Cyberbullying การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ทำร้ายชาวเน็ตได้ง่ายกว่าที่คิด !

          ภัยร้ายใกล้ตัวอย่าง Cyberbullying อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และสมัยนี้ก็เริ่มมีการระบาดของ Cyberbullying มากขึ้น ดังนั้นก่อนจะตกเป็นเหยื่อที่ถูกรังแกผ่านโลกโซเชียล เรามาทำความรู้จัก Cyberbullying กันหน่อย
Cyberbullying
   
          โลกออนไลน์เข้าถึงได้ง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะ โดยเฉพาะเมื่อมีโซเชียลมีเดียซึ่งใคร ๆ ก็เข้าถึงได้แม้ไม่มีคอมพิวเตอร์ แค่เพียงสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์เพื่อกดเปิดแอปพลิเคชันก็สามารถย่อทุกความไกลห่างให้เชื่อมต่อกันได้ภายในเสี้ยววินาที แต่เทคโนโลยีแบบนี้ก็เหมือนดาบสองคม ที่มีช่องโหว่ให้เกิด Cyberbullying (ไซเบอร์บูลลีอิ้ง) หรือการรังแกผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งอาจทำผู้ที่ถูกรังแกเสียสุขภาพจิตและอาจยกระดับเป็นโรคซึมเศร้าได้
   

          ฉะนั้นคงดีกว่าหากเราจะมาทำความเข้าใจว่า Cyberbullying คืออะไร และมีหนทางที่เราจะป้องกันการรังแกบนโลกออนไลน์ไม่ให้กระทบกับจิตใจบุตรหลานหรือตัวเราเองได้ยังไงบ้าง

Cyberbullying คืออะไร ?

Cyberbullying

          Cyberbullying คือ การใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่คนอื่น ๆ สามารถเห็นได้ มีการแชร์ต่อ หรือมีการพูดถึงประเด็นนั้น ๆ ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แชต หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือหลักในการรังแกและกลั่นแกล้งกัน ยกตัวอย่างเช่น การโพสต์ แชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จของบุคคลอื่น ซึ่งมักจะเป็นข้อความหรือเนื้อหาในทางให้ร้าย กระทำการอันใดที่ส่งผลให้เกิดความอับอายต่อผู้อื่น และบางทีก็อาจเป็นการกระทำที่เลยเถิดถึงขั้นผิดต่อกฎหมาย จริยธรรม รวมไปถึงเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นด้วย
   
Cyberbullying

Cyberbullying เป็นการกลั่นแกล้งกันแบบไหน ?

          การกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ สามารถแตกประเด็นออกไปได้ 6 รูปแบบ ดังนี้

1. ทำให้อับอาย สร้างความเสียหายต่อผู้ถูกกระทำ

          โดยส่วนมากจะเป็นการแกล้งที่มีจุดประสงค์สร้างความอับอายและความเสียหายต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ด่าทอ พูดจาส่อเสียด ให้ร้าย ผ่านช่องทางการสนทนา หรือโพสต์อย่างโจ่งแจ้งที่หน้าโซเชียลมีเดียของผู้ถูกกระทำ เช่น แชตเฟซบุ๊กหรือไลน์มาต่อว่า ใช้ถ้อยคำในทางลบ โดยมีจุดประสงค์จะกุข่าวโคมลอย เรื่องที่ไม่เป็นความจริงให้เกิดกระแสพูดต่อ ๆ กันไป

2. แฉด้วยคลิป

          โดยเป็นคลิปอนาจาร หรือคลิปที่เหยื่อถูกรุมทำร้าย รุมแกล้ง แล้วนำคลิปไปโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดคอมเมนต์เสีย ๆ หาย ๆ ต่อเหยื่อ

3. การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น

          โดยเฉพาะกรณีเปิดเผยรหัสผ่านของโซเชียลให้ผู้อื่นรู้ ยกตัวอย่างเช่น ให้เพื่อนสมัครเฟซบุ๊กหรือไลน์ให้ เคสนี้ก็อาจโดนรังแกด้วยการถูกสวมรอยใช้เฟซบุ๊กของตัวเองโพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปโป๊ คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ

Cyberbullying

4. การแบล็กเมล์กัน

          โดยนำความลับหรือภาพลับของเพื่อนมาเปิดเผยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง หรือการใส่ร้ายป้ายสี เช่น ตัดต่อรูปภาพน่าเกลียด ๆ หรือการแอบถ่ายภาพหลุดที่น่าขำมาโพสต์ประจาน และแสดงความคิดเห็นอย่างสนุกสนานเกินเลย บางครั้งก็ยังเป็นการคุกคามทางเพศ ถ่ายภาพโป๊เปลือย

5. การหลอกลวง

          มีทั้งการหลอกลวงให้หลงเชื่อ ให้ออกมานัดเจอเพื่อทำมิดีมิร้าย หรือการหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ด้วยวิธีการต่าง ๆ

6. การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ

          อย่างที่เราเห็นคนตั้งเพจแอนตี้ โจมตีบุคคลหนึ่งขึ้นมา มีการจับผิดทุกอิริยาบถ แล้วนำมาถกประเด็นให้เกิดความเสียหายต่อคนที่ตัวเองไม่ชอบ หรืออาจมีการโน้มน้าวให้คนอื่นรู้สึกรังเกียจ และกีดกันให้ออกจากกลุ่ม จากสังคมที่อยู่ บางครั้งเลยเถิดถึงขนาดไล่ให้เขาไปตาย หรือยุให้ฆ่าตัวตาย

          ทั้งนี้การกระทำที่เข้าข่าย Cyberbullying จะเกิดจากเจตนาที่มุ่งร้ายให้อับอาย เจ็บใจ และเสียใจ ดังนั้นการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์จึงมักจะเป็นการกระทำซ้ำ ๆ ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวแล้วเลิก และในเมื่อเป็นสื่อสังคมออนไลน์ การกลั่นแกล้งในรูปแบบนี้จึงทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากันจะจะถึงจะกลั่นแกล้งได้

Cyberbullying
 
Cyberbullying สาเหตุคืออะไร

          สาเหตุของการเกิด Cyberbullying มีทั้งเริ่มจากความขัดแย้งเล็ก ๆ ความหมั่นไส้กัน หรือมีกรณีพิพาทเรื่องชู้สาว อันเป็นชนวนของการรังแกกันต่อในโลกออนไลน์ เนื่องจากพื้นที่บนโลกออนไลน์ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ด้วยเหตุนี้จึงมีความกล้าที่จะรังแกกันมากขึ้น

          นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า โซเชียลคือพื้นที่ระบายความรู้สึก ถ้อยคำที่ใช้โพสต์ หรือพฤติกรรมในการกลั่นแกล้งกันจึงออกแนวรุนแรง แสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเทคโนโลยียังเอื้อให้การทำร้ายกันผ่านโซเชียลเป็นเรื่องง่าย แค่พิมพ์ข้อความไป ไม่ต้องเสียกำลังอะไรก็โพสต์เสียดสีหรือสร้างความเสียหายให้อีกฝ่ายได้แล้ว

Cyberbullying ใครเสี่ยงบ้าง
   
          ในสังคมทุกวันนี้ Cyberbullying เป็นการกลั่นแกล้งรังแกกันที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย ไม่ว่าจะวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน และคนมีชื่อเสียง เรียกได้ว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดียก็เสี่ยงต่อการ Cyberbullying ได้ทุกคนเลยทีเดียว

          แต่ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเผยว่า จากการสำรวจความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 (ภายใน 14 ประเทศทั่วโลก) พบว่า เด็กไทยเกือบ 80% มีประสบการณ์ Cyberbullying ในชีวิตจริง โดย 66% ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และอีก 12% ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทย 45% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งเป็นสถิติที่มากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า !

          อย่างไรก็ตาม แม้สื่อสังคมออนไลน์จะระบุอายุของผู้ใช้งานไว้ที่ 13 ปี เหมาะสมตามที่ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ทว่าก็มีเด็กอายุต่ำกว่ากำหนดจำนวนไม่น้อยที่โกงอายุตัวเองเพียงเพื่อให้สมัครเข้าใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้ ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปียังไม่สมควรใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ เพราะเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลอันตราย อีกทั้งเด็กยังไม่อยู่ในวัยที่จะมีทักษะควบคุมหรือป้องกันตัวเองจากการกลั่นแกล้งเหล่านี้ได้ และอาจตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying ในที่สุด

Cyberbullying
 
จะสังเกตอาการ Cyberbullying ได้อย่างไร
   
          ในบางครั้งเหยื่อของการ Cyberbullying อาจไม่กล้าระบายความทุกข์ใจกับใคร ไม่กล้าเล่าสิ่งที่เจอมาให้ใครฟัง ดังนั้นหากเราสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ควรใส่ใจเขาให้มากขึ้นนะคะ เพราะะเขาอาจตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying อยู่ก็ได้

          - มีอาการซึมเศร้า เครียด หรือมีความวิตกกังวล

          - ชอบเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจา วัน ๆ เล่นแต่มือถือหรือแท็บเล็ต

          - ทำตัวห่างเหินจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนที่โรงเรียน ที่ทำงาน

          - อาจมีอาการทางกายแสดงให้เห็น เช่น การกินการนอนผิดปกติ ปวดท้อง ปวดศีรษะ
      
          - เมื่อเจอคนพูดถึงเรื่องที่น่าอับอาย หรือสอบถามถึงสาเหตุของการไม่ออกจากบ้าน ไม่ไปทำงาน ไม่ไปเรียน เขาอาจมีอาการกรี๊ด ร้องไห้อย่างหนัก หรือสติหลุดเนื่องจากความกดดันให้เห็น

          - ถ้าเป็นเด็กอาจมีอาการไม่อยากไปโรงเรียน หรือแอบหนีเรียนบ่อย ๆ หรืออาจต้องออกจากโรงเรียน

          - ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการเรียนตกต่ำอย่างไม่ทราบสาเหตุ

          - บางคนอาจใช้สารเสพติด

          - หากเป็นมาก ๆ อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย

          ทั้งนี้ หากเป็นการกลั่นแกล้งในวัยเด็ก เด็กที่ถูกรังแกมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต ขณะที่เด็กที่ชอบรังแกผู้อื่น จะมีความเสี่ยงใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเมื่อเป็นวัยรุ่น รวมทั้งชอบทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายคู่สมรสและบุตรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้

Cyberbullying

ผลกระทบจาก Cyberbullying มีอะไรบ้าง

          ผลกระทบจาก Cyberbullying ที่มีต่อเด็ก ๆ อาจมีตั้งแต่สร้างความรำคาญ ความเดือดเนื้อร้อนใจ บางคนรู้สึกเบื่อชีวิต ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากพบเจอใคร โดยมีเรื่องที่ถูกรังแกตามมาหลอกหลอนเป็นระยะ หรือบางรายอาจมีความเครียดอย่างหนัก ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และอาจร้ายแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นผลให้รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย

          ส่วนคนที่เป็นฝ่ายรังแก อาจมีความรู้สึกไม่สบายใจหรือเกิดความรู้สึกผิดกัดกินใจในภายหลังได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบจาก Cyberbullying ไม่ว่าจะต่อผู้รังแกหรือผู้ถูกรังแกนั้นจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละบุคคล รวมไปถึงทักษะการรับมือของแต่ละคนด้วย

Cyberbullying

รับมืออย่างไรดีกับ Cyberbullying 

           ในกรณีที่เจอ Cyberbullying กับตัวเรา วิธีรับมือกับการกลั่นแกล้งทำนองนี้ก็ตามนี้เลยค่ะ

* อย่าตอบสนอง

          ยิ่งเรามีปฏิกิริยาตอบโต้ก็จะยิ่งสมดั่งใจที่เขาต้องการ ดังนั้นนิ่งไว้จะดีกว่า ให้เขาดิ้นของเขาไปฝ่ายเดียว

* อย่าตอบโต้

          การตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงพอ ๆ กัน หรือวิธีการคล้าย ๆ กัน อาจทำให้เรื่องราวยิ่งบานปลายมากขึ้นได้ ดังนั้นเราควรเป็นคนปิดวงจร Cyberbullying ด้วยการนิ่งเฉยจะดีกว่า

* เก็บหลักฐานให้มากที่สุด

          เดี๋ยวนี้มีกฎหมายคุ้มครองการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นหากมีใครมากระทำการอันส่อไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่เป็นความจริง และสร้างความเสียหายให้กับเราผ่านโลกโซเชียล นั่นจะเป็นหลักฐานที่ดีที่จะเอาผิดกับผู้กระทำได้

* บล็อกไปเลย

          ถ้ายังราวีไม่หยุดเรามีสิทธิ์ที่จะบล็อกคนนั้นออกจากวงจรโซเชียลมีเดียของเรา ปิดช่องทางไม่ให้เขามาวอแวกับเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์เราได้ และการไม่รับรู้ ไม่ตอบโต้ ไม่เดือดร้อนใด ๆ ของเราก็จะทำให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกไม่สนุกและเบื่อไปเอง

* ขอความช่วยเหลือ

          ถ้าถูกกลั่นแกล้งหนักจนเกินรับมือไหว เราควรบอกกล่าวปัญหาที่เจอกับคนใกล้ตัว หรือคนที่มีอำนาจมากพอจะหยุดวงจร Cyberbullying ได้ เช่น หากเป็นวัยเรียน อาจแจ้งผู้ปกครองและครูประจำชั้นให้รับรู้ เป็นต้น แต่ในกรณีผู้ใหญ่ อย่าลืมว่าตำรวจช่วยคุณได้ อย่างน้อยการลงบันทึกประจำวันไว้กับสถานีตำรวจก็อาจทำให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกเกรงกลัวกฎหมายขึ้นมาบ้าง

* ใช้เครื่องมือในสื่อออนไลน์ช่วยจัดการ

          สื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทางมีตัวเลือกให้เรากดแจ้งให้ผู้บริการสื่อออนไลน์ระงับโพสต์หรือแบนโพสต์ที่ไม่เหมาะสมได้นะคะ ดังนั้นเราก็สามารถใช้วิธีนี้จัดการกับคนที่มากลั่นแกล้งเราได้เช่นกัน

* ไม่ทำร้ายหรือแกล้งใคร

          พยายามอย่าทำตัวเป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้ในรูปแบบเดียวกัน ฉะนั้นหากเราไม่อยากถูก Cyberbullying ก็อย่าไปทำ Cyberbullying กับใคร แม้แต่การโพสต์บ่นหรือว่าร้ายใครในสังคมออนไลน์ก็ไม่ควรทำ

Cyberbullying

วิธีป้องกัน Cyberbullying ในเด็ก

          สำหรับการดูแลบุตรหลานไม่ให้เสี่ยง Cyberbullying ผู้ปกครองสามารถทำได้ ดังนี้

          1. สอนลูก ๆ ว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ใครมาขอเป็นเพื่อนต้องตรวจสอบให้ดี หากไม่รู้จักก็ไม่ควรตอบรับคำขอเป็นเพื่อนนั้น

          2. คอยสอดส่องว่าลูกจะไปไหน กับใคร หรือเพื่อนที่ลูกคุยด้วย แชตด้วยเป็นใคร

          3. สอนลูกให้เก็บข้อมูลส่วนตัวของตัวเองให้ดี โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้าและคนที่ไม่สนิทสนม ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวอย่างชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลส่วนตัว ควรแนะนำวิธีตั้งค่าความปลอดภัยในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ที่สำคัญควรย้ำกับลูกว่าไม่ควรนัดเจอกันส่วนตัวกับเพื่อนในโลกออนไลน์โดยเด็ดขาด

          4. ควรกำหนดข้อตกลงกันก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกใช้เครื่องมือสื่อสารและโซเชียลมีเดีย เพื่อให้พ่อแม่สามารถตรวจสอบได้ว่าลูกใช้โซเชียลมีเดียยังไง คุยกับใครบ้าง หรือมีความผิดปกติอะไรในนั้นหรือไม่

          5. พ่อแม่ควรสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับลูก เพื่อให้ลูกไว้วางใจมากพอจะบอกเล่าทุกเรื่องราวในชีวิตเขาได้ เมื่อมีปัญหาอะไรลูกจะได้กล้าขอคำปรึกษากับเรา

          อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเด็กที่ถูกรังแกผ่านโลกออนไลน์ก็ควรต้องมีสติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ด้วย และอย่าลืมว่าเราสามารถลบข้อความที่สร้างความเสียหายกับเราได้ ทั้งยังสามารถบล็อก หรือ Report คนที่กลั่นแกล้งเราได้ หรือพาตัวเองออกจากสังคมออนไลน์ไปสักระยะ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying ต่อไป

          ทั้งนี้ผู้ปกครองก็ควรสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากเขามีอาการหงุดหงิดหรือพฤติกรรมแปลกไปหลังเล่นโซเชียลมีเดีย อาจต้องเข้าไปพูดคุยและถามไถ่ถึงสาเหตุเหล่านั้น เป็นการช่วยแชร์ความรู้สึกแย่ ๆ จากสิ่งที่เขาเผชิญอีกทาง รวมทั้งพยายามพาเขาออกห่างจากโลกออนไลน์บ้าง เพื่อลดความเครียดนะคะ

วิธีป้องกัน Cyberbullying ในคนทั่วไป

          1. ไม่สื่อสารเรื่องราวที่สร้างความเกลียดชัง เพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรง

          2. ไม่ส่งต่อข้อความหรือเรื่องราวที่สร้างความเกลียดชัง

          3. ตักเตือนเมื่อเห็นการกลั่นแกล้งกันทางโซเชียลมีเดีย โดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพและแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย

Cyberbullying

Cyberbullying ผิดกฎหมายข้อไหน มีบทลงโทษอย่างไรบ้าง

          แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการทำผิดในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์โดยตรง แต่ก็พอมีกฎหมายบางข้อที่นำมาปรับใช้กับเคสนี้ได้ แม้จะไม่ครอบคลุมทั้งหมด เช่น

* ประมวลกฎหมายอาญา

          - มาตรา 326 การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม และทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
          - มาตรา 328 ถ้าเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ไม่ว่าจะใช้ภาพ หรือตัวอักษร หรือบันทึกเสียง หรือบันทึกภาพ หรือป่าวประกาศด้วยวิธีใด ๆ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท 

          อย่างไรก็ตาม สำหรับกฎหมายหมิ่นประมาทนี้ ยังมีข้อจำกัดตรงที่การตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้อยคำที่ใช้กลั่นแกล้งล้อเลียนกันนั้น สามารถเป็นจริงได้หรือไม่ หากล้อเลียนกันด้วยข้อความที่เป็นไปไม่ได้ หรือถ้อยคำที่ใช้ไม่ถึงขนาดทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก็จะไม่เป็นความผิด

          - มาตรา 392  ผู้ที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว ตกใจ โดยการขู่เข็ญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          - มาตรา 397 หากรังแก ข่มเหง คุกคามผู้อื่น หรือทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

* พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

          มาตรา 14 กรณีโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมแปลงไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งคนอื่นสามารถเข้าไปดูข้อมูลนั้นได้ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย รวมทั้งข้อมูลลามกต่าง ๆ ทั้งผู้โพสต์และผู้เผยแพร่ส่งต่อ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          การเล่นโซเชียลมีเดียสมัยนี้เหมือนเป็นดาบสองคม ซึ่งอยากแนะนำให้เล่นกันอย่างมีสติ ที่สำคัญหากเราพบเห็นการ Cyberbullying ก็อย่าดู อย่าแชร์ต่อ อย่าคอมเมนต์ อย่าไปยุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะทางใด เพราะการแสดงแอ็คชั่นในรูปแบบไหนก็อาจเป็นการส่งเสริมให้ผู้กระทำเกิดความรู้สึกชอบใจ และคิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องเหมาะสม
         
          รวมไปถึงผู้ปกครองควรดูแลการเล่นโซเชียลมีเดียของลูกหลานให้ดีด้วยนะคะ และหากคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเศร้า ซึม หรือเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี เราควรใส่ใจเขาให้มากขึ้น และหมั่นสังเกตพฤติกรรมการเล่นโซเชียลของเขาด้วย

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุด วันที่ 24 ตุลาคม 2561

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Cyberbullying การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ทำร้ายชาวเน็ตได้ง่ายกว่าที่คิด ! อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2561 เวลา 14:11:21 119,199 อ่าน
TOP
x close