"ข้าวกล้องนี้ดี" พระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ถึงสรรพคุณของข้าวที่โปรดเสวยทุกวัน



          ประโยชน์ของข้าวกล้องอาจเป็นที่ประจักษ์มาเนิ่นนาน แต่เมื่อเราย้อนกลับไปดูพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถึงสรรพคุณของข้าวกล้องอีกครั้ง แล้วจะอยากกินข้าวกล้องทุกวันตามรอยพระองค์ท่านเลย

          “ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องนี่แหละ เรากินทุกวัน เพราะมีประโยชน์ ร่างกายแข็งแรง...” นี่เป็นส่วนหนึ่งจากกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเราขออัญเชิญมาให้ทุกคนได้อ่านด้วยความปลื้มปีติกันอีกครั้ง ก่อนจะขอพาไปรู้จักประโยชน์ของข้าวกล้อง  พระกระยาหารโปรดของในหลวง ร.9 ตามข้อมูลด้านล่างนี้

ข้าวกล้อง

มารู้จักข้าวกล้องกันก่อน
   
          ข้าวกล้อง คือ ข้าวที่มีสีน้ำตาลอ่อน เป็นข้าวที่ขัดสีเอาเปลือกออกเพียงครั้งเดียว ทำให้ยังคงมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (รำข้าว) หลงเหลืออยู่ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีคุณค่าทางอาหารอันมีประโยชน์มาก โดยข้าวกล้องจะมีสารอาหารต่าง ๆ ที่มากกว่าข้าวขาวขัดสีอยู่พอสมควร

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวกล้อง

          ข้อมูลจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงให้เห็นว่า ข้าวกล้องในปริมาณ 100 กรัมให้คุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้

          - คาร์โบไฮเดรต 75.1 มิลลิกรัม
          - โปรตีน 7.1 มิลลิกรัม
          - ไขมัน 2.0 มิลลิกรัม
          - ใยอาหาร 2.1 มิลลิกรัม
          - โซเดียม 84 มิลลิกรัม
          - โพแทสเซียม 144 มิลลิกรัม
          - แคลเซียม 9 มิลลิกรัม
          - ฟอสฟอรัส 267 มิลลิกรัม
          - แมกนีเซียม 60 มิลลิกรัม
          - เหล็ก 1.3 มิลลิกรัม
          - สังกะสี 0.49 มิลลิกรัม
          - ทองแดง 0.11 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 1 ปริมาณ 0.76 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 2 ปริมาณ 0.04 มิลลิกรัม
          - ไนอาซิน 5.40 มิลลิกรัม

ข้าวกล้อง

ประโยชน์ของข้าวกล้อง มีดียังไง

1. ช่วยในกระบวนการขับถ่าย
   
          ถ้ากินข้าวกล้องทุกวันจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น เนื่องจากข้าวกล้องมีใยอาหารสูง โดยมีไฟเบอร์มากกว่าข้าวขาวขัดสีถึง 3 เท่า จึงช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ทำงานได้อย่างไหลลื่นขึ้น

2. ป้องกันโรคเหน็บชา ตะคริว
   
          ในข้าวกล้องอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย ซึ่งวิตามินบี 1 จะช่วยป้องกันโรคเหน็บชาและอาการตะคริวได้ ดังนั้นหากใครไม่อยากเจอกับอาการเหน็บชา ก็ลองกินข้าวกล้องทุกมื้อไปเลย

3. ป้องกันโรคปากนกกระจอก
   
          โรคปากนกกระจอกก็มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดวิตามินบี 2 ซึ่งเจ้าวิตามินบี 2 นี้ก็พบได้มากในข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องนี่แหละค่ะ

4. ช่วยในการเจริญเติบโตของเหงือกและฟัน
   
          เนื่องจากข้าวกล้องมีฟอสฟอรัสอยู่มากถึง 267 มิลลิกรัมต่อข้าวกล้อง 100 กรัม จึงสามารถช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟันได้ อีกทั้งแคลเซียมในข้าวกล้องยังจะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงได้อีกทางหนึ่งด้วย

5. ป้องกันโรคโลหิตจาง
   
          ด้วยความที่ข้าวกล้องอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะในส่วนของธาตุเหล็กก็มีอยู่ไม่น้อย จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรต้องกินข้าวกล้องเป็นประจำด้วยนะคะ

ข้าวกล้อง

6. ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
   
          ข้อมูลจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกไว้ว่า นอกจากผักและผลไม้แล้ว ข้าวกล้องไทยก็เป็นแหล่งสำคัญของสารกลุ่มฟีนอลิกเช่นกัน โดยสารดังกล่าวมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชั่นและลดการเกิดมะเร็งได้

          โดยมีรายงานทางวิทยาศาสตร์พบว่า กลุ่มหนูทดลองที่กินข้าวกล้องไทย สามารถลดภาวะเครียดออกซิเดชั่นและลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ไม่ได้กินข้าวกล้องไทยเลย ดังนั้นข้าวกล้องไทยจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้นั่นเอง

7. ป้องกันโรคผิวหนังบางชนิด

   
          ไนอาซินที่มีอยู่ในข้าวกล้องจะช่วยในการทำงานของระบบผิวหนังและระบบประสาท ซึ่งก็อาจจะมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น โรคหนังกระ ทั้งยังช่วยป้องกันอาการประสาทไวได้อีกด้วย

8. ป้องกันอาการอ่อนเพลีย อาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ
   
          อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ มักจะมีสาเหตุมาจากภาวะขาดวิตามินบีรวม ดังนั้นในข้าวกล้องที่มีทั้งวิตามินบี 1 และบี 2 จึงสามารถป้องกันอาการผิดปกติดังกล่าวได้

9. ป้องกันโรคหัวใจ
   
          งานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทมเพิล สหรัฐอเมริกา เผยว่า สารอาหารในข้าวกล้องจะช่วยต่อต้านโปรตีนที่ชื่อว่า Angiotensin II ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดก่อโรคหลอดเลือดแข็งตัว และโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นหากกินข้าวกล้องได้เป็นประจำก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเหล่านี้ได้

วิธีหุงข้าวกล้อง

          หากหุงไม่ถูกวิธี ข้าวกล้องจะแข็งกระด้าง ทำให้บางคนรู้สึกว่าทานไม่อร่อย ดังนั้นถ้าหุงข้าวกล้องต้องใส่น้ำมากกว่าหุงข้าวขาว

          ส่วนใครอยากลองเปลี่ยนจากข้าวขาวมาทานข้าวกล้อง วิธีทานให้ง่ายขึ้นคือ ครั้งแรกควรผสมข้าวกล้องลงในข้าวขาวเพียง 1 ใน 4 ของข้าวขาว หรือ 1 ใน 3 ของข้าวขาวก่อน หลังจากนั้นสักอาทิตย์ก็ค่อย ๆ เพิ่มเป็นอย่างละครึ่ง ข้าวขาวครึ่งหนึ่งผสมกับข้าวกล้องอีกครึ่งหนึ่ง เมื่อคุ้นกับรสชาติและผิวสัมผัสแล้วจึงค่อย ๆ ลดข้าวขาวลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเหลือแต่ข้าวกล้องเพียงอย่างเดียว 

          นอกจากนี้หลายคนยังอาจจะสงสัยว่าข้าวกล้องกับข้าวกล้องงอกเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ฉะนั้นเราเลยจะพามารู้จักข้าวกล้องงอกกันอีกสักอย่าง ตามนี้ค่ะ

ข้าวกล้อง

ข้าวกล้อง VS ข้าวกล้องงอก
   
          ข้าวกล้องงอก (Germinated brown rice หรือ GABA-rice) เป็นข้าวกล้องที่ต้องนำมาผ่านกระบวนการงอกเสียก่อน โดยการนำข้าวกล้องมาแช่น้ำจนมีรากงอกออกมา กลายเป็นข้าวกล้องงอก ซึ่งจะทำให้ข้าวกล้องมีสารอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสารกาบา และข้าวกล้องที่แช่น้ำทิ้งไว้แล้วเมื่อนำไปหุงก็จะได้ข้าวที่นุ่มน่ารับประทานกว่าข้าวกล้องธรรมดาด้วย

          ทั้งนี้สารกาบา หรือ Gamma amino butyric acid เป็นกรดอะมิโนจากกระบวนการ Decarboxylation ของกรดกลูตามิก (Gutamic acid) กรดนี้มีความสําคัญในการทำหน้าที่สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ในระบบประสาทส่วนกลาง และสารกาบายังเป็นสารสื่อประสาทประเภทสารยับยั้ง (Inhibitor) โดยจะทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยทำให้สมองผ่อนคลายและนอนหลับสบาย อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ (Anterior Pituitary) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (HGH) ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้กล้ามเนื้อกระชับ และเกิดสาร Lipotropic ป้องกันการสะสมไขมัน

ประโยชน์ของข้าวกล้องงอก

          จากการศึกษาและวิจัยพบว่า การบริโภคข้าวกล้องงอกที่มีสารกาบามากกว่าข้าวกล้องปกติ 15 เท่า จะสามารถป้องกันการทำลายสมอง และโรคสูญเสียความทรงจำ หรืออัลไซเมอร์ได้ ดังนั้นจึงได้มีการนำสารกาบามาใช้ในวงการแพทย์เพื่อการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่าง ๆ  หลายโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก เป็นต้น รวมทั้งผลการวิจัยด้านสุขภาพระบุว่าข้าวกล้องงอกที่ประกอบด้วยสารกาบา มีผลช่วยลดความดันโลหิต ลด LDL (Low Density lipoprotein) ลดอาการอัลไซเมอร์ ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวพรรณดี และใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางได้อีก
 
          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ไม่ควรรับประทาน เพราะเมล็ดข้าวกล้อง หรือยอดผักต่าง ๆ ที่กำลังจะงอกจะมีสารยูริกจำนวนมาก ทานแล้วอาจเกิดการอักเสบได้

          ได้รู้กันไปแล้วว่าข้าวกล้องมีดีอย่างไร ถึงได้เป็นพระกระยาหารโปรดของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ โดยเราจะขอทิ้งท้ายไว้ด้วยกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่เคยดำรัสเกี่ยวกับข้าวกล้องไว้เมื่อปี พ.ศ. 2541 ดังนี้

          "ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องนี่แหละ เรากินทุกวัน เพราะว่ามีประโยชน์ ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวนี้เอาของดีออกไปหมด ข้าวกล้องนี้ดี คนบอกว่ากินข้าวกล้องต้องเป็นคนจน เราก็เป็นคนจน..."


https://www.youtube.com/embed/unGVqHws6oY?feature=oembed


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"ข้าวกล้องนี้ดี" พระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ถึงสรรพคุณของข้าวที่โปรดเสวยทุกวัน อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2562 เวลา 15:53:49 169,476 อ่าน
TOP