ปวดเฮดเพราะโอเวอร์โหลด

ปวดหัว



ปวดเฮดเพราะโอเวอร์โหลด (momypedia)
โดย : มารี

         ระวัง...งานโหลดทำสุขภาพย่ำแย่ อาการปวดหัวไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่เราเข้าใจกันเสมอไป แต่มันยังอาจจะเป็นข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติในร่างกายของเราได้ด้วย

         แล้วในชีวิตคนเราปวดหัวกันด้วยเรื่องร้อยแปดเป็นปกติธรรมดา ปวดแป๊บเดี๋ยวเดียวหายก็บ่อย บางทีสาเหตุเล็กน้อยแบบว่าใส่แว่นผิดอันไม่พอดีกับสายตา หรือฟังซาวน์เบาท์นานๆ อ่านหนังสือมาก นอนมาก หรือนอนน้อย นอนไม่หลับ ใส่ที่คาดผมบีบศีรษะเกินไป กินไอศกรีมเย็นๆ ฯลฯ ก็ทำให้ปวดหัวได้เหมือนกัน แต่อย่าเพิ่งมองข้ามว่าปวดหัวไม่เป็นปัญหา อย่างน้อยมันอาจเป็นสัญญาณบอกเราว่า ท่าทางกายและใจของเราจะโอเวอร์โหลดเกินไปแล้วล่ะ

         ในทางการแพทย์อาการปวดหัวเป็นตัวฟ้องความไม่ปกติของร่างกาย หรือส่ออาการโรคภัยไข้เจ็บได้หลายอย่าง ตั้งแต่เป็น ไข้หวัดธรรมดา เป็นไซนัส ภูมิแพ้ เครียด ซึมเศร้า หูอักเสบ ไมเกรน จนถึงเป็นโรคร้ายแรง อาทิเช่น เส้นเลือดในสมองขอดหรือโป่งพอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นเนื้องอกในสมอง
     
          เนื่องจากมีหลายโรคหลายปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการปวดหัว การที่แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้ ก็ต้องอาศัยตรวจสอบประวัติคนไข้อย่างละเอียด เพราะฉะนั้นเราเองที่ไปหาหมอ ควรจะสังเกตตัวเองให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้บอกข้อมูลคุณหมอได้ชัด
    
           ปวดหัวเพราะไข้หวัด มักจะปวดหัวร่วมกับมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม พอไข้ลดก็หายปวด
    
           ปวดหัวไมเกรน อาจจะปวดหัวข้างเดียว (หรือสองข้างก็ได้) แบบปวดตุ๊บๆ ที่ขมับ ท้ายทอย หรือหัวคิ้ว บางครั้งก่อนปวดจะมองเห็นภาพเป็นสีรุ้ง นัยน์ตาพร่า หรือปวดร่วมกับอาเจียน มักจะเกิดครั้งละนานเป็นชั่วโมง แล้วจะดีขึ้นเอง

           ปวดหัวเพราะเครียด ไม่ว่าเราจะเครียดโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ความเครียดจะทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว มักจะปวดหัวทั้งสองข้างเหมือนถูกบีบที่ศีรษะ เมื่อหายเครียดหรือได้พักแล้วก็จะคลายปวด

           ปวดไซนัส จะปวดร้าวจากโพรงจมูกขึ้นไปถึงศีรษะ มักเป็นตอนอากาศเปลี่ยน กระทบอากาศเย็น
    
           ปวดหัวเพราะเส้นเลือดในสมองขอดหรือโป่งพอง มักจะเกิดทันทีทันใดอย่างรุนแรง อาจถึงกับเป็นลมหมดสติ แขนขาไม่มีแรง อาจอาเจียน ชัก

           เนื้องอกในสมอง จะมีอาการปวดหัวเรื้อรัง ปวดมากเวลาตื่นนอนและล้มตัวลงนอน เวลาไอ จาม เบ่งอุจจาระ อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นนานเกิน 1 สัปดาห์ควรพบแพทย์ตรวจดู แต่อย่ากังวลเลยค่ะ เพราะมีโอกาสเป็นน้อยมาก ในแสนคนจะพบคนเป็นโรคนี้ประมาณ 10 คน เท่านั้น

          แล้วก็น่าดีใจที่มีรายงานว่า 90 % ของคนไข้ที่มีอาการปวดศีรษะไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตามหายได้

         งานวิจัยอีกอันบอกว่าคนที่ปวดหัวได้ง่ายหรือบ่อยๆ เป็นเพราะมีระดับเอ็นดอร์ฟินส์ (สารแห่งความสุข) น้อย เพราะฉะนั้นเราควรเติมสารแห่งความสุขใส่ตัวเสมอๆ แต่ไม่ใช่ความสุขที่มีทุกข์ตามมานะคะ เลือกเอาความสุขที่เป็นทางสายกลางอย่างพระพุทธเจ้าว่าไว้ดีกว่า ไม่งั้นจะปวดหมองมากกว่าเดิม

ขอแนะวิธีป้องกันอาการปวดศีรษะแบบง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งยา

           นอนให้พอ แต่ละคนต้องการการนอนไม่เท่ากัน บางคนนอนแค่คืนละ 4-5 ชั่วโมงก็สบายดี บางคนนอนไม่ครบ 8 ชั่วโมง ก็ปวดหัวแฮงก์โอเวอร์ทุกที แบบนี้ก็ต้องนอนให้เต็มอิ่ม แล้วใครที่รู้ตัวว่าเป็นคนอึด "ถึกยังเรียกพี่" ต้องตะลุยงานกองท่วมหัว (ถ้าไม่ทำอาจปวดหัวกว่าอดนอน) อาจงีบเล็กๆ ในช่วงบ่ายเสียหน่อย เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด

           งดกาแฟ เครื่องดื่มกระตุ้นประสาท ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายทำงานมากขึ้น ถ้ารู้สึกว่าง่วง ออกไปเดินเล่นยืดเส้นยืดสายหรือนอนสักงีบ ตื่นขึ้นมาจะกระปรี้กระเปร่า ทำงานได้ดี และร่างกายก็ไม่โอเวอร์โหลด

           ออกกำลังกาย เป็นประจำสม่ำเสมอ แต่อย่าหักโหม ทำให้โลหิตหมุนเวียนได้ดี ไม่เกิดอาการเส้นเลือดอุดตันและโป่งพอง (ข้อนี้พูดง่าย แต่ทำให้สม่ำเสมอยากค่ะ) สำหรับคนที่ปวดหัวเพราะนอนไม่หลับ การออกกำลังกายจะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น

           ผ่อนคลาย ด้วยการหาเวลาให้ตัวเองได้อยู่เงียบๆ สบายๆ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ
    
           โยคะ ทำสมาธิ บางคนไม่รู้ตัวว่าเครียด แต่ถ้าสังเกตว่าตัวเองชอบหงุดหงิดคนรอบข้าง หรือมีแต่เรื่องไม่สบอารมณ์จนปวดหัวบ่อยๆ ลองหัดโยคะหรือนั่งสมาธิ จะบรรลุสัจธรรมว่า ความสุขนั้นอยู่แค่ลมหายใจของเรานี่เอง

         มีคนแนะอีกว่า เซ็กส์ก็น่าจะเป็นยาแก้ปวดหัวได้ดีอีกขนานหนึ่ง แต่ขอเตือนว่า อย่าหวังผล 100 % ล่ะ เดี๋ยวจะกลายเป็นความเครียดปวดหมองเพิ่มขึ้นไม่รู้ด้วย

        นอกจากทางสายกลางที่แนะนำแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาเรื่องปวดหัวนี้ คือ ขอให้พิจารณาที่เหตุ จึงจะหาทางแก้ได้ถูกจุด

กดจุดแก้ปวดหัว

           ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางกดที่ขมับทั้งสองข้าง กดค้างไว้ 10 วินาที
  
           ใช้นิ้วแม่มือกดที่หลังมือระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ กดค้างไว้ 5 วินาทีแล้วปล่อย ทำข้างละ 5-6 ครั้ง
  
           ใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่ด้านหลังตาตุ่ม ค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อย อีก 5 วินาทีกดใหม่ กดข้างละ 5 ครั้ง 





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดเฮดเพราะโอเวอร์โหลด อัปเดตล่าสุด 1 สิงหาคม 2552 เวลา 14:21:03 13,264 อ่าน
TOP
x close