อาการแพ้ยา สังเกตอย่างไร สัญญาณไหนที่บอกว่าเราแพ้

           อาการแพ้ยา ความไม่สบายทางร่างกายที่ก้ำกึ่งว่าป่วยหรือแพ้ยา อยากรู้อาการแพ้ยาเป็นอย่างไร มีวิธีสังเกตอย่างไร มาเจาะลึกให้ชัดกันไปเลย


         
          การใช้ยาในการรักษาโรคหรืออาการบางอย่าง แม้ว่าจะเป็นคำสั่งจากแพทย์ แต่ก็ใช่ว่าจะมีความปลอดภัย 100% เพราะร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน จึงอาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าการแพ้ยาได้ ทว่าการแพ้ยานั้นเป็นอย่างไร มีวิธีในการสังเกตอย่างไรว่าเรากำลังแพ้ยา อีกทั้งอันตรายของการแพ้ยานั้นรุนแรงมากขนาดไหน มารับทราบคำตอบพร้อม ๆ กับเรียนรู้วิธีการใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพค่ะ

          อาการแพ้ยา หนึ่งอันตรายของการใช้ยาที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อต้านตัวยาของร่างกาย โดยอาการแพ้ยาสามารถเกิดขึ้นกับยาได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นยากิน ยาฉีด ยาทา หรือยาดม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้ยาจะขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนไป หากผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไวต่อยามากกว่าปกติก็อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้

          ทว่าอาการแพ้ยาก็คล้ายกับการแพ้อาหารทั่วไปที่จะไม่เกิดขึ้นกับทุกคน และผู้ที่มีอาการแพ้ยาแต่ละคนก็อาจจะมีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากันอีกด้วย ทั้งนี้ยาที่มักจะพบการแพ้บ่อยก็ได้แก่ ยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาชา เซรุ่มต่าง ๆ น้ำเกลือ และเลือด เป็นต้น ซึ่งจะว่าไปอาการแพ้ยาก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และโดยปกติแล้วเมื่อไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลก็มักจะมีการซักประวัติเรื่องการแพ้ยาด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ป่วยจะต้องรู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไร เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาค่ะ

แพ้ยา

สาเหตุการแพ้ยา เกิดจากอะไร ?

          สาเหตุของการแพ้ยาสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. เกิดจากฤทธิ์ของยาที่มีความรุนแรงเกินไป

          การแพ้ยาด้วยสาเหตุนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากปริมาณของยาที่ใช้ โดยอาการนี้อาจจะมาพร้อมกับอาการข้างเคียง อาทิ ยารักษาโรคความดันโลหิต ที่ใช้ในการลดความดันโลหิตของผู้ป่วย ถ้าหากใช้ยาในปริมาณที่สูงเกินไปก็จะทำให้ความดันเลือดต่ำผิดปกติ และทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น หน้ามืด ใจสั่น เป็นต้น ทว่าอาการแพ้ยาดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดจากการใช้ยาเกินขนาดเท่านั้น แต่อาจจะเกิดจากผู้ป่วยบางรายมีการสะสมของยาชนิดนั้นในปริมาณที่สูง อันเนื่องมาจากการทำงานที่ผิดปกติของตับไตที่ไม่สามารถขับสารพิษออกมาจากร่างกายได้ดีเท่าที่ควรด้วยค่ะ

2. เกิดจากการแพ้ยา

          อาการแพ้ยาที่เกิดจากสาเหตุนี้เป็นการแพ้ยาที่เกิดขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยตรง ซึ่งอาการแพ้ยาประเภทนี้จะสามารถแบ่งได้อีก 4 ชนิด ได้แก่

          - การแพ้ยาที่ทำให้เกิดอาการร้ายแรง

          การแพ้ยาชนิดนี้จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำปฏิกิริยาและหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา โดยอาการแพ้ดังกล่าวมักจะพบได้ในยากลุ่มเพนิซิลลิน ซึ่งถ้าหากไม่รีบทำการรักษาอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

          - การแพ้ยาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย

          ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ชนิดนี้คือยาในกลุ่มลดความดันโลหิตจำพวก methyldopa โดยยาจะเข้าไปกระตุ้นภูมิต้านทานร่างกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรง บางครั้งก็อาจจะไปทำลายเม็ดเลือดขาวทำให้ร่างกายขาดภูมิต้านทาน ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาค่ะ

          - การแพ้ยาที่ทำให้เกิดการอักเสบ

          การแพ้ยาชนิดนี้จะส่งผลให้ยาและภูมิต้านทานของร่างกายจับตัวกันแล้วตกเป็นตะกอนในอวัยวะต่าง ๆ และทำให้เกิดการอักเสบ อาทิ ตกตะกอนในหลอดเลือดทำให้เกิดอาการหลอดเลือดอักเสบ หรือไปตกตะกอนในไตทำให้ไตอักเสบ เป็นต้น

          - การแพ้ยาที่ทำให้เกิดลมพิษ

          อาการแพ้ชนิดนี้เป็นอาการแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเมื่อรับประทานยาเข้าไปแล้ว ยาจะเข้าไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ และทำให้เกิดผื่นแพ้ยาขึ้นมาในที่สุด

          ทั้งนี้อาการแพ้ยาที่พบได้มากที่สุดจะเป็นอาการแพ้ที่มาจากฤทธิ์ของยา โดยสามารถพบได้ถึง 95% แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า และอัตราการตายน้อย ในขณะที่อีก 5% ที่เหลือมาจากการแพ้ยาโดยตรง แต่อาการจะรุนแรง และอัตราการเสี่ยงชีวิตสูงกว่า เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใครบ้าง และจะมีอาการอย่างไร

อาการแพ้ยา
 
อาการแพ้ยาเป็นอย่างไร ?

          อาการของการแพ้ยาโดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เรียงตามความรุนแรงของอาการแพ้ยา โดยสามารถแบ่งอาการบ่งชี้ได้ ดังนี้

1. กลุ่มที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง

          ในกลุ่มที่มีอาการแพ้ยาในระดับนี้มักจะไม่อันตรายมากนัก โดยจะสังเกตอาการแพ้ได้จากอาการลมพิษ ผื่นแดง มีจุดแดงหรือตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นทั่วตัว ทั้งนี้ยังอาจมีอาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ อาทิ หนังตาบวม ริมฝีปากบวม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้ยาดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากยาชนิดรับประทานมากกว่า

2. กลุ่มที่มีอาการแพ้ความรุนแรงปานกลาง

          อาการแพ้ที่มีความรุนแรงปานกลางที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการใจสั่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้ยังอาจจะมีอาการหายใจติดขัดคล้ายกับอาการหืดหอบอีกด้วย โดยมักจะมีต้นเหตุจากการใช้ยาประเภทฉีด

3. กลุ่มที่มีอาการแพ้ความรุนแรงสูง

          อาการแพ้ยาในกลุ่มนี้มีความอันตรายมาก โดยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอาการช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic Shock) ซึ่งจะทำให้ผู้แพ้ยาเป็นลม ตัวเย็น ชีพจรเบาและเร็ว ความดันต่ำ และหยุดหายใจ นอกจากนี้ยังอาจพบลักษณะพุพอง ผิวหนังเปื่อยทั้งตัวคล้ายถูกไฟลวก ปากเปื่อย ตาอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ มีไข้ โดยอาการเหล่านี้เรียกว่า กลุ่มอาการสตีเวนจอห์นสัน (Stevens Johnson  Syndrome) ขณะที่บางรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจจะถึงกับเสียชีวิตในขณะที่รับยาได้เช่นกัน ซึ่งยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงนี้จะเป็นยาปฏิชีวนะชนิดฉีดประเภทเพนิซิลลิน

          ไม่เพียงเท่านั้น อาการแพ้ยายังรวมถึงอาการแพ้น้ำเกลือและแพ้เลือดที่ควรระมัดระวังอีกด้วย โดยการแพ้น้ำเกลือและแพ้เลือดจะทำให้เกิดอาการไข้ หนาวสั่นและลมพิษ แต่จะไม่มีความอันตรายมากนักค่ะ

          นอกจากนี้ก็ยังมีอาการแพ้ยาที่มาจากยาแต่ละชนิดยังจำแนกได้ ดังนี้

1. อาการแพ้ยาคุมกำเนิด

อาการแพ้ยา

          โดยส่วนใหญ่แล้วหลาย ๆ คนมักจะคิดว่าอาการแพ้ยาคุมกำเนิดหรือยาคุมฉุกเฉินคืออาการคลื่นไส้  ซึ่งต้องขอบอกว่าจริง ๆ แล้วอาการเหล่านั้นคือผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิด แต่อาการแพ้ยาคุมกำเนิดจริง ๆ จะมีแค่อาการแพ้ในระดับที่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการผื่นแดงหรือผื่นลมพิษเท่านั้น ซึ่งนับว่าไม่เป็นอันตรายค่ะ

2. อาการแพ้ยาปฏิชีวนะ

อาการแพ้ยา

          อาการแพ้ยาปฏิชีวนะมีความรุนแรงแตกต่างกันตามชนิดของยา โดยยาที่มักจะพบอาการแพ้ได้บ่อยที่สุดคือยาเพนิซิลลิน โดยอาการแพ้ของยาชนิดนี้ หากเป็นยาชนิดรับประทานอาจจะทำให้เกิดผื่นแดงหรือผื่นลมพิษ แต่ถ้าหากเป็นยาปฏิชีวนะชนิดฉีดอาจจะมีอาการแพ้ยาที่รุนแรงกว่า

          โดยอาการแพ้อย่างรุนแรงของยาฉีดในกลุ่มนี้จะทำให้เกิดอาการบวม ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม ตัวเย็น ชีพจรต่ำและเบา ซึ่งถ้าได้รับการรักษาไม่ทันอาจจะทำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้

3. อาการแพ้ยาคลายกล้ามเนื้อ

          ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นยาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือง่วงซึม เกิดขึ้นจากอาการแพ้ยา แต่จริง ๆ แล้วนั่นเป็นเพียงแค่ผลข้างเคียงจากยาเท่านั้น ทว่าอาการแพ้ยาดังกล่าวจะสามารถสังเกตได้จากผื่นลมพิษที่ขึ้นตามผิวหนัง โดยอาการแพ้จะไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจเพราะบางรายอาจมีอาการแพ้จนถึงกับช็อกได้เช่นกัน ดังนั้นหากเริ่มมีความผิดปกติควรเลิกใช้ยาดังกล่าวโดยทันที หรือจะให้ดีก็รีบไปพบแพทย์

4. อาการแพ้ยาลดความอ้วน

          อาการแพ้ยาลดความอ้วนนั้นมีหลากหลายอาการ ขึ้นอยู่กับส่วนผสมของยา โดยหากเป็นอาการแพ้โดยทั่วไปจะเป็นผื่นแดง หรือลมพิษเกิดขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ถ้าหากเป็นอาการแพ้ที่รุนแรงอาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น บางรายอาจมีอาการผิวหนังไหม้ เกิดอาการช็อก และอาจเสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน

5. อาการแพ้ยาพาราเซตามอล

อาการแพ้ยา

          ยาพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการปวด ซึ่งอาการแพ้ยาพาราเซตามอลนี้อาจจะขึ้นอยู่กับยี่ห้อของยาด้วย เพราะบางรายอาจแพ้ยาพาราเซตามอลยี่ห้อหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนยี่ห้อของยาก็ไม่มีอาการแพ้ โดยอาการแพ้อาจจะมีตั้งแต่ไม่รุนแรง คือ มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง หรือมีอาการแน่นหน้าอกเล็กน้อย ไปจนถึงเกิดอาการช็อกอย่างรุนแรงได้ 

วิธีการรักษาอาการแพ้ยา

          การรักษาอาการแพ้ยานั้น สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกก็คือหยุดใช้ยาดังกล่าวโดยทันทีเมื่อเกิดอาการดังที่กล่าวมา จากนั้นจึงจะทำการรักษาไปตามความรุนแรงของอาการโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

        
1. อาการแพ้ไม่รุนแรง

          สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้แค่เพียงเล็กน้อย หลังจากเลิกใช้ยาที่แพ้แล้วก็ควรรับประทานยาแก้แพ้ เช่น ยาคลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) โดยให้รับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 1/2-1 เม็ด จนกว่าจะหาย หรือฉีดยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เข้ากล้ามเนื้อ

2. อาการแพ้ปานกลาง หรือรุนแรง

          ในกลุ่มที่มีอาการแพ้ยาปานกลางหรือรุนแรง ยากินจะไม่สามารถช่วยรักษาได้ดังนั้นต้องให้แพทย์ฉีดยาให้ โดยจะให้ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) 0.3-0.5 มิลลิกรัม หรือสเตียรอยด์ 1-2 หลอด ผ่านการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดในทันที แต่ถ้าหากมีอาการแพ้จนหยุดหายใจควรรีบทำการผายปอดพร้อมกับฉีดอะดรีนาลีน (Adrenaline) เพื่อลดอาการแพ้

อาการแพ้ยาอาการแพ้ยา

3. อาการแพ้ในกลุ่มสตีเวนจอห์นสัน (Stevens Johnson  Syndrome)

          ในกลุ่มที่มีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะอย่างรุนแรงกลุ่มนี้ หากมีอาการแพ้ควรรีบรับประทานยาแก้แพ้ หรือสเตียรอยด์แล้วนำส่งโรงพยาบาลในทันที เพราะอาจมีอาการติดเชื้อแทรกซ้อนทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษจนถึงแก่ชีวิตได้

          อาการแพ้ยาแม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นกับทุกคนแต่ก็เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่ายาชนิดใดจะทำให้เราเกิดอาการแพ้ และอาการแพ้จะรุนแรงมากแค่ไหน และเพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ยาที่อาจเกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองให้มากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากการใช้ยา ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจมาจากการแพ้ยา แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าเป็นอาการแพ้ยาจริงหรือไม่

          นอกจากนี้ยังควรจดจำให้ดีว่าตนเองแพ้ยาอะไรบ้าง ซึ่งควรจดจำชื่อยาให้ได้อย่างแม่นยำ และเพื่อความรอบคอบควรจดชื่อยาอย่างละเอียดใส่กระเป๋าติดตัวไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วย อีกทั้งหากมีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์มากกว่า 1 คน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่ใช้อยู่และยาที่แพ้ด้วย เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนผสมเดียวกัน และส่วนผสมนั้นอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งถ้าหากแพทย์ทราบก็จะสามารถจัดยาที่ปลอดภัยได้มากขึ้นค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอรัตภูมิ
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตรไทย สวทช.
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
National Center for Biotechnology Information, U.S. National Library of Medicine

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการแพ้ยา สังเกตอย่างไร สัญญาณไหนที่บอกว่าเราแพ้ อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2566 เวลา 14:32:11 636,366 อ่าน
TOP
x close