x close

กทม. เตือนระวังโรคมือ เท้า ปาก ระบาดเด็กเล็ก พบป่วยแล้วกว่า 2 พันราย



โรคมือ เท้า ปาก

          กทม. เตือนผู้ปกครองและศูนย์เด็กเล็กหมั่นดูแลสุขอนามัยเด็ก ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ช่วงเปิดเทอม หลังพบ 5 เดือนแรกของปี 2559 มียอดผู้ป่วย 2,493 ราย ชี้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสี่ยงป่วยสูง

          วันที่ 8 มิถุนายน 2559 นางดวงพร ปิณจีเสคิกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือเท้า ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -31 พฤษภาคม 2559 พบยอดผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก สะสม จำนวน 2,493 ราย คิดเป็นอัตราป่วยสะสม 43.80 รายต่อประชากรแสนคน แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก
โดยช่วงอายุที่พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก แบ่งได้ ดังนี้

          - อันดับ 1 ช่วงอายุ 0-4 ปี

          - อันดับ 2 ช่วงอายุ 5-9 ปี

          - อันดับ 3 ช่วงอายุ 10-14 ปี

          และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 กับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว่า มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 1,664 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในปี 2559 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวน 849 คนหรือร้อยละ 51.02

          สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักจะพบการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กโรงเรียนอนุบาลและสถานศึกษาต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเปิดเทอมและเข้าสู่ช่วงฤดูฝนอาจทำให้โรคมือ เท้า ปาก มีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นได้ ดังนั้น จึงอยากขอให้ผู้ปกครองและศูนย์เด็กเล็กร่วมกันการป้องกันการเกิดโรคมือ เท้า ปาก โดยวิธีดังต่อไปนี้

          1. ให้คำแนะนำสุขอนามัยส่วนบุคคลแก่บุตรหลานและผู้ดูแลเด็กโดยเฉพาะหมั่นล้างมือบ่อย ๆ และตัดเล็บให้สั้น รวมทั้งล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการปรุงอาหาร ภายหลังการขับถ่ายหรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายหรืออุจจาระเด็ก​

          2. เน้นการรักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร อาทิ การใช้ช้อนกลางหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำร่วมกัน​

          3. ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดีไม่พาเด็กเล็กไปในที่แออัด

          4. หมั่นสังเกตอาการของโรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก หากพบเด็กที่ป่วยด้วยการมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วัน เริ่มมีอาการเจ็บปากกลืนน้ำลายไม่ได้ และไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้นเหงือกและกระพุ้งแก้มจะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็กที่ฝ่ามือนิ้วมือฝ่าเท้า ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสบริเวณรอบ ๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ ต้องรีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กคนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ

          นอกจากนี้ ยังควรต้องหมั่นทำความสะอาดสถานที่ รวมทั้งวัตถุในบ้านโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะสิ่งที่เด็กมักจะสัมผัสบ่อย ๆ อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได ภาชนะใส่น้ำ และเครื่องเล่นของเด็ก เป็นต้น

          สำหรับการทำความสะอาดเครื่องเล่นของเด็กนั้น อาจใช้ช้ผงซักฟอกหรือสบู่ทำความสะอาดก่อนแล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น คลอรอกซ์ไฮเตอร์ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างเช็ดและแช่ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างส่วนการทำความสะอาดของเล่นเด็ก ส่วนของเล่นเด็กหรือเครื่องใช้ที่เด็กอาจนำเข้าปากได้นั้น ใช้สบู่หรือผงซักฟอกทำความสะอาด และนำไปผึ่งแดดให้แห้ง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กทม. เตือนระวังโรคมือ เท้า ปาก ระบาดเด็กเล็ก พบป่วยแล้วกว่า 2 พันราย อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2559 เวลา 10:23:30 10,005 อ่าน
TOP