูดคุยใช้เสียงเป็นเรื่องสำคัญ คนชรามักไม่ค่อยออกไปไหน ทำให้ไม่ได้พบเจอผู้คนและไม่ได้พูดจา

          ดร.เอพสไตน์บอกว่า คนชราควรพบปะใคร ๆ ให้มากขึ้น เช่น เข้าเป็นสมาชิกชมรม ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เมื่อได้พูดคุยก็สามารถชะลอความชราได้

ร้องเพลงเวลาอาบน้ำ

          นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาน้ำเสียง เพราะช่วยให้กล่องเสียงแข็งแรง มีการหล่อลื่นที่กล่องเสียง "การร้องเพลงเปรียบเหมือนการเล่นยิมนาสติกของเสียง" แอนดรูว์ แม็กคอมบ์ บอก

          ดร.เอพสไตน์บอกว่า การเข้าร่วมในคณะนักร้องประสานเสียงในโบสถ์ เป็นวิธีดีที่สุดในการรักษาน้ำเสียงให้อ่อนเยาว์ "น้ำเสียงของนักร้องมืออาชีพจะเสื่อมช้า เพราะมีการออกกำลังกล้ามเนื้อที่ เกี่ยวข้องให้แข็งแรงอยู่เสมอ"

อย่าตะโกน

          การตะโกนอาจทำให้เส้นเสียงอักเสบได้ ทำให้เส้นเสียงไม่ปิดอย่างที่ควรเป็น ถ้าเส้นเสียงกระทบกันอยู่เรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดก้อน ซึ่งทำให้กล่องเสียงทำงานยากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้า พวกครูบาอาจารย์ นักค้าหุ้น มักตะโกนเป็นประจำ ทำให้น้ำเสียงเสียไป

          "มีการคำนวณว่า เส้นเสียงของครูประถมผู้หญิงมีการสั่นวันละ 1 ล้านครั้ง ซึ่งนับว่ามากมายมหาศาล" รูบินบอก

          คนที่ทำงานในผับ ร้านอาหารหรือโรงงานที่มีเสียงดัง หรือตะโกนเชียร์ฟุตบอล มีความเสี่ยงในเรื่องนี้ รูบินแนะนำให้คนที่ต้องตะโกนเวลาทำงานพักการใช้เสียงเป็นเวลา 5 นาทีในทุก ๆ ชั่วโมง
 
รักษาสุขภาพฟัน

          เมื่อฟันฟางหลุดร่วง กระดูกกรามจะสึกกร่อน รูปหน้าจะเริ่มยุบเข้าด้านใน กล้ามเนื้อจึงไม่สามารถเปล่งเสียงพูดได้อย่างที่เคย ลิ้นก็จะขยับขึ้นด้านบนและแลบมาทางด้านหน้า เวลาพูดจึงมีเสียงคล้ายตัว "ท"

จัดท่าทางให้ดี

          ท่านั่งท่ายืนมีผลต่อการออกเสียงให้ฟังดูอ่อนเยาว์ ท่าตัวงอคุดคู้ทำให้เส้นเสียงผิดรูป หายใจไม่ได้ลึก เส้นเสียงเปล่งเสียงได้ยากขึ้น

          การยืนตัวตรงจะช่วยให้เปล่งเสียงได้ดี การออกกำลังกายประเภทสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ช่วยให้หายใจได้ลึกขึ้น ทำให้มีอากาศผ่านกล่องเสียงมากขึ้น จึงเปล่งถ้อยคำได้ชัดขึ้น

ลดบุหรี่

          การสูบบุหรี่ทำให้กล่องเสียงแห้ง เส้นเสียงหยุดทำงาน นิโคตินยังทำให้ภาวะกรดไหลย้อนมีอาการมากขึ้น ความร้อนจากควันบุหรี่ยังไปรมเส้นเสียงด้วย ทำให้เสียงแหบ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังทำให้เยื่อบุลำคอเกิดการอักเสบได้ด้วย

พักเสียงเสียบ้าง

          ถ้าใช้เสียงในช่วงที่มีอาการไออย่างหนัก เส้นเสียงจะเกิดเป็นแผล ถ้ากล่องเสียงอักเสบเพราะเป็นหวัด ควรพักการใช้เสียงสัก 1-2 วัน

          หากเกิดแผล เส้นเสียงก็จะไม่สั่นอย่างที่ควร เสียงจะฟังแหบห้าว ถ้าเสียงแหบเกิน 2 สัปดาห์ก็ควรไปหาหมอ

          ในอังกฤษมีคลินิกด้านเสียงกว่า 100 แห่ง คนไข้จะได้พบแพทย์ด้านโสตศอนาสิก นักบำบัดด้านการพูดและภาษา ซึ่งจะสอนการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูเสียงด้วย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคล็ดลับรักษาเสียง ให้ใสปิ๊ง อัปเดตล่าสุด 7 มิถุนายน 2553 เวลา 15:46:47 101,834 อ่าน
TOP