4 เรื่องที่เปลี่ยนไปในฉลากโภชนาการแบบใหม่ ไฉไลและเข้าใจง่ายกว่าเดิม !

ฉลากโภชนาการ

         การอ่านฉลากโภชนาการจะเข้าใจง่ายขึ้นและได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม เมื่อ FDA ประกาศเปลี่ยนฉลากโภชนาการใหม่แล้ว

        หลายครั้งที่เราอ่านฉลากอาหาร หรือฉลากโภชนาการของสินค้าแล้วก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดไปเพราะความคลุมเครือที่ซ่อนอยู่ภายใต้ฉลากโภชนาการชิ้นนั้น ๆ ซึ่งก็คงจะดีกว่าหากฉลากโภชนาการจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้ตรงกับสไตล์การบริโภคของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น

        และดูเหมือนว่าทางฝั่ง FDA หรือองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา จะเห็นพ้องต้องกันกับเราค่ะ จากคำบอกเล่าของ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือคุณหมอผิงแห่งเพจ Pleasehealth Books ที่ใจดีบอกต่อข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยมีรายละเอียดดังนี้เลย
ฉลากโภชนาการ 

        เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 FDA หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเปลี่ยน Nutrition Facts หรือฉลากโภชนาการเป็นรูปแบบใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชล โอบามา ซึ่งประกาศว่า

        "ด้วยรูปแบบฉลากโภชนาการใหม่นี้ คุณจะไม่จำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือเครื่องคิดเลขคำนวณ เพื่อตัดสินใจว่าอาหารชิ้นที่กำลังจะซื้อ ดีกับลูกของคุณหรือไม่"

        มาดูกันค่ะว่า มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ในฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่นี้
 
 ฉลากโภชนาการ

1. เพิ่มปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไป หรือ Added sugar

        ด้วยงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า น้ำตาลที่เพิ่มเติมลงไปในอาหารจนมากเกินไปนั้น เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน โรคเบาหวาน และฟันผุ การระบุตัวเลขน้ำตาลส่วนเกินนี้ ก็เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยกว่าได้ง่ายขึ้น

2. ตัดส่วนที่ระบุ Calories from fat หรือปริมาณพลังงานจากไขมันออก    

        เพราะงานวิจัยในระยะหลังพบว่า ไขมันนั้นมีทั้งไขมันที่ดี และไขมันที่ไม่ดี แนวคิดแบบเดิมที่เน้นแต่ลดพลังงานจากไขมัน โดยไม่ดูประเภทไขมัน ดูจะเป็นแนวคิดที่ไม่เหมาะสมอีกต่อไป

3. ปรับปริมาณหน่วยบริโภคให้ตรงกับความเป็นจริงขึ้น

        อย่างเช่น น้ำอัดลม ไม่ว่าจะขวดใหญ่หรือเล็ก คนมักดื่มหมดในครั้งเดียว (มีน้อยคนที่จะดื่มครึ่งขวด แล้วเก็บไว้ดื่มต่อวันหลัง) หน่วยบริโภคจึงปรับให้เท่ากับหนึ่งขวด ตามปริมาณที่คนจะดื่มกันจริง ๆ

ฉลากโภชนาการ

4. เปลี่ยนประเภทของวิตามินและแร่ธาตุด้านล่าง ให้ตรงกับความต้องการของคนในปัจจุบัน

        กล่าวคือ เพิ่มวิตามินดี (ปัจจุบันพบภาวะขาดวิตามินดีมากขึ้น) และเพิ่มแร่ธาตุโพแทสเซียม ซึ่งควรรับประทานให้มากขึ้นในคนปกติ แต่ต้องจำกัดการรับประทานในผู้ป่วยโรคไต

        สรุปแล้ว ฉลากโภชนาการใหม่ของอเมริกานั้น อัพเดทตามองค์ความรู้ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ได้น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากค่ะ เห็นแล้วก็ชื่นชม และอดไม่ได้ที่จะนึกย้อนกลับมาถึงฉลากโภชนาการในบ้านเรา หลายครั้งที่พอจะพลิกอ่าน ก็กลับพบว่าฉลากโภชนาการของอาหารนำเข้า ถูกปิดสติ๊กเกอร์ทับเสียหมด...หมอก็เลยต้องคอยแงะสติ๊กเกอร์ด้วยความอยากรู้อยู่ร่ำไป !

        พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
        Twitter, Instagram: @thidakarn

        ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกานำร่องไปแล้ว เราก็ได้แต่ลุ้นให้ฉลากโภชนาการในบ้านเราเปลี่ยนรูปแบบใหม่บ้างเนอะ

ภาพจาก องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล, เฟซบุ๊ก Pleasehealth Books



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 เรื่องที่เปลี่ยนไปในฉลากโภชนาการแบบใหม่ ไฉไลและเข้าใจง่ายกว่าเดิม ! อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2560 เวลา 14:13:46 9,202 อ่าน
TOP
x close