x close

จี้ถอนตำรับยาอมแก้เจ็บคอต้านแบคทีเรียพ้นจากไทย-พบผู้ป่วยดื้อยาดับปีละหมื่น

จี้ถอนตำรับยาอมแก้เจ็บคอต้านแบคทีเรียพ้นจากไทย

            นักวิชาการรวบรวมบัญชียายอดแย่ ทั้งยาอมนีโอมัยซิน ยาแก้ท้องเสียต้านแบคทีเรีย ทำคนติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปีละกว่า 8 หมื่นคน ตายเกือบครึ่ง เตรียมชงสาธารณสุขถอนทะเบียนตำรับยาออกจากไทย

            เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว "เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย" ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
            โดย ผศ. ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยใช้ยาต้านแบคทีเรียไม่เหมาะสมหรือเกินความจำเป็น จึงติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปีละประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท

            ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับความเสี่ยงทางสุขภาพ นักวิชาการ แพทย์ เภสัชกร เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายเด็ก จึงได้รวบรวมบัญชียายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านแบคทีเรีย เพื่อให้คัดเลือกรายการที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทย และเตรียมยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ อย. ถอนบัญชียาเหลานี้ออกจากประเทศ

ตำรับยา

            สำหรับบัญชียายอดแย่นั้น มีทั้งยาอมแก้เจ็บคอ ที่ไม่ควรมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะอาการเจ็บคอกว่า 80% ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากนำมาใช้จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในลำไส้ เช่นเดียวกับยาแก้ท้องเสียที่ 80% เกิดจากเชื้อไวรัส รวมถึงอันตรายจากสูตรผสมของยาต้านแบคทีเรียในยาประเภทต่าง ๆ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อยาทั้งหมดได้ที่ thaidrugwatch.org หรือ  thaihealth.or.th

            ด้าน ผศ. นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) กล่าวว่า ตัวอย่างยาที่สมควรดำเนินการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาก่อนเป็นอันดับแรก คือ ยาอมที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะสูตรยาที่มีนีโอมัยซิน (Neomycin) เพราะยาปฏิชีวนะนีโอมัยซินไม่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ แต่ออกฤทธิ์ได้ต่อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เมื่อกลืนยาลงไปจะชักนำให้เกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีชื่อว่าอะมิโนกลัยโคไซด์ (Aminoglycoside) ทั้งกลุ่ม ซึ่งยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้ช่วยชีวิตคนที่ติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด 

ตำรับยา

            ขณะที่ ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะทำงานด้านยาปฏิชีวนะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปีละ 45,000 คน และพบผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลจำนวนมากขึ้น ทำให้ต้องรักษาด้วยวิธีการยุ่งยากและรักษาด้วยยาที่แพงกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจำนวนมากนั้นเป็นเพราะใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็นและใช้อย่างไม่ถูกต้อง เพราะสามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้ทั่วไป

ตำรับยา

ภาพจาก thaihealth.or.th
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก thaihealth.or.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จี้ถอนตำรับยาอมแก้เจ็บคอต้านแบคทีเรียพ้นจากไทย-พบผู้ป่วยดื้อยาดับปีละหมื่น อัปเดตล่าสุด 24 มิถุนายน 2559 เวลา 16:09:39 16,798 อ่าน
TOP