สธ. เตือนระวังรังสียูวี เสี่ยงโรคกระจกตาอักเสบ ต้อเนื้อ ต้อลม ต้อกระจก และผิวหนังไหม้เกรียม แนะสวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดดถนอมสายตา เพื่อป้องกันก่อนออกแดด
วันที่ 16 เมษายน 2559 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวถึง รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีในแสงแดดว่า รังสียูวีมีทั้งคุณและโทษต่อสุขภาพ ในเรื่องของคุณนั้น คือ จะช่วยสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนัง ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมเนื้อเยื่อกระดูก ส่วนผลเสีย คือ เป็นอันตรายต่อผิวหนัง เนื่องจากรังสียูวีอาจทำให้ผิวหนังไหม้เกรียม เหี่ยวย่น นอกจากนี้ ยังเป็นอันตรายต่อดวงตา เพราะหากได้รับรังสียูวีโดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอาจส่งผลให้กระจกตาอักเสบ มีอาการแสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง และตาแดงได้ สำหรับผลกระทบระยะยาวที่เป็นอันตรายต่อดวงตา อาทิ โรคต้อเนื้อ ต้อลมหรือต้อกระจก
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันดวงตาให้ปลอดภัยจากรังสียูวี ขอให้ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง อาทิ เกษตรกร ชาวสวน ช่างก่อสร้าง ชาวประมง ผู้ขับขี่รถในช่วงแดดจัด รวมทั้งผู้ที่อาศัยใกล้แม่น้ำ หรือทะเล ซึ่งมีแสงแดดสะท้อนจากผิวน้ำ ควรหลีกเลี่ยงอยู่กลางแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณรังสีจะเข้มข้น และจะเข้มข้นมากที่สุดในช่วงเที่ยงวัน
แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งได้ ก็ขอให้ถนอมสายตาด้วยการสวมหมวกที่มีปีกยื่นออกมาข้างหน้าและแว่นกันแดด โดยเลือกใช้แว่นที่สามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ส่วนคนที่ใส่แว่นสายตาเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นการป้องกันรังสีได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดในทุก ๆ จุดที่ไม่ได้อยู่ใต้เสื้อผ้าอย่างน้อย 15-30 นาทีก่อนออกไปเจอแสงแดด แม้ว่าจะเป็นวันที่มีเมฆมากก็ควรทา และทาทุก ๆ 2 ชั่วโมง ตามคำแนะนำบนฉลาก หรือตามที่ต้องการ โดยเฉพาะหลังจากการว่ายน้ำ หรือเหงื่อออก ควรสวมใส่เสื้อผ้าป้องกัน เป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์ รัฐบาลไทย