
นิสัยทำลายสุขภาพส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เรารู้ทั้งรู้ แต่ไม่ทำ ! เลยขอย้ำอีกครั้งว่าหากอยากมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม รีบเปลี่ยนพฤติกรรมตามนี้ดีกว่า
เวลามีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น หลาย ๆ คนอาจจะเกิดความสงสัยว่าตนเองเจ็บป่วยได้อย่างไร ทั้งที่รู้สึกกว่าตนเองก็รักษาสุขภาพดี และไม่ได้ทำอะไรที่เสี่ยงต่อการเสียสุขภาพ แต่เมื่อลองพูดคุยซักถามแล้ว ก็จะพบว่าจริง ๆ แล้วบางคนมีความเข้าใจผิดหรือความไม่รู้บางประการ ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำร้ายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว งานนี้ นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา จึงชวนทุกคนมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองตามที่เขียนไว้ในนิตยสาร happy+ มาดูว่าอุปนิสัยไหนที่เสี่ยงต่อการทำให้เจ็บป่วยตั้งแต่เช้าจรดเย็น ขอให้เปลี่ยนกันดีกว่า


การไม่รับประทานอาหารเช้าจะทำให้เราเกิดความรู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่นของวัน เพราะว่าเราเพิ่งผ่านการอดอาหารในช่วงขณะหลับมายาวนานหลายชั่วโมง นอกจากนี้ยังทำให้เราหิว และเสี่ยงต่อการไปหาของหวานหรือของว่างมากิน จนได้พลังงานเกินความจำเป็นนำไปสู่ความอ้วนได้อีก


บริเวณเยื่อบุต่าง ๆ บนใบหน้าถือเป็นส่วนที่เชื้อโรคทั้งหลายสามารถรุกรานเข้าร่างกายได้เป็นอย่างดี ส่วนปลายนิ้วของเราก็เป็นส่วนที่ไปสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากมาย และมีโอกาสรับเอาเชื้อต่าง ๆ หลายชนิดมาฝังติดไว้ที่ปลายนิ้ว รอเวลาที่เราเอานิ้วไปสัมผัสกับเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตาทำให้เกิดตาแดง ตาอักเสบหรือหวัด จมูกทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้หลายชนิด หรือปากทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้


การดื่มน้ำน้อยมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ ทำให้เกิดความรู้สึกต้องการน้ำน้อยลง หรืออาจจะเกิดกับการทำกิจกรรมที่มีข้อจำกัดในการลุกไปหาน้ำดื่ม ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม การขาดน้ำจะทำให้เยื่อบุบริเวณปาก จมูก และดวงตาเกิดอาการแห้ง อักเสบ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอวัยวะเหล่านี้ได้ นอกจากนี้การขาดน้ำยังทำให้เกิดความเครียดหรืออาการปวดศีรษะได้อีกด้วย


อุปกรณ์สื่อสารถือเป็นเครื่องมือที่คนยุคปัจจุบันมีติดตัวกันแทบทุกคน แต่การใช้งานมากเกินไปหรือผิดวิธีก็ทำให้เกิดโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสายตา เช่น ตาแห้ง โรคทางกล้ามเนื้อ เช่น การปวดคอจากการก้มหน้ามากเกินไป การปวดมือกับข้อนิ้วจากการใช้นิ้วกดอุปกรณ์สื่อสารมากเกินไป, หรือโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอุโมงค์ข้อมืออักเสบจนเกิดอาการมือชา เหล่านี้นับเป็นโรคที่พบได้หากใช้งานอุปกรณ์สื่อสารอย่างเกินพอดี


การทำงานของใครหลาย ๆ คนคงจะเป็นการทำงานแบบนั่ง การนั่งที่ไม่ถูกลักษณะจะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ นับตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทำให้เสียสุขภาพและยังเสียประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย และอีกหนึ่งสิ่งในการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้องก็คือ การนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะทำให้เราขยับตัวและใช้พลังงานน้อย ทำให้เราใช้พลังงานน้อยลงและในระยะยาวก็จะเสี่ยงต่อโรคอ้วนได้มากขึ้น


ความเครียดเป็นบ่อเกิดของโรคหลาย ๆ โรค โดยพบว่าเมื่อเกิดความเครียดจะทำให้ร่างกายเกิดการหลั่งฮอร์โมนเพื่อตอบสนองต่อความเครียดนั้น ๆ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองมากขึ้น และทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายแย่ลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น


การทำงานไปกินของว่างไปน่าจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนติดเป็นนิสัย โดยที่ไม่ทราบว่ามันส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ประการแรกคือ การกินของว่างบ่อย ๆ ก็ย่อมทำให้ได้รับพลังงานมากขึ้น และนำไปสู่โรคอ้วนได้ และอีกประการก็คือ บริเวณโต๊ะทำงานของเรามักจะมีเชื้อโรคซ่อนอยู่ โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น เม้าส์ คีย์บอร์ด หรือเครื่องเขียน ซึ่งมือเราจับอุปกรณ์บนโต๊ะทำงานแล้วไปจับอาหารเข้าปาก ก็จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อก่อโรคทางเดินอาหารได้


อาหารแต่ละชนิด วัตถุดิบแต่ละประเภท มีข้อเด่นและข้อด้อยของสารอาหารที่แตกต่างกันไป ซึ่งการกินอาหารที่ซ้ำเดิมมากเกินไป จะทำให้เราเสี่ยงต่อการเกิดโรคขาดสารอาหารหรือวิตามินได้


อาหารเพื่อสุขภาพ คือชื่อที่เรามักใช้เรียกอาหารที่เราหยิบยกข้อเด่นบางข้อขึ้นมา แล้วรับประทานเข้าไป เช่น อาจจะอุดมด้วยวิตามิน เกลือแร่ หรือไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ แต่บางครั้งเราอาจจะหลงลืมไปว่าไม่ว่ามันจะมีข้อดีแค่ไหน แต่มันก็ยังให้พลังงาน ซึ่งหากรับประทานมากเกินกว่าความต้องการ ร่างกายก็จะเอาพลังงานที่เหลือไปเก็บไว้ในรูปไขมันเป็นโรคอ้วนได้


มือเป็นอวัยวะที่นำพาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายที่สุด และวิธีที่จะลดการติดเชื้อจากมือที่ดีที่สุดก็คือ การล้างมือ แต่ปัญหาคือคนจำนวนไม่น้อยล้างมือไม่ถูกวิธี เช่น การเอามือผ่านน้ำให้แค่รู้สึกมือเย็น ๆ หรือล้างมือแบบไม่ฟอกสบู่ก่อนหยิบจับของกินหรือแคะแกะเกาตามใบหน้า ดังนั้นก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้าหรือหยิบจับอาหารควรล้างมืออย่างถูกวิธี (จะแบบ 6 ขั้นตอน หรือ 7 ขั้นตอนก็ได้ และใช้สบู่ครับ


บุหรี่ก่อโรคได้มากมายหลายชนิดทั้งต่อตัวผู้สูบเองและผู้ที่ได้รับควันเข้าไป โดยก่อให้เกิดโรคทางเส้นเลือด โรคหัวใจ เส้นเลือดสมอง ถุงลมโป่งพอง และทำให้ระบบทางเดินหายใจอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย แถมท้ายด้วยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง ดังนั้นใครที่ยังสูบอยู่ ควรจะเลิกเสียทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่จะแย่ในอนาคตทั้งของตนเองและคนรอบข้าง


โรคติดเชื้อหลายชนิดสามารถทำให้คนที่สุขภาพดีแข็งแรง เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น วัคซีน คือสิ่งที่สามารถป้องกันเราจากโรคเหล่านั้นได้ ซึ่งหากไม่มีข้อจำกัดใด ๆ แล้ว คนที่มีโอกาสก็ควรจะฉีดวัคซีนที่จำเป็นต่อความเสี่ยงของตน เช่น การฉีดวัคซีนบาดทะยัก (และคอตีบ) ทุก 10 ปี, การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในคนที่เลี้ยงสัตว์ หรือทำงานกับสัตว์, การฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ


เราอาจจะได้รับคำบอกเล่ามาว่า การออกกำลังกายแบบออกแรงให้เหงื่อออกหรือแบบแอโรบิกวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน จะทำให้หัวใจแข็งแรง แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ คุณประโยชน์ของการออกกำลังกายครับ ถ้าคุณออกกำลังกายไม่ไหวขนาดนั้น ไม่ว่าจะไม่มีเวลา หรือมีปัญหาทางสุขภาพร่างกายที่เป็นข้อจำกัด ก็สามารถออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น แกว่งแขน เดินเร็ว ๆ ยกน้ำหนัก ทำงานบ้าน ขอเพียงแค่ไม่อยู่นิ่งและใช้กำลังก็จะได้ประโยชน์
จากงานวิจัยพบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของหลาย ๆ โรค เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลสูง ไขมันสูง น้ำหนักเกิน โรคข้อเสื่อม ความจำเสื่อม และยังช่วยให้มีสุขภาพจิตดีอีกด้วย


ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนของใครหลาย ๆ คน (โดยเฉพาะชายหนุ่ม) อาจจะถูกใช้มานานเป็นเดือนโดยไม่ได้มีการซักหรือเปลี่ยน ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่น และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการของภูมิแพ้ได้ ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ


การพักผ่อนไม่เพียงพอทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น มีการศึกษาพบว่าผู้ที่นอนน้อยหรือว่าต้องทำงานเป็นกะซึ่งเปลี่ยนแปลงเวลานอนบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเรื้อรังอื่น ๆ และเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าการนอนน้อยทำให้ร่างกายติดเชื้อโดยเฉพาะไวรัสได้ง่ายกว่าคนที่นอนเพียงพอถึง 4 เท่า ดังนั้นจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอครับ
ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางสุขภาพที่หลาย ๆ คนอาจจะหลงลืมและไม่คิดว่าจะส่งผลต่อสุขภาพของตนเองได้ เมื่อรู้แบบนี้แล้วต่อไปก็อย่าทำนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องโดย นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา