ฝันว่าตกจากที่สูงแล้วสะดุ้งตื่น อาการนอนกระตุกแบบนี้อันตรายไหม ?

          อาการนอนกระตุก Hypnic Jerks ความรู้สึกเหมือนฝันว่าตกจากที่สูง แท้จริงแล้วเกิดจากอะไร และอันตรายต่อสุขภาพไหม บอกเลยต้องรู้ไว้ จะได้นอนหลับสบายตลอดคืน
อาการนอนกระตุก

          เชื่อว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์ฝันว่าตัวเองตกจากที่สูง และความรู้สึกนั้นเหมือนจริงจนทำให้สะดุ้งตกใจตื่น แต่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็พบว่าตัวเองนอนหลับอยู่ที่เดิม โดยคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่านั่นเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่จริง ๆ แล้วอาการนี้อาจเกิดขึ้นจากภาวะที่เรียกว่า การนอนกระตุก (Hypnic Jerks) ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทว่าอาการนี้เป็นอย่างไร แล้วอาการนอนกระตุกนี้จะมีผลเสียถึงภาวะการนอนหลับหรือไม่ แล้วจะมีวิธีป้องกันอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาให้ค่ะ

          Hypnic Jerks คือ อาการนอนกระตุก เป็นอาการกระตุกของกล้ามเนื้อขณะที่อยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น จนทำให้รู้สึกว่ากำลังฝันอยู่ ซึ่งในความฝันนั้นจะเหมือนตัวเองตกจากที่สูง หรือบางครั้งอาจรู้สึกเหมือนตัวเองถูกกระชาก โดยอาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ เพียงแต่จะรบกวนการนอนหลับ ทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึกและอาจเป็นสาเหตุของการพักผ่อนไม่เพียงพอได้ ทั้งนี้อาการนอนกระตุกก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอาการสะอึกด้วยค่ะ

อาการนอนกระตุก

อาการนอนกระตุกเกิดจากอะไร

          มีนักวิจัยทางด้านการนอนหลับจำนวนไม่น้อยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับอาการนอนกระตุก และแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าอาการนอนกระตุกเกิดจากอะไรกันแน่ แต่กลุ่มนักวิจัยก็มีความพยายามจะสันนิษฐานสาเหตุของอาการนอนกระตุกไว้หลาย ๆ แนวทาง ดังนี้

1. การสื่อสารที่ผิดพลาดของระบบประสาท

          Dr.Michael Breus ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและเจ้าของผลงานเขียน The Power of When ได้สันนิษฐานว่า อาการนอนกระตุกนั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารที่ผิดพลาดของสมอง โดยในขณะที่เราล้มตัวลงนอนหลับบนเตียง กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ จะอยู่ในภาวะผ่อนคลาย ซึ่งภาวะที่กล้ามเนื้อเกิดการผ่อนคลายก็เป็นสัญญาณที่ร่างกายบ่งบอกว่าเรากำลังตกจากที่ใดที่หนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน จึงทำให้สมองเข้าใจว่าคุณกำลังตกจากที่สูง จนทำให้คุณเกิดภาวะกล้ามเนื้อกระตุกนั่นเอง

2. เกิดจากพลังงานในร่างกายที่หลงเหลือมาจากตอนกลางวัน

          ข้อสันนิษฐานนี้เป็นของ Tom Stafford นักจิตวิทยาจากประเทศอังกฤษที่คาดการณ์ว่า การนอนกระตุกนั้นเกิดจากภาวะที่ร่างกายเข้าสู่สภาวะผีอำ (Sleep paralysis) กล่าวคืออาการที่เกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับแบบตากระตุก ซึ่งเป็นช่วงที่สมองยังคงทำงานอยู่ ทว่าไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ แต่หากร่างกายเรายังคงมีพลังงานชุดสุดท้ายจากตอนกลางวันหลงเหลืออยู่ ร่างกายก็จะปลดปล่อยพลังงานนี้ออกมาในลักษณะสุ่ม จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกายที่แตกต่างกัน เช่น อาการเหมือนตกจากที่สูง หรือเหมือนถูกกระชาก เป็นต้น

          ทั้งนี้นอกจากสาเหตุเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังพบอีกว่าอาการนอนกระตุกนั้นมีความเกี่ยวข้องกับอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้น การหายใจถี่ เหงื่อออก และในบางครั้งก็อาจมีความรู้สึกช็อกและความรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังตกลงไปในความว่างเปล่าในขณะที่มีอาการนอนกระตุกด้วย

อาการนอนกระตุก

อาการนอนกระตุก เกิดขึ้นกับใครบ้าง

          อาการนอนกระตุก เป็นอาการที่เกิดได้กับทุกคน แต่ก็มีจะมีคนบางกลุ่มที่อาจเกิดอาการได้บ่อยกว่า โดยการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Sleep Medicine ได้เปิดเผยว่า อาการนอนกระตุกนั้นมักจะเกิดกับคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์มากกว่า แต่จะไม่เกิดขึ้นได้บ่อยนัก โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการในกลุ่มคนมีสุขภาพดีนั้นก็มีผลมาจากการถูกกระตุ้นโดยปัจจัยต่าง ๆ อาทิ อาการอ่อนเพลีย, ความเครียด, การพักผ่อนไม่เพียงพอ, การออกกำลังกายอย่างหนัก หรือสารกระตุ้นจำพวก คาเฟอีน และนิโคติน ได้อีกด้วย

อาการนอนกระตุก ต้องไปหาหมอหรือไม่ ?

          อาการนอนกระตุกเป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และไม่เป็นอันตราย ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์แต่อย่างใด ทว่าถ้าหากคุณเกิดอาการนอนกระตุกบ่อยครั้งจนผิดปกติและทำให้คุณกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ หรือเกิดความวิตกกังวลอย่างหนัก ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์ เพราะนั่นอาจแปลว่าคุณมีภาวะการนอนหลับที่ผิดปกติ ซึ่งควรรักษาก่อนจะส่งผลเสียไปมากกว่านี้ค่ะ

อาการนอนกระตุก

นอนกระตุก วิธีแก้ควรทำยังไง ?

          เราสามารถควบคุมอาการนอนกระตุกได้โดยการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ อาทิ หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟในช่วงบ่าย ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสมาธิหรืออ่านหนังสือก่อนนอน งดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหมั่นเข้านอนให้ตรงเวลาเพื่อการนอนหลับที่เพียงพอค่ะ

          พอจะเบาใจกันไปได้มากเลยใช่ไหมล่ะคะ กับอาการนอนกระตุก หรือความรู้สึกเหมือนตกจากที่สูงในขณะนอนหลับ จากนี้ไปหากต้องสะดุ้งตื่นกลางดึกด้วยอาการนี้ก็ไม่ต้องกังวลจนนอนไม่หลับ แค่เพียงหายใจเข้าลึก ๆ ให้รู้สึกผ่อนคลาย แล้วกลับไปนอนต่อ เท่านี้ทุกอย่างก็เรียบร้อย และถ้าจะให้ดี หากรู้สึกว่าช่วงไหนที่เกิดอาการบ่อยก็ควรกลับมานั่งสำรวจว่าในช่วงนั้นรู้สึกเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือออกกำลังกายหักโหมมากไปหรือเปล่า แล้วแก้ปัญหาเหล่านั้น จะได้นอนหลับสบายไม่ต้องมีอาการผวาจนต้องตื่นกลางดึกอีกต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
sciencedirect
prevention
businessinsider
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝันว่าตกจากที่สูงแล้วสะดุ้งตื่น อาการนอนกระตุกแบบนี้อันตรายไหม ? อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16:35:14 150,247 อ่าน
TOP
x close