โรค GBS หรือกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain Barre syndrome) โรคที่ค่อนข้างเฉียบพลันและอันตราย โดยหนึ่งในสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ไม่น่าเชื่อว่าการติดเชื้อไข้หวัดหรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิดก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่ทำให้คนที่มีสุขภาพดีล้มหมอนนอนเสื่อได้ราวฝันร้ายชั่วข้ามคืน ที่สำคัญอาการอาจทรุดลงเรื่อย ๆ จนผู้ป่วยตกอยู่ในสภาวะอัมพาต ขยับตัวไม่ได้ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่ยอมทำงาน !
ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักโรค GBS หรือกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain Barre syndrome) โรคต้นเหตุของอาการที่ว่ามากัน
Guillain Barre syndrome เป็นกลุ่มอาการที่ตั้งชื่อตามแพทย์ชาวฝรั่งเศส 2 คน ที่วินิจฉัยโรคนี้ได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459) จัดเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดกับระบบปลายประสาท โดยมีภาวะอักเสบหรือติดเชื้อเฉียบพลันที่ปลอกหุ้มของเส้นประสาทหลาย ๆ เส้นพร้อมกัน จนก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน และหากอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจตกอยู่ในสภาวะอัมพาต ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายทยอยล้มเหลวไปทีละส่วน และสุดท้ายอาจเสียชีวิตลงในที่สุด
Guillain Barre syndrome เกิดจากอะไรกันแน่
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด GBS ขึ้นก็มาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ คือแทนที่จะทำลายสิ่งแปลกปลอมซึ่งหมายถึงเหล่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ก็กลับมาทำลายปลอกหุ้มประสาทในร่างกายแทน ดังนั้นระบบการทำงานหรืออวัยวะส่วนใดที่เชื่อมโยงกับปลอกหุ้มประสาทที่ถูกทำลาย ก็จะเกิดภาวะสูญเสียการทำงานไปนั่นเอง
ทว่าการที่ภูมิคุ้มกันจะมาทำลายปลอกประสาทของตัวเองได้ ย่อมต้องพบการติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสก่อน ซึ่งจะพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วย GBS มีประวัติติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียไข้หวัดใหญ่มาก่อน โดยมักมีอาการ GBS ปรากฏขึ้นหลังจากติดเชื้อเหล่านั้นประมาณ 3 สัปดาห์
นอกจากนี้โรค Guillain Barre syndrome อาจเกิดจากการได้รับวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคหัด การผ่าตัด ภาวะเครียด และอาจเกิดร่วมกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้บ้าง
Guillain Barre syndrome ใครเสี่ยงบ้าง ?
กลุ่มอาการ GBS สามารถพบได้ในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย แต่พบได้น้อยในเด็กอ่อน โดยอัตราการเกิดโรคอยู่ที่ประมาณ 1-3 รายต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี และอัตราการเกิดโรคพบได้สูงสุดใน 2 ช่วงอายุ ซึ่งได้แก่ กลุ่มคนอายุราว ๆ 15-35 ปี และช่วงอายุระหว่าง 50-75 ปี นอกจากนี้ยังพบการเกิดโรคในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 1.5 เท่า
โรค GBS อาการเป็นอย่างไร
นอกจากอาการของไข้หวัด เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีเสมหะ มีไข้ ท้องเสีย ปวดท้องแล้ว ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยจะมีอาการของโรค Guillain Barre syndrome ควรต้องพิจารณาจากอาการเหล่านี้ด้วย โดยมักจะมีอาการปรากฏในช่วงระยะเวลา 3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อไข้หวัดหรือเชื้อแบคทีเรีย
1. ชาหรือรู้สึกชา โดยเฉพาะอาการชาปลายมือ ปลายเท้า บางครั้งลามมาถึงข้อมือ ทั้งนี้อาการชามักจะเกิดจากปลายเท้าก่อนลามมายังปลายมือทั้งสองข้าง
2. น้ำลายยืด กลืนลำบาก หรือเคี้ยวอาหารไม่ได้
3. รู้สึกปวดกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรง หรืออาจเคลื่อนไหวดวงตา กล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ อย่างกล้ามเนื้อแขนและขาไม่ได้ กลายเป็นอัมพาต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเส้นประสาทกล้ามเนื้อมัดใดอักเสบหรือเสื่อม ก็จะสูญเสียการทำงานในส่วนนั้น ๆ
4. ปวดหลัง
5. ความดันโลหิตต่ำหรือสูงกว่าปกติ
6. ท้องผูกขั้นหนัก ปัสสาวะลำบากหรือไม่ออกเลย เนื่องจากล้ามเนื้อที่ควบคุมไตและกระเพาะปัสสาวะไม่ทำงาน
7. สูญเสียความรู้สึกเจ็บปวด และไม่รับรู้ถึงอุณหภูมิ (Areflexia)
8. อาจเกิดภาวะปอดบวม ปอดติดเชื้อ
9. หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
10. เริ่มหายใจลำบาก ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากเส้นประสาทกล้ามเนื้อซี่โครง หรือกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้หายใจเสื่อม ดังนั้นผู้ป่วยอาจมีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด
การวินิจฉัยโรค GBS
การวินิจฉัยโรค Guillain Barre syndrome แพทย์จะวิเคราะห์จากประวัติอาการป่วยของคนไข้ ร่วมกับการตรวจน้ำไขสันหลัง หากพบโปรตีนสูงแต่เซลล์เม็ดเลือดไม่สูงตาม แพทย์อาจวินิจฉัยต่อด้วยการทดสอบคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อเป็นลำดับถัดไป
Guillain Barre syndrome การรักษาทำได้อย่างไรบ้าง
การรักษาโรค GBS ในเบื้องต้นอาจรักษาโรคหรือการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุเป็นอันดับแรกก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤติโดยเร็วที่สุด ร่วมกับการฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะสำคัญทั้งหมด เช่น ป้องกันไม่ให้เกิดความล้มเหลวทางเดินหายใจ ป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดจากภาวะการนอนเป็นเวลานาน ดูแลการขับถ่าย เป็นต้น
โดยหลังจากการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อส่วนที่สูญเสียการทำงานไป รวมไปถึงฟื้นฟูการพูดจาและการใช้ภาษา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรค GBS ควรได้รับการเยียวยาสภาพจิตใจร่วมด้วย เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ป่วยโรค GBS สมองและการรับรู้ของผู้ป่วยยังคงเป็นปกติดี ดังนั้นอาจมีความกลัว ขวัญเสีย และอาการซึมเศร้าติดมาด้วยได้
การป้องกันตัวเองจากโรค GBS
แม้จะยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงสาเหตุของโรค Guillain Barre syndrome แต่จาก 50% ของผู้ป่วยมักจะมีการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจและเชื้อแบคทีเรียมาก่อน ดังนั้นสิ่งที่เราพอทำได้ก็คือการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ดังนี้
1. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
2. รับประทานอาหารสดใหม่ ยึดถือหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
3. ดื่มน้ำสะอาด หากจะบริโภคน้ำแข็ง ควรเลือกน้ำแข็งที่ได้มาตรฐานในการผลิต
4. พยายามสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในที่ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีโรคทางเดินระบบหายใจ และการติดเชื้อระบาดอยู่
หากสงสัยว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงเป็นโรค GBS อยู่ ก็อย่าเพิ่งตกใจกลัวกันเกินไปนะคะ เพราะโรคนี้หากตรวจพบเนิ่น ๆ ก็รักษาให้หายได้ สำคัญแค่ว่าเราควรสำรวจความผิดปกติของร่างกาย และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไม่สบายเกิดขึ้นให้ทันท่วงทีเท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เภสัชกรอุทัย
GBS CIDP Foundation International
Medscape