x close

รังสี UV เมืองไทยแรงแค่ไหน 8 อันตรายจากแดดจัด ๆ ร้ายกว่าที่คิด !

          อันตรายจากรังสียูวี เมื่อก่อนอาจเดินอาบแดดได้บ้าง แต่สภาพอากาศช่วงนี้บอกเลยว่าถ้าอยากสุขภาพดี ต้องหลีกหนียูวีให้ไกล !
รังสียูวี

          รังสี UV หรือ รังสีอัลตราไวโอเลต จริง ๆ แล้วก็มีทั้งโทษและประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายเรา ทว่ารู้สึกกันไหมคะว่าอากาศช่วงนี้ร้อนมากเป็นพิเศษ แค่สัมผัสแสงแดดแป๊บเดียว ผิวก็แสบแล้ว นั่นแสดงว่า ผิวหนังของเราก็ได้รับรังสียูวีในระดับที่รุนแรงด้วยเช่นกัน ซึ่งดัชนียูวี หรือ UV Index แบ่งความรุนแรงของเป็น 5 ระดับ คือ

รังสียูวี


          - สีเขียว (0-2) Low : ความรุนแรงต่ำ มีผลกระทบน้อยต่อผิวหนัง แต่หากเป็นคนที่ผิวไหม้แดดง่าย สามารถทาครีมกันแดด และสวมแว่นกันแดดได้

          - สีเหลือง (3-5) Moderate : ความรุนแรงปานกลาง เริ่มมีผลต่อผิวหนัง ในช่วงแดดเปรี้ยงควรอยู่ในที่ร่ม หากต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมหมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดด

          - สีส้ม (6-7) High : ความรุนแรงสูง ควรลดเวลาอยู่กลางแจ้งในช่วง 10.00-16.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงแดดจัด หากต้องออกแดด ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมหมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง

          - สีแดง (8-10) Very High : ความรุนแรงสูงมาก สามารถทำให้ผิวไหม้แดดได้รวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ ควรป้องกันตัวเองด้วยการลดเวลาอยู่กลางแจ้งในช่วง 10.00-16.00 น. สวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมหมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากต้องเผชิญกับแสงแดด

          - สีม่วง (มากกว่า 11 ขึ้นไป) Extreme : ความรุนแรงสูงจัด ควรหลีกเลี่ยงการออกแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. เพราะเป็นอันตรายต่อดวงตาและผิวหนังได้ภายในไม่กี่นาที หากต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด ใส่หมวกปีกกว้าง สวมแว่นกันแดดชนิดป้องกันรังสียูวี ทาครีมกันแดด SPF มากกว่า 30 และ PA มากกว่า 3+ และไม่ควรอยู่กลางแจ้งนานเกิน 3 ชั่วโมง

          ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ทวิตเตอร์ @SamitivejClub ของโรงพยาบาลสมิติเวช ระบุด้วยว่า ค่าเฉลี่ย UV Index ของไทยอยู่ที่ 11-12 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสีม่วง ที่มีความรุนแรงสูงจัด

          ดังนั้นก่อนออกจากบ้าน เราสามารถตรวจสอบดัชนียูวี ในจังหวัดต่าง ๆ ได้จากแอปฯ พยากรณ์อากาศ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น

          - weatheronline.co.uk

รังสียูวี

          - ozone.tmd.go.th

รังสียูวี
 
          จะเห็นว่าดัชนียูวีในช่วงฤดูร้อนของหลายพื้นที่ในประเทศไทย สูงถึง 13-14 เลยทีเดียว ดังนั้นทางเราก็อดไม่ได้ที่จะมาบอกต่อดัง ๆ ว่า รังสียูวีอันตรายจริง ๆ นะ อย่างน้อยก็ก่อให้เกิด 8 ปัญหาสุขภาพต่อไปนี้ได้ก็แล้วกัน

1. กระจกตาอักเสบ

          อาการกระจกตาอักเสบพบบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง ตาแดง ซึ่งเป็นอาการตาอักเสบระยะแรก ๆ ก่อนจะลามไปเป็นต้อเนื้อ ต้อลม หรือต้อกระจก หากยังปล่อยให้รังสียูวีทำร้ายดวงตาต่อไปนาน ๆ

รังสียูวี

2. โรคต้อกระจก

          รังสียูวีส่งผลให้เกิดต้อกระจกได้ง่าย และทำให้จอตาเสื่อมสภาพลง โดยทั้งสองกรณีนี้มีการสันนิษฐานว่า แสงยูวีอาจกระตุ้นการสร้างอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนและเกิดปฏิกิริยากับไขมันที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

          และแม้ว่าต้อกระจกจะสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีอายุมากขึ้น ทว่าสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้นนั่นก็คือเจ้ารังสียูวีตัวร้าย และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมนักกีฬาส่วนใหญ่ที่ต้องอยู่กลางแจ้งบ่อย ๆ แม้จะอายุยังไม่มาก ก็มักจะเป็นต้อกระจกได้ ซึ่งต้นเหตุก็เป็นเพราะได้รับแสงยูวีในปริมาณที่มากเกินไปนั่นเองค่ะ

          ทั้งนี้อาการของโรคต้อกระจกก็คือ เลนส์แก้วตาจะเริ่มขุ่นมัวทีละน้อย ๆ แต่หากเป็นมาก ๆ เข้า ความขุ่นมัวจะลุกลามเข้าไปถึงส่วนกลางของกระจกตา ซึ่งจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนปกติ

3. โรคต้อเนื้อ

          ต้อเนื้อเป็นการเสื่อมของเยื่อบุตา กลายเป็นเนื้อสีแดงรูปสามเหลี่ยมยื่นเข้าสู่ตาดำ เกิดจากเยื่อบุตาส่วนนั้นถูกแสงยูวีจากดวงอาทิตย์มากเกินไป โดยหากเป็นต้อเนื้อแล้ว จะรู้สึกเคืองตา แสบตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล และอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่กลางแจ้ง โดนแดดและโดนลม ในผู้ที่เป็นน้อยมักไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งอาจดูเหมือนไม่อันตราย แต่ในบางกรณี หากต้อเนื้อลุกลามไปบดบังตรงกลางของกระจกตา อาจมีผลต่อการมองเห็นได้ค่ะ

4. มะเร็งผิวหนัง

          รังสี UV จะทำลาย DNA (genotoxic) ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ และในแสงแดดเองก็มีสารกระตุ้นเซลล์เนื้อร้ายอย่างมะเร็งอยู่แล้ว ดังนั้นหากปล่อยให้ผิวหนังเจอเข้ากับแสงแดดจัด ๆ โดยตรงเป็นเวลานาน ก็อาจจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้นไปอีก อย่างที่ผลการวิจัยจากเว็บไซต์ Science Learning ที่เผยว่า กว่า 90% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนัง มีสาเหตุมาจากรังสี UV แทบทั้งสิ้น !

รังสียูวี

5. ผิวไหม้แดด

          อยากได้ผิวสีแทนแล้วไปตากแดดตอนนี้อาจได้ผิวไหม้แดดมาแทนก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่รังสียูวีมีความเข้มข้นสูงมากเป็นพิเศษ ซึ่งอาจแผดเผาเซลล์ผิวของเราให้เสียหายได้ง่าย ๆ ยิ่งหากตากแดดนาน ๆ ผิวได้รับรังสียูวีเกินขนาด เส้นเลือดก็จะพยายามไหลเวียนมายังเซลล์ผิวที่ถูกรังสียูวีทำลาย เป็นเหตุให้ผิวของเรามีสีแดงจัดก่อนจะพบว่ากลายเป็นผิวไหม้เกรียมแดดในอีกไม่ช้า และก็แน่นอนว่าย่อมเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนัง ในกรณีที่ปล่อยให้แดดเลียผิวเป็นประจำนะคะ

6. ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว

          นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า รังสียูวีที่ทำให้เกิดอาการผิวไหม้แดดอาจส่งผลกระทบมาถึงการกระจายตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยป้องกันและช่วยต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบมาถึงระบบภูมิคุ้มกันได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังถูกแดดเผา และหากกลับไปให้รังสียูวีทำร้ายซ้ำอีกครั้ง ระบบภูมิคุ้มกันก็จะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ

7. การติดเชื้อ

          อย่างที่บอกว่ารังสียูวีอาจทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันได้ ดังนั้นร่างกายเราจึงสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายดายขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อจากปรสิต

รังสียูวี

8. ทำผิวเหี่ยวย่นก่อนวัย

          ยิ่งโดดแดดผิวยิ่งเหี่ยวไว เนื่องจากรังสียูวีสามารถทำลายคอลลาเจนในเซลล์ผิวและเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนังของเราได้ ทำให้เกิดปัญหาริ้วรอย จุดด่างดำ ความหมองคล้ำ และรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย ซึ่งไม่ได้มีปัญหาแค่เฉพาะผิวหน้านะคะ แต่กับผิวที่โผล่พ้นร่มผ้าอย่างผิวบริเวณคอ แขน ขา ก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน และอย่าลืมคิดไปเผื่อความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังด้วย ดังนั้นทางที่ดีควรทาครีมกันแดดปกป้องผิวไปในเบื้องต้นทุกครั้งก่อนจะออกแดด

          จะบอกว่าโลกหมุนแร็วซะจนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลงไปก็คงไม่ถูกนัก เพราะส่วนสำคัญที่ทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกย่ำแย่ได้ขนาดนี้ก็เป็นเพราะมนุษย์เราด้วย ดังนั้นอย่าลืมอนุรักษ์ทรัพยากรหรืออย่างน้อย ๆ ก็ใช้มันอย่างประหยัด และขอแนะนำให้ระแวดระวังการโดนแดดในช่วงที่รังสียูวีเข้มข้นด้วยนะคะ โดยควรทาครีมกันแดดอย่างน้อย 15 นาที ก่อนออกแดด และสวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกไปกลางแจ้งที่มีแดดจ้า ๆ ด้วย

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 22 เมษายน 2562

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Science Learning
WHO
epa.gov


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รังสี UV เมืองไทยแรงแค่ไหน 8 อันตรายจากแดดจัด ๆ ร้ายกว่าที่คิด ! อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2562 เวลา 14:10:07 21,100 อ่าน
TOP